ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. ปรับขึ้นเล็กน้อย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. ปรับขึ้นเล็กน้อย

"ม.หอการค้าไทย" เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. อยู่ที่ 77.0 จากเดือนก่อนอยู่ 76.8 หนุนคลังแจกเงินคนจน เชื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.1-0.2%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2560 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ระดับ 77.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ระดับ 76.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 65.4 เพิ่มขึ้นจากมีนาคมที่อยู่ที่ระดับ 65.1 และความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94 จากเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ระดับ 93.8

อย่างไรก็ตามแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้จะขยายตัวดีขึ้น แต่เป็นการดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจเต็มที่ ยังชะลอการซื้อบ้าน รถยนต์ และท่องเที่ยว ประกอบกับเกษตรกรยังกังวลถึงปัญหาราคาข้าวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ มันสำปะหลัง ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคไม่ฟื้นตัวมากนัก นอกจากนี้ยังกังวลความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และความไม่แน่นนอนทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่อาจเกิดสงคราม โดยเฉพาะความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งหอการค้าไทยจะติดตามดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนพฤษภาคมว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ หากปรับตัวลดลงก็แสดงว่ากำลังซื้อกำลังชะลอตัวลง

ดังนั้นภาครัฐจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบกลางปีลงไปในภูมิภาค และจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ให้เร็วขึ้น เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่เกษตรและท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อทดแทนช่วงพักการเพาะปลูก โดยยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4 ขณะที่การส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 2-3 และมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 ตามที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายไว้ หากรัฐเร่งผลักดันการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และมีมาตรการประกันพืชผลทางการเกษตร เพื่อเติมเงินให้เกษตรกรในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

นายธนวรรธน์ ยังเห็นด้วยกับมาตรการของกระทรวงการคลังที่จะมีการจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 ต่อเดือน โดยแนะนำให้เป็นเงินโอนเข้าบัญชีรายปี อย่างน้อย 2,500 -5,000 บาทต่อรายต่อปี ซึ่งจะใช้งบประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 0.1-0.2