ผ่าวิชั่นซีอีโอ'อิตัลไทย'ผนึกพันธมิตร'บีดีเอ็มเอส'

  ผ่าวิชั่นซีอีโอ'อิตัลไทย'ผนึกพันธมิตร'บีดีเอ็มเอส'

การสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต เป็นจุดพลิกให้'ยุทธชัย จรณะจิตต์'ทายาทรุ่น 3อิตัลไทยสานต่อธุรกิจไม่ทันตั้งตัว ผ่านไป15 ปีองค์กรเติบใหญ่ 'ผนึกพันธมิตร'ใหญ่โรงพยาบาล

เป็นเวลา 15 ปีแล้วสำหรับการเข้ามาเป็น “ผู้นำ” ขับเคลื่อนอาณาจักรครอบครัว “อิตัลไทย” ที่วันนี้ธุรกิจเดินมาถึงควบปีที่ 62

จากเด็กหนุ่มวัย 24 บริหารงานแบบไร้กุนซือ มีเพียงมารดา(นิจพร จรณะจิตต์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อิตัลไทย บุตรสาวคนโตของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ก่อตั้ง) ที่คอยชี้แนะบ้าง ทำให้การทำงานของ “ยุทธชัย จรณะจิตต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อิตัลไทย ต้องเรียนรู้จากคนทำงานรอบข้าง ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองจนแกร่ง

เป็นที่ทราบกันดีว่า การเข้ามานั่งเก้าอี้ตัวนี้ของเขา เป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน หลังการจากไปของบิดา(อดิสร จรณะจิตต์)จากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเข้ามารับตำแหน่งแบบไม่ทันรู้ตัว

“พ่อผมเสียตอนอายุ 50 ปี และผมต้องเข้าสานงานต่อ แรกๆไม่รู้เลยว่าจะต้องทำอะไรได้บ้าง เพราะธุรกิจของกลุ่มอิตัลไทย มีหลากหลายมาก (มี4 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ และกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์) ” เขาบอก ก่อนขยายความว่า

งานแรกที่เข้ามาจับคือธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ อย่างโรงแรม ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของ ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจรับบริหารจัดการโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ และสปา ในเครือภายใต้แบรนด์ อมารี โอโซ  ชามา และ บรีซ สปา ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ภายใต้แบรนด์ อมารี เอ็ซเท็ท ดำเนินธุรกิจพัฒนาที่พักอาศัยในทำเลศักยภาพระดับ 5 ดาว ซึ่งมีทั้ง กรุงเทพฯ หัวหิน และภูเก็ต

ยุทธชัย เล่าว่า เมื่อเข้ามารับงาน สิ่งแรกให้ความสำคัญ คือเรื่อง “คน” เพราะเห็นว่า คนที่มีคุณภาพจะขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตยั่งยืนได้ 

โดยที่ผ่านมาได้เปลี่ยนซีอีโอแต่ละธุรกิจมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกอย่างศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก ได้ดึงมือดีมาเสริมแกร่งด้านการตลาด เป็นต้น

เขายังระบุว่า การเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง ย่อมมาพร้อมกับการเปลี่ยน“วิธีคิด” (Mindset) ผู้บริหารใหม่ยังมีไฟผลักดันให้องค์กรก้าวหน้ารวดเร็วขึ้น 

“อย่างในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล การดึงคนใหม่เข้ามาทำงาน ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆเข้ามาด้วย หรือศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ฯ เมื่อวางตำแหน่งทางการตลาดจะเป็นศูนย์การค้าด้านศิลปะและของโบราณ (Art Antique) ก็ต้องหาคนที่จะสานเป้าหมายนี้ให้ได้ แม้กระทั่งซีอีโอของร้านชาทีดับเบิลยูจี ที ก็ต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน เพื่อหาตลาดใหม่ๆ เป็นต้น”

โดยการลงทุนเรื่องคน ยังควบคู่ไปกับการขยายการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่น การลงทุน 300 ล้านบาทเพื่อปรับศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ฯ ,การลงทุน 600 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโรงแรม และพัฒนาโรงแรมใหม่ๆ

