'บอร์ดอีอีซี'ลุยสร้างรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือหลัก

'บอร์ดอีอีซี'ลุยสร้างรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือหลัก

"บอร์ดอีอีซี" เดินหน้าสร้างรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือหลัก พร้อมสั่ง "รฟท.-สนข." ศึกษาแผน 1 เดือน เตรียมต้อนรับนักลงทุนจีน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) รับทราบแผนการต้อนรับนักลงทุนจีน ฮ่องกง กว่า 60 ราย นำโดยสภาการค้าแห่งฮ่องกง หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะเยือนฮ่องกงและจีนสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่านักลงทุนจีน ฮ่องกง ต่างสนใจลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ของไทย ทั้งด้านการบิน ท่าเรือ และโครงการกำจัดขยะ รัฐบาลจึงจัดงานเสวนาชี้แจงแผนการลงทุนวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคมนี้ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ถนนวิทยุ เพื่อชี้แจงแผนการลงทุนด้านต่าง ๆ และจัดเวทีหารือแยกเป็นรายกลุ่ม รวมทั้งการลงทุนระหว่างสำนักงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกับสภาการค้าแห่งฮ่องกง (SKTDC) เพื่อแสดงเจตจำนงค์การลงทุนกับไทยและความร่วมมือด้านต่าง ๆ จากนั้นจะนำคณะนักลงทุนจีนเข้าพบนายกรัฐมนตรีในช่วงเย็น

นอกจากนี้ ที่ประชุม กรศ.ยังเห็นชอบแผนการสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือหลัก 3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด โดยมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การท่าเรือสัตหีบ ไปจัดทำแผนแม่บทโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยง 3 ท่าเรือหลักและการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย EEC โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 16 มิถุนายนพิจารณา รวมทั้งให้ รฟท.และ กทท.ร่วมกันศึกษาออกแบบปรับปรุงสถานีขนส่งสินค้าทางรถไฟที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเน้นการใช้ระบบขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางระบบรางปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 โดยพึ่งการขนส่งสินค้าทางถนนถึงร้อยละ 80 ขณะที่มาตรฐานโลกพึ่งพาขนส่งสินค้าทางถนนร้อยละ 40 ระบบรางร้อยละ 30 และทางน้ำร้อยละ 30

ที่ประชุมยังเห็นชอบประกาศให้จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพิ่ม เพื่อให้มีส่วนในการสร้างประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น การผลิตบุคลากรแรงงานคุณภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย และมีมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมกำหนดให้มีแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมและแผนที่แนวเขตที่ชัดเจน แผนการเผยแพร่ผลการศึกษาเพื่อรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพิจารณาครั้งต่อไป