เปิดเส้นทาง 'กม.ติดหนวด' ดักฟังโทร-แชทออนไลน์

เปิดเส้นทาง 'กม.ติดหนวด' ดักฟังโทร-แชทออนไลน์

เปิดเส้นทาง "กม.ติดหนวด" ดักฟังโทร-แชทออนไลน์

วานนี้ (26 เม.ย. 60) มีข่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนอย่างเราๆ หลังจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยอำนาจการเข้าถึงพยานหลักฐานของตำรวจ เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ตำรวจดักฟังข้อมูลโทรศัพท์ และเข้าถึงแอพพลิเคชั่นแชทออนไลน์ของประชาชนได้ 

จริงๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่เป็นที่เปิดเผย และไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพราะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เสนอ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอเป็น “เอกสารลับ” หรือ “เอกสารมุมแดง” เหมือนกับการเสนอเรื่องเรือดำน้ำเข้า ครม.ของกระทรวงกลาโหม 

ทีนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติให้ถอนเรื่องนี้ออกจากสถานะ “ชั้นความลับ” คือไม่ให้เป็นเอกสารมุมแดงแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 77 กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน 

เมื่อครม.มีมติถอนจากชั้นความลับ ก็ทำให้วันนี้ พันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน อธิบายว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่จะให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในการเข้าถึงพยานหลักฐาน สามารถดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ และเข้าถึงแอพพลิชั่นการแชทข้อความได้ 

แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องเข้าข่ายคดี 4 กลุ่มความผิดเท่านั้น ประกอบด้วย คดีก่อการร้าย คดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ คดีความมั่นคง และคดีอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน ที่มีอายุความตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป 

สำหรับการเข้าถึงข้อมูล ต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยพนักงานสอบสวนจะต้องนำหลักฐานทั้งหมดเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาหลักฐานและประเภทคดี เมื่อเชื่อแน่ว่าเข้าข่าย 4 กลุ่มคดีดังกล่าวแล้ว จึงจะขอให้ศาลพิเคราะห์ถึงเหตุผลความจำเป็น ก่อนจะอนุมัติให้ดำเนินการ ซึ่งจะมีเงื่อนไขว่าจะดักฟังในลักษณะใด และมีระยะเวลานานแค่ไหน 

ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ดักฟังประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพราะผู้ที่จะขอให้ศาลอนุมัติ เป็นระดับผู้บังคับการขึ้นไป มีระยะเวลาการดำเนินการ มีการถ่วงดุลชัดเจน ฉะนั้นพี่น้องประชาชนไม่ต้องเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

การเสนอแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อเพิ่มอำนาจให้ตำรวจในการดักฟังโทรศัพท์และเข้าถึงข้อมูลแชทออนไลน์นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ชงเรื่องและเสนอมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยกำหนดกรอบไว้ 4 กลุ่มความผิด คล้ายๆ กับร่างกฎหมายที่ผ่านคณะรัฐมนตรี คือ กลุ่มคดีก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ คดีความมั่นคง และคดีอาญาที่มีความซับซ้อน ซึ่งตามร่างเดิมเสนอให้ครอบคลุมคดีที่มีอายุความเพียง 3 ปีขั้นไปเท่านั้น แต่ร่างกฎหมายที่ผ่าน ครม. มีการปรับแก้เป็นคดีที่มีอายุความตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งก็คือคดีที่มีอัตราโทษสูง 

ปัจจุบันอำนาจการดักฟังโทรศัพท์ ตลอดจนช่องทางการสื่อสารรูปแบบอื่นๆ รวมถึงทางคอมพิวเตอร์ กำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ หรือกฎหมายของดีเอสไอ มาตรา 25 จึงเป็นอำนาจของดีเอสไอที่จะดักฟังโทรศัพท์ได้เพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น 

นอกจากนั้นก็มีกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “พ.ร.บ.คอมพ์” ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการขอข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องสงสัยจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ 

ฉะนั้นหากร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาผ่านความเห็นชอบจากสภาออกมาบังคับใช้ ก็จะเพิ่มอำนาจให้ตำรวจ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่สามารถเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์และข้อมูลแชทออนไลน์ได้เช่นกัน ซึ่งหลายฝ่ายก็แสดงความกังวลในเรื่องนี้ แม้การขอใช้อำนาจดักฟังโทรศัพท์ หรือตรวจสอบข้อมูลแชทออนไลน์จะต้องใช้คำสั่งศาล แต่การกำหนดประเภทคดีที่เข้าข่ายโดยไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจน เช่น คดีความมั่นคง หรือคดีที่มีความซับซ้อน ก็อาจเปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิความเห็นส่วนตัวของประชาชนได้เช่นกัน