ยันเสนอกม.คุมสื่อฯเข้าสภา มองอาชีพนักข่าวสร้างผลกระทบ

ยันเสนอกม.คุมสื่อฯเข้าสภา มองอาชีพนักข่าวสร้างผลกระทบ

"กมธ.สื่อฯสปท." เดินหน้าเสนอกม.คุมสื่อฯเข้าสภา มองอาชีพนักข่าวสร้างผลกระทบวงกว้าง จ่อคุมหมดทั้งเพจเฟซบุ๊ค

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยืนยันว่า กมธ.ฯ จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ. ) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ฉบับปรับปรุงล่าสุดให้กับกมธ.วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) เพื่อบรรจุและนำเข้าที่ประชุมสปท. ช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้อย่างแน่นอน แม้จะถูกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนคัดค้านอย่างหนัก

โดยส่วนตัวมองว่าประเด็นที่องค์กรสื่อมวลชนไม่ต้องการ กมธ.ฯสื่อมวลชน ได้นำมาปรับให้แล้ว แต่ยืนยันถึงความจำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่รายละเอียด รวมถึงกรอบจริยธรรม ตัวแทนสื่อมวลชนคือผู้กำหนด

ส่วนเหตุผลสำคัญที่กำหนดให้สื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น เพราะสื่อมวลชนไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่มีใบอนุญาต เช่น อาชีพนวดแผนโบราณ ดังนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งมีการกระทำที่อาจกระทบวงกว้างกว่าต้องมีใบอนุญาต โดยประเด็นดังกล่าวจะรวมถึงสื่อออนไลน์ ซึ่งเราขีดวงจำกัดว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อออนไลน์ หรือนำเสนอผ่านเพจเฟซบุ๊คนั้น ต้องดูเจตนา การทำที่ต่อเนื่อง และมีรายได้ จากทางตรงทางอ้อมหรือไม่ และเป็นหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะกำหนดรายละเอียด

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับเพิ่ม ประเด็นบทลงโทษ กรณีหากนักข่าวไม่ไม่มีใบอนุญาต ตามเวลาที่กำหนดจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท รวมถึงองค์กรสื่อที่รับนักข่าวที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงานก็จะมีความผิดจำคุกและปรับเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ยังเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกไล่ออกไปทำงานอีก

นอกจากนั้น ได้ปรับเงินอุดหนุนสภาฯ ที่เดิมมาจากรัฐใช้ภาษีบาป แต่มีหลายคนท้วงว่าจะเกิดปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ จึงเปลี่ยนให้ไปขอจาก กสทช. ในช่วงเตรียมการ 2 ปี และดำเนินการ 5 ปี เพื่อจะมีรายได้มาบริหารจัดการ