‘ควายทอง’ปั้นธุรกิจถึกขึ้นไฮคลาส

‘ควายทอง’ปั้นธุรกิจถึกขึ้นไฮคลาส

ชาวจีนผู้ตามพ่อมาขายก๋วยเตี่ยวในไทยเมื่อ30ปีก่อน‘จาง ควายทอง’ บากบั่นทำทุกอาชีพจนรู้จักฐานรากเศรษฐกิจไทยคือเกษตรกรรม จึงปั้น’ควายทอง’ แบรนด์เครื่องจักรการเกษตรก่อนแปลงร่างมาสู่ธุรกิจรถเมล์ไฟฟ้า ก้าวกระโดดรายได้จากร้อยล้านสู่พันล้าน

สมรภูมิธุรกิจของ จาง ควายทอง ผู้ก่อตั้งควายทอง โฮลดิ้ง กรุ๊ป สร้างธุรกิจผ่านจุดพลิกผันอย่างโชกโชน ด้วยความถึก และบึกบึนไม่แพ้นามสกุล ควายทอง สัตว์ที่เขารักและผูกพันกับควายมาตั้งแต่มาใช้ชีวิตในเมืองไทย มองควายเป็นสัตว์ น่ารัก ขยัน อดทน สัตว์เลี้ยงระดับตำนานที่เป็นเครื่องมือทางการเกษตรอยู่คู่กับชาวนา กระดูกสันหลังของชาติมายาวนานหลายชั่วอายุคน

ไม่ว่าทัศนคติพ่อค้าวาณิชจะมักก่น ด่า เปรียบเทียบ คำว่า “ควาย” เปรียบเหมือนคนโง่เขลา แต่เขากลับยกย่อง เชิดชู และใช้ชื่อ ”ควาย” มาสร้างแบรนด์ให้สินค้า โดยใช้ความคุ้นเคย ผูกพันกับคนไปเจาะตลาดรากหญ้า ประชาชนฐานรากเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มีประชากรกว่า 40 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศที่ 67 ล้านคน กลุ่มตลาดสำคัญที่จะสร้างธุรกิจให้เติบโต

เพราะเกษตรเป็นศูนย์กลางของทุกด้าน” เขานิยามตลาดกลุ่มรากหญ้า

ก่อนทำธุรกิจ จาง ผ่านงานมาหลากหลายอาชีพอย่างช่ำชอง เขาเล่าว่า หลังได้รับจดหมายจากพ่อเมื่ออายุได้ 14 ปี ก็ทิ้งถิ่นฐานเกิดที่ มณฑล ฝูเจี้ยน อพยพมาช่วยพ่อขายก๋วยเตี๋ยว ในไทย พร้อมกับลองทำงานหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นไกด์ เซลล์แมนขายหลอดไฟ ล่าม เปิดบริษัทแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมถึงบริษัทนำเข้าและส่งออก

จนกระทั่งมาสู่การรุกธุรกิจด้านการเกษตรอย่างจริงจัง ด้วยชื่อแบรนด์ “ควายทอง” จำหน่ายสินค้าเครื่องจักรทางการเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องพ่นยา เครื่องตัดหญ้า รถเกี่ยวข้าวและนวดข้าว 

แนวคิดการเจาะตลาดรากหญ้า ยังถูกยกระดับเป็น ร้านสะดวกซื้ออุปกรณ์ และเครื่องมือการเกษตร” ด้วยโมเดลร้านตัวแทนจำหน่าย โดยออกแบบระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการสต็อกสินค้า รวมถึงโลจิสติกส์ ภายใต้ร้านชื่อ ควายทอง ช็อป”

ในเมืองไทยควรมีร้านสะดวกซื้อสำหรับอุปกรณ์ทางการเกษตรทุกรูปแบบ เพื่อช่วยพัฒนาให้ชาวนามีต้นทุนการเกษตรที่ต่ำลง”

เดินตามโมเดลแผน 3 ฉบับ คือ ฉบับที่1 สร้างแบรนด์ ควายทอง ผลิตสินค้าต่อเนื่อง ,ฉบับที่ 2 การขยายช่องทางการจำหน่ายและขนส่งสินค้า และฉบับที่ 3 การเชื่อมโยงโลกไซเบอร์ หรือ อีคอมเมิร์ซเพื่อเปิดโอกาสขยายตลาดไปสู่อาเซียน

นั่นทำให้ควายทอง พัฒนาระบบจัดจำหน่ายเป็น ควายทอง ช็อป เป้าหมายขยายช็อป ไม่ต่ำกว่า 2,000 สาขา หรืออำเภอละ 1-2 สาขาภายใน 3 ปี  

ทว่า ธุรกิจเกิดสะดุดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ

เมื่อชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคา ธุรกิจของพ่อค้าก็ไม่ดีไปด้วย เป็นลูกโซ่ 3 ปีที่ผ่านมาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ธุรกิจก็เริ่มแย่ตาม”

เขายังเล่าถึงวิธีดิ้นเพื่อความอยู่รอด โดยใช้ ควายทอง โมเดล” นั่นคือการหาพันธมิตร”ร่วมทุนจากจีน โดยการวิ่งหาคอนเน็คชั่นผ่านนักธุรกิจในฮ่องกง คือ ไฮบริด คิเนติค กรุ๊ป จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอร์รี Lithium Titanate ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เข้ามาร่วมทุนบุกเบิกตลาดรถเมล์ไฟฟ้าในไทย

ปัจจุบันกลุ่มผู้ร่วมทุนในควายทอง ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องจักรการเกษตรขนาดเล็ก เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ ธุรกิจค้าปลีก และภาคการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ล่าสุด คือ ควายทองมอเตอร์ ผู้จำหน่ายยานยนต์ 

