เขียนภาพด้วยเข็ม

 เขียนภาพด้วยเข็ม

จะมีดินสอหรือปากกาด้ามใดที่จะชุ่มเลือดได้เท่าเข็บเย็บผ้า

คำคมของนักเขียนสตรีที่บาดลึกลงไปในความรู้สึกของศิลปินหญิงรุ่นหลัง นริศรา เพียรวิมังสา เยียวยาอารมณ์ความเจ็บปวดด้วยการเขียนความรู้สึกผ่านเข็บเย็บผ้า ปลดปล่อยให้ความรู้สึกเป็นตัวนำฝีเข็มโดยมีเส้นด้ายเป็นตัวร้อยเรียง

ในนิทรรศการ A New Interpretation of the Paradoxical World เราได้พบกับนริศราอีกครั้ง หลังจากห่างหายจากการแสดงผลงานศิลปะไป 6 ปี เธอบอกว่าไปลองทำงานในหลายรูปแบบ ได้แก่ อาร์ตไดเรกเตอร์ให้กับนิตยสาร แปลวรรณกรรมละตินอเมริกัน เขียนหนังสือจากข้อสงสัยในชีวิตประจำวันแล้วแปลเป็นภาพ

ส่วนงานศิลปะก็ไม่ได้ทิ้งหากค้นคว้าหารูปแบบใหม่มานำเสนอจนได้รับทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ปี 2559

“นิทรรศการศิลปะครั้งนี้ ถือเป็นงานแสดงเดี่ยวครั้งแรกในรอบ 6 ปี ซึ่งสืบเนื่องมาจากโปรเจคท์ที่ได้รับทุนศิลป์ พีระศรี

หลังจากลองไปทำงานหลายๆแบบ ไม่อยากจะเพ้นท์แล้ว ไม่ใช่เบื่อ แต่รู้สึกว่า บางเวลาที่เรามีความรู้สึกแบบหนึ่ง เทคนิคแบบหนึ่งมันรองรับ บางทีบางเทคนิคก็ไม่รองรับบางอารมณ์

เป็นครั้งแรกที่นำเทคนิคผ้าปักมาเป็นพระเอก เพราะว่าตอบสนองความรู้สึก ที่ลึกลงไปที่ดินสอ เพ้นท์ติ้งทำไม่ได้

เนื้อหา อิงไปที่นิทานเด็ก เรารู้สึกว่าบางทีที่เราเจอเรื่องร้ายๆในชีวิตเราไม่อยากถ่ายทอดเรื่องร้ายๆต่อกับคนอื่น เราจึงมาดูเรื่องนิทานเด็ก ดูจริงๆแล้วเรื่องราวมันร้ายมากนะ เช่น พี่เลี้ยงซินเดอเรลล่าต้องเฉือนเท้าตัวเองเพื่อให้ใส่รองเท้าแก้วได้ หรือหมาป่าในเรื่องหนูน้อยหมวกแดง ที่กินคุณยายเข้าไปนายพรานมาผ่าท้องหมาป่า เป็นเรื่องน่ากลัว สะท้อนถึงความรุนแรงทางสังคมที่มีห่อสวยๆมาหุ้มไว้”

ทุกคนล้วนผ่านความทุกข์ ความสูญเสีย ความเจ็บปวดกันมาแล้วทั้งนั้น นริศราก็เช่นกัน เธอใช้การปักผ้าเยียวยาความรู้สึกที่อยู่ภายใน

“ส่วนตัวคิดว่าเป็นการซ่อมแซม เหมือนเสื้อผ้าเราขาดเราก็พยายามซ่อม แต่ว่าในขณะเดียวกัน คือ ความชัดจน ความบีบ ความกดดันให้เราอยู่กับที่ มีความหมายขัดแย้งที่อยู่ด้วยกันได้

ทุกคนที่ผ่านเรื่องร้ายๆมาน่าจะอินกับความรู้สึกได้ ยุ่งเหยิง ปมด้าย ชีวิตเราทุกวันนี้มันดูเหมือนมีระเบียบ แต่ข้างในใจมันยุ่งมาก

