วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (27 เม.ย.60)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (27 เม.ย.60)

เวสต์เทกซัสปรับเพิ่มจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐลด ขณะที่เบรนท์ปรับลดจากความกังวลเรื่องปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาด

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 เม.ย. ปรับตัวลดลงที่ 3.6 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 528.7 ล้าน ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดราว 1.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นสูงขึ้น โดยมีเปอร์เซ็นต์การกลั่นร้อยละ 94.1 ของกำลังการผลิต ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ พ.ย. 2558

- อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 3.4 ล้านบาร์เรล ทำให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของสหรัฐที่อาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง ทำให้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่อยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในระยะอันใกล้นี้

- นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

- ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงจากความไม่แน่นอนในเรื่องข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตระหว่างโอเปคและนอกกลุ่มโอเปค ว่าจะมีการขยายช่วงเวลาออกไปหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันโลก ถึงแม้ว่า นาย Khalid al- Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบีย มีความสนใจที่จะทำการเจรจากับผู้ผลิตในกลุ่มและนอกกลุ่มโอเปคเพื่อให้คงเสถียรภาพราคาน้ำมัน


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจากได้รับแรงกดดันจากราคา RBOB ในสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มมากขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลในประเทศญี่ปุ่นที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5 และระดับปริมาณสต็อกน้ำมันดีเซลในญี่ปุ่นก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ขึ้นไปแตะระดับ 10.16 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา


ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบในและนอกโอเปคก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 24-25 พ.ค. 60 ว่าจะมีจะมีการขยายระยะเวลาของมาตรการปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ ภายหลังปริมาณน้ำมันคงคลังเชิงพาณิชย์ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีค่อนข้างมาก แม้ว่ากลุ่มโอเปคจะปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงไว้ก็ตาม โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบีย คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความเห็นไปพ้องกันว่าควรขยายระยะเวลาของมาตรการแต่ข้อตกลงดังกล่าวขึ้นกับเงื่อนไขว่าผู้ผลิตนอกกลุ่มจะต้องปรับลดกำลังการผลิตลงด้วยเช่นกัน ซึ่งทางด้านของรัสเซียยังไม่ได้มีการออกมาให้ความเห็นแต่อย่างใด

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดจะปรับตัวลดลงหลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ราวร้อยละ 93 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดผลกระทบของการผลิตน้ำมันดิบในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 เม.ย. ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน โดยปรับลดลงราว 1.0 ล้านบาร์เรล

- การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 11 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 683 แท่น นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 13 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยกว่า 2 ใน 3 ของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากแหล่งผลิต Permian ที่มีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ

-----------------------
ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
โทร.02-797-2999