จึงเป็นที่มาของการ แปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส” ของการร่วมทุนพัฒนารถเมล์ไฟฟ้าคันแรก ภายใต้แบรนด์ควายทอง รุกตลาดไทย ลูกค้ารายแรกคือ บริษัทขนส่งผู้ได้รับสัมปทานรถเมล์ “วังศกาญจน์กิจ จำกัด” ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่ปรับเปลี่ยนรถเมล์ ที่ใช้มานาน 30-40 ปี จึงสั่งซื้อรถเมล์จากบริษัท ล็อตแรก 200 คัน คันละ 15 ล้านบาท หรือ มูลค่าทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท

ด้วยต้นทุนแบตเตอร์รี่อายุการใช้งานยาวนาน 12 ปี ชาร์จเต็มภายใน 10-15 นาที ต่อระยะทางวิ่ง 50 กิโลเมตร หากเทียบกับแบตเตอร์รี่แบบเดิม ที่ต้องเปลี่ยนภายใน 2-3 ปี ใช้เวลาชาร์จ 5-6ชั่วโมง ทำให้จุดคุ้มทุนในการดำเนินธุรกิจเร็วขึ้น

ผู้ร่วมทุนมีจุดแข็งเรื่องแบตเตอร์รี่ แต่ไม่มีตลาดในไทย และควายทองก็วางโพสิชั่นนิ่ง(ตำแหน่งการค้า)เป็นแบรนด์เพื่อผลิตสินค้าเพื่อรากหญ้า รถเมล์ก็เป็นกลุ่มประชากรรากหญ้า เป้าหมายที่สอดคล้องกับธุรกิจ จึงร่วมกันเปลี่ยนรถเมล์เอ็นจีวี เบนซิน และดีเซล ไปสู่รถไฟฟ้า คันแรกของไทย”

โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนล่าสุดได้ลงนามกันว่าจ้าง บริษัท จู่ไห่ กว่างธง โฮลดิ้ง ผู้ผลิตรถยนต์จากจีน เข้าสร้างโรงงานประกอบรถเมล์ ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ โดยรถเมล์ 200 คันแรก ใช้เงินลงทุนมูลค่า 100 ล้านบาท

นั่นหมายถึง รายได้ของกลุ่มธุรกิจ ก้าวกระโดดจากหลักร้อยล้านบาท เฉพาะกลุ่มเครื่องจักรการเกษตร เป็นหลักพันล้าน เขาคาด  

นอกจากนี้ ยังมีแผนเข้าไปเจาะในกลุ่มบริษัทสัมปทานเดินรถรายอื่นที่ต้องการเปลี่ยนรถเมล์ รวมถึงรถเมล์ไฟฟ้าสำหรับองค์กร เช่น มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน โรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อเดินรถสำหรับพนักงาน ตลาดยังเปิดกว้างอีกมากมาย

จุดแข็งของพันธมิตร คือ ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ ที่ส่งออกไปยังยุโรป และอเมริกา ขณะที่ควายทองเป็นผู้พัฒนาด้านการตลาด จึงทำให้แข่งขันได้ในอนาคต เพราะแบรนด์อยู่กึ่งกลางระหว่าง สินค้าราคาสูงจากญี่ปุ่น และสินค้าราคาต่ำจากจีน 

สินค้าแบรนด์จากสหรัฐ หรือญี่ปุ่น หรือเกาหลี ล้วนผลิตที่จีน แต่บริษัทสามารถควบคุมมาตรฐานสินค้าได้ โดยการสร้างแบรนด์ จึงได้เปรียบด้านต้นทุนหากเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในตลาดมานาน แต่ดีกว่าแบรนด์จีนที่เน้นห้ำหั่นราคา เราจึงเป็นผู้บุกเบิกตลาดใหม่ที่อยู่ตรงกลาง ดีกว่าจีน แต่ถูกกว่าแบรนด์เดิม”

เขายังฝันใหญ่ว่า ธุรกิจของควายทองในอนาคตหากสำเร็จจะมีสินค้าทยอยเปิดตัวต่อมาทั้งรถยนต์ จักรยาน หรือยานพาหนะอื่นๆ โดยตามรอยโมเดลที่เคยประสบความสำเร็จ แลมโบกินี (Lamborghini) รถสปอร์ตในฝันของใครหลายคนที่ราคาเริ่มต้น 15 ล้านบาท ผู้ผลิตและเจ้าของเดิม เคยทำผลิตรถไถมาก่อน

ควายทองก็เริ่มต้นจากรากฐานของการทำรถไถควายทองมาก่อน ในเฟสต่อๆเราออกแบบรถยนต์ไว้แล้ว รอเปิดตัวในปีต่อๆไป แบรนด์ควายทองที่มีโลโก้คล้ายกัน แลมโบกินี สัญลักษณ์คือวัวกระทิง ขณะที่ควายทองก็เป็นสัตว์มีเขาเหมือนกัน”

---------------------

สูตรเอสเอ็มอี 

ปั้นแบรนด์ฉบับ”ควายทอง”

-เข้าใจตลาด เข้าใจเทคโนโลยี

-มีสายสัมพันธ์ เข้าถึงผู้ผลิต

-เชื่อมโยงซัพพลายเชนต้นน้ำ-ปลายน้ำ

-เมื่อถึงทางตันจะมีแผนสำรองเสมอ

-ศึกษาโมเดลเติบโตระดับเวิลด์คลาส

-วางตำแหน่งราคาเจาะช่องว่างตลาด