พ่อเสียมา 3 ปีแล้ว เป็นคนเย็บเสื้อให้พ่อใส่ การเย็บผ้าในวันที่พ่อไม่อยู่มันเจ็บ”

นริศรานำความเจ็บปวดไปเป็นแรงผลักดันในการค้นหาวิธีสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ตอบสนองภาวะอารมณ์ในขณะนั้น

“พอไปค้นหาข้อมูลการเย็บผ้าไม่ใช่ของใหม่ในวงการศิลปะ มันมีมานานแล้ว มุมของสิทธิสตรีนำมาใช้ในแง่การแสดงอะไรบางอย่างของผู้หญิง บริบทมันเยอะ โดยรวมเราชอบความขัดแย้งในบริบทของมัน เป็นการซ่อมแซมก็ได้ เมื่อก่อนงานเย็บผ้า คือสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีคุณค่า ผู้หญิงที่อยู่ในกรอบจะเปิดเผยความรู้สึกทั้งหมดของตัวเองผ่านการออกแบบลายผ้า”

ผลงานศิลปะของนริศราก็เช่นกัน เธอเลือกที่จะใช้เข็มเย็บผ้าวาดความรู้สึกแทนการดรออิ้ง โดยเป็นการเย็บที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผน ปมด้ายที่ควรจะซ่อนอยู่กลับแสดงความยุ่งเหยิงให้เห็นอย่างเด่นชัด

“เราคิดว่าเราไม่เหมือนเมื่อก่อนที่พรวดพราด การตอบสนองเป็นไปตามวัย ไม่ใช่ว่าไม่อยากวาด อารมณ์ตอนนี้อยากนำเสนอลึกลงไป มีชั้นความคิดซับซ้อนมากขึ้น ให้ผู้ชมคิดได้อย่างอิสระ ผ่านคาแรกเตอร์ของสัตว์ เช่น หมาป่า กวางมูส นกยูง นกฮูก ผีเสื้อ

ประเด็น สำคัญ คือ ประสบการณ์มองทีแรกเหมือน ดรออิ้ง เดินเข้าไปใกล้ๆไม่ใช่ เหมือนยุคสมัยนี้เลย สิ่งที่เราเห็นเอาเข้าจริงๆแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด” นริศรา กล่าวถึงผลงานในชุดนี้ที่ใครได้เห็นในระยะไกลคิดว่าเป็นผลงานดรออิ้ง หากเมื่อเข้าชมในระยะใกล้จะพบว่าลายเส้นนั้นเกิดจากฝีเข็มและด้าย

“เราใช้แทนดินสอ ไม่ได้แทนความหมายในงานคราฟต์ ไม่ได้มีสเก็ตช์ ไม่ใช่ปักแบบมีแบบแผนสวยงาม เราเล่นแบบมีข้างหลัง ข้างหน้า นำปมที่ซ่อน เราเอามาไว้ข้างหน้า เหมือนปมย้อนแยงกัน

ชีวิตเราชอบความเร็ว เราชอบทำอะไรเร็วๆ การเดินทางต้องเร็วที่สุด ได้รับข่าวอะไรมาต้องรีบแชร์เพราะเราอยากเป็นคนแรก รู้สึกว่าเราไม่สามารถแน่ใจกับอะไรได้เลย เช่นเดียวกับงานปัก ดูไกลๆอาจเหมือนเป็นดรออิ้ง พอเดินเข้าไปดูใกล้ๆแล้วมันไม่ใช่ สิ่งที่คุณเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่คิด ชอบตรงการพลิก ชอบความรู้สึกตรงนั้น คิดว่ามันได้ผลดี”

ทุกความรู้สึกมีพลังงานซ่อนอยู่ ในความเสียใจ ปวดร้าว ถ้าเราปลดปล่อยพลังนั้นออกมาในทางสร้างสรรค์ เราจะพบว่ายังมีเส้นทางให้เดินต่อไปเสมอ

นิทรรศการ A New Interpretation of the Paradoxical World จัดแสดงที่โนวา คอนเทมโพรารี แกลลอรี ซอยมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าราชดำริ) วันนี้ -15 มิถุนายน 2560 (เว้นวันจันทร์) เวลา 11:00-20:00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.090-910-6863