'ดีเอสไอ'รวบแก๊งฮั้วประมูล รัฐเสียหาย100ล้าน

'ดีเอสไอ'รวบแก๊งฮั้วประมูล รัฐเสียหาย100ล้าน

"ดีเอสไอ" ล้อมจับผู้ต้องหาฮั้วประมูลผ่านระบบ e-bidding เมืองยโสธร หลังพบเบาะแสได้ข้อมูลราคาจากกรมบัญชีกลางไปใช้ก่อนปิดประมูล ทำรัฐเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยถึงการสอบสวนคดีฮั้วประมูลในระบบประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ว่า คดีดังกล่าวดีเอสไอได้สืบสวนมานานจนกระทั่งได้รับรายงานการข่าวว่า จะมีการฮั้วประมูลในจ.ยโสธร จึงประสานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจภูธรภาค 3 ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าตรวจค้นและยึดหลักฐานได้ขณะกระทำความผิด ขณะนี้ควบคุมผู้ต้องหา 2 ราย ไว้สอบสวนเบื้องต้นเป็นเวลา 7 วัน และส่งพนักงานสอบสวนสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ซึ่งรับผิดชอบคดีฮั้วประมูลขยายผลไปยังเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยการประมูลในวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นการประกวดราคาก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านดอนขะยอม ต.สงเปลือย อ.คำเขื่อนแก้ว วงเงิน. 44,500,000 บาท โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมสถานีส่งน้ำบ้านบัวขาว ต.ม่วง อ.มหาชนะชัย วงเงิน 28,000,000 ล้านบาท โครงการก่อสร้างแก้มลิงหนองเลิงหว้า บ้านหนองเทา ต.นาแก อ.คำเขื่อนแก้ว วงเงิน 25,000,000 บาท โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอาคารพญานาค (ครั้งที่ 4) วงเงิน 29,650,000บาท รวมมูลค่า 127,150,000 บาท

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับกลุ่มบุคคลที่ถูกจับกุมครั้งนี้แม้จะแม้หลักฐานที่พบหน้าจอไม่ใช่ของกรมบัญชีกลาง แต่ผู้กระทำผิดได้ราคากลางก่อนการปิดประมูล จึงถูกแจ้งข้อกล่าวหา โดยถือเป็นการนำส่งข้อมูลลับของทางราชการ เพื่ออำนวยการในการต่อสู้ราคาในการประมูลงานราชการ มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และพ.ร.บ ฮั้วประมูล ส่งผลให้ทางราชการเกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาในปี 2559 หลังมีการเปิดใช้ระบบอี-บิดดิ้งเพื่อแก้ปัญหาการฮั้วประมูลในระบบอีออกชั่น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้นได้สั่งการให้ดีเอสไอสืบสวนเบาะแสการนำข้อมูลการประมูลของกรมบัญชีการมาขายให้กับผู้รับเหมา โดยบางโครงการประมูลเฉือนราคากันเพียงเล็กน้อย ขณะที่กรมบัญชีกลางยืนยันว่าข้อมูลที่กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบเป็นข้อมูลปลอมที่ทำขึ้นมาหลอกลวงกลุ่มผู้รับเหมาด้วยกัน จนกระทั่งดีเอสไอเข้าจับกุมการฮั้วประมูลในระบบอี-บิดดิ้งในจังหวัดยโสธรเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพฤติการณ์ที่ขบวนการฮั้วประมูล จะต้องประมูลงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ได้พาสเวิร์ดเพื่อเคาะราคา ช่วงเวลา 08.30-16.30 น. ซึ่งสามารถเสนอราคาได้เพียง 1 ครั้ง ผู้ประมูลจะไม่รู้ว่าคู่แข่งที่เข้าร่วมประมูลใครเสนอราคาเท่าไร แต่ระบบส่วนกลางหรือห้องควบคุมระบบการประมูลของกรมบัญชีกลาง และผู้จัดระบบสามารถล็อกอินเข้าไปดูได้ที่ห้องควบคุมและจะเห็นภาพรวมทั้งหมดว่าใครเสนอราคาเท่าใด จากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ถ่ายรูปหน้าจอคอมพิวเตอร์ของแต่ละบริษัทที่เสนอราคาไปให้คู่แข่งให้ทราบราคาที่แต่ละบริษัทเสนอ ดังนั้นเมื่อบริษัทที่ต้องการงานก็จะซื้อข้อมูลจากกลุ่มขบวนการดังกล่าวเพื่อให้ทราบราคาของบริษัทอื่น ก่อนรอให้ใกล้หมดเวลาแล้วก็เสนอราคาสู้ซึ่งจะต่ำกว่าบริษัทที่เสนอต่ำสุดเพียงเล็กน้อย บางครั้งอยู่ที่หลักร้อยหรือพันบาท ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรหัสโครงการที่ปรากฏในหลักฐานที่ได้มาพบว่าเป็นโครงการของรัฐจริงและบริษัทที่ได้งานก็ตรงกับข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