“พอลงทุนเสร็จ วิธีคิดคนก็เปลี่ยน ทิศทางบริษัทก็เปลี่ยนตาม ที่ผ่านมาเราก็อยู่เรื่อยๆ พอลงทุนใหม่ ก็ต้องการเห็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” 

การปรับเรื่องคน และธุรกิจควบคู่กัน มีเป้าหมายที่จะทำให้อาณาจักรอิตัลไทย มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“ทำอย่างไรจะเสริมให้บ้านหลังนี้อยู่ได้อีก 100 ปีข้างหน้า สามารถหารายได้เข้ามาต่อเติมขยายอาณาจักร ซึ่งวันนี้อิตัลไทยอาจยังไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่ แต่เราก็มีความชำนาญเฉพาะในแต่ละด้านบนธุรกิจที่เราทำอยู่”

อีกเรื่องที่ยุทธชัยให้น้ำหนักในการบริหาร คือ “การเงิน” โดยเขาต้องการวางรากฐานทางการเงินให้แกร่งยิ่งขึ้น มองหา “แหล่งเงินทุนใหม่ๆ” ที่มีต้นทุนทางการเงิน “ต่ำ” รวมถึงเดินหน้าลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในระยะ 5ปีจากนี้

ขณะที่โจทย์การขยายอาณาจักรในวันหน้าจะใช้ “ทางลัด” ด้วยการซื้อและควบรวมกิจการ(Mergers and Acquisitions : M&A) มากขึ้นโดยเฉพาะในกิจการโรงแรม 

“ผมยอมรับเรื่องเงินไม่ใช่จุดแข็งของเรา แต่ก็ไม่ใช่จุดอ่อน แต่เราก็ต้องทำให้มันเป็นจุดแข็งให้ได้ ซึ่งกลุ่มต้องใช้เวลา”

หนึ่งในทางเลือกที่จะเสริมแกร่งด้านการเงิน คือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใน 3-4 ปีจากนี้ ซึ่งเป็นแผนที่อยู่ในใจแต่ยังไม่ระบุว่าจะนำธุรกิจกลุ่มไหนเข้าก่อนหลัง

“เราอยู่ระหว่างการเสาะหาทางเลือก อาจจะต้องหาจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยดูว่าธุรกิจกลุ่มไหนที่จะสร้างแหล่งเงินทุนเข้ามาได้มากที่สุด”

อีกมิติหนึ่งที่จะได้เห็น คือการ “ผนึกพันธมิตร” โดยยุทธชัย เปรยว่า ตอนนี้กำลังเรียนรู้การทำงานร่วมกับ “นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” แม่ทัพแห่งบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)หรือ บีดีเอ็มเอส หลังจากมีโอกาสได้เข้าไปบริหารโรงแรมชีวา เรสซิเดนท์ กรุงเทพ ให้กับนายแพทย์ปราเสริฐ มาร่วม 2 ปี และยังมองหาโอกาสทำงานร่วมกับบีดีเอ็มเอสอย่างต่อเนื่อง

“เป็นอะไรที่ค่อนข้างตื่นเต้นมาก เราเชี่ยวชาญด้านโรงแรม แต่จะทำอย่างไรให้สามารถนำออเน็กซ์ ฮอสพิทาลิตี้ไปเป็นพันธมิตรกับบีดีเอ็มเอส”

  เขาบอกว่า การได้ร่วมกันทำงานช่วยให้มองเห็นโมเดลของธุรกิจโรงแรมและโรงพยาบาลเอื้อกันได้

สเต็ปการทำงานกับนายแพทย์ปราเสริฐทำให้ยุทธชัยตื่นเต้น เพราะเขามองอิตัลไทยและบอกตรงไปตรงมาว่า..

เราค่อนข้างเป็นเต่าล้านปี เราไม่ค่อยเปิดไปทำงานกับคนอื่น แต่นี่เราพยายