'ก.ล.ต.' ไฟเขียวตั้ง ‘เฮดจ์ฟันด์’

'ก.ล.ต.' ไฟเขียวตั้ง ‘เฮดจ์ฟันด์’

เปิดช่องตั้ง "เฮดจ์ฟันด์" ก.ล.ต.ย้ำขายเฉพาะนักลงทุนสถาบัน-รายใหญ่พิเศษ ลงทุนได้ทุกสินทรัพย์ ไม่จำกัดสัดส่วน สั่งห้ามรายย่อยยุ่ง อ้าง “ซับซ้อน-เสี่ยงสูง”

ก.ล.ต. ไฟเขียวตั้งกองทุน “เฮดจ์ฟันด์” ลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภท ไม่จำกัดสัดส่วนลงทุน ขายเฉพาะนักลงทุนสถาบัน-รายใหญ่พิเศษ หวังเป็นทางเลือกลงทุน ย้ำห้ามรายย่อยยุ่งเกี่ยว อ้างเสี่ยงสูง-ซับซ้อน ด้าน บลจ.ชี้เป็นเครื่องมือช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตลงทุนได้

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้ปรับเกณฑ์ด้านกองทุนรวมเพื่ออนุญาตให้เสนอขายกองทุนรวมประเภท “เฮดจ์ฟันด์” ต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษได้ เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยมีเกณฑ์กำกับดูแลการขายที่เคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับสูงอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

ทั้งนี้ก.ล.ต. เปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) สามารถออกและเสนอขายกองทุนรวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ซึ่งสามารถลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินและทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท โดยไม่มีข้อจำกัดอัตราส่วนการลงทุน เนื่องจากกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์จะมีความเสี่ยงและความซับซ้อนสูงในขณะที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น จึงเปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนประเภทรายใหญ่พิเศษเท่านั้นที่สามารถลงทุนได้

นอกจากนี้ก.ล.ต. ปรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการขายกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ให้เคร่งครัดขึ้น โดยบริษัทจัดการต้องอธิบายให้ผู้ลงทุนทราบถึงลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนรวมประเภทนี้อย่างละเอียด ให้ข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์เชิงลบอย่างมากที่สุดต่อการลงทุน (worst case scenario)

ขณะเดียวกันบริษัทจัดการจะต้องระบุข้อความ “เฮดจ์ฟันด์” ไว้ในชื่อกองทุน และเขียนต่อท้ายชื่อกองทุนว่า “ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย”

รายงานข่าวระบุว่า ก.ล.ต.ยังได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนสำหรับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund:PF) โดยกำหนดให้สามารถลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินและทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภทโดยไม่มีข้อจำกัดด้านอัตราส่วนการลงทุนและให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่ตกลงกับลูกค้า

โดยบริษัทจัดการจะต้องจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของลูกค้า และบริหารจัดการความเสี่ยงให้สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า

ข้อกำหนดการตั้งชื่อกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ในเอกสารเผยแพร่ต่าง ๆ มีผลเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับหลักเกณฑ์อื่นข้างต้นมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร ก.ล.ต. กล่าวว่า เนื่องจากกองนี้สามารถลงทุนและทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์(DW) โดยไม่จำกัดอัตราส่วนการลงทุน อาจมีการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและซับซ้อน จึงอาจไม่เหมาะกับนักลงทุนรายย่อย

สำหรับผู้ที่จะสามารถลงทุนในกองทุนนี้ได้ต้องเป็นผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนที่มีศักยภาพรองรับผลขาดทุนในระดับสูงได้ ตัวอย่างเช่น บุคคลธรรมดาต้องมีทรัพย์สินสุทธิมากกว่าหรือเท่ากับ70 ล้านบาท หรือ รายได้ต่อปีมากกว่าหรือเท่ากับ10 ล้านบาท หรือ ขนาดพอร์ตการลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 25 ล้านบาท หรือ พอร์ตการลงทุนและเงินฝาก รวมกันมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาท

โดยการออกเกณฑ์นี้มุ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเสนอขายกองทุนได้หลากหลายเช่นเดียวกับในต่างประเทศ และยังสอดคล้องกับแผนการเปิดให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้โดยตรง

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล กล่าวว่า เป็นเรื่องดี สำหรับผู้ลงทุนกลุ่มสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกได้มากขึ้น และเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะ 3-5ปี อีกทั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ในช่วงดอกเบี้ยต่ำและหุ้นราคาแพงเช่นนี้ได้ ถึงแม้ว่าในช่วง5-6ปีที่ผ่านมา กองทุนเฮดจ์ฟันด์ จะไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะผลตอบแทนสวนทางกับการลงทุนหุ้นในตลาดฯที่ให้ตอบแทนดีกว่า และค่าธรรมเนียมเฮดจ์ฟันด์ยังสูงกว่าการลงทุนทั่วไป

อย่างไรก็ตามการเสนอขายกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ต้องออกแบบให้มีลักษณะพิเศษ สำหรับผู้ลงทุนที่ศักยภาพในการรับความเสี่ยงสูง มีความรู้และเข้าใจการลงทุนที่มีความซับซ้อนเท่านั้น ดังนั้น การนำเสนอขายนักลงทุนรายย่อยยังมีความเสี่ยง

ในส่วนของบริษัท ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาออกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ว่าควรจะเลือกสินทรัพย์ลงทุนประเภทไหนถึงจะเหมาะสมกับผู้ลงทุนที่มีความพร้อม น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไปแล้ว

นางสาวเบญจรงค์ เตชะมวลไววิทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยเป็นทางเลือกการลงทุนให้กับนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจในการลงทุนอยู่แล้ว แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าไพรเวทเวลธ์ อาจจะเลือกประเภทสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมและต้องมีการสื่อสารที่ดีกับลูกค้ากลุ่มนี้

ส่วนบริษัทจะออกกองทุนประเภทดังกล่าวหรือไม่ ยังต้องหารือกับทางธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้ขายก่อน เพื่อวางกลยุทธ์กองทุน กำหนดระยะเวลาและความเสี่ยงให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนอย่างแท้จริงและจัดทำเอกสารตามเกณฑ์กำกับของกลต. รวมถึงอบรมเตรียมความพร้อมให้กับผู้ขายเพิ่มเติมด้วย อาจจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มากขึ้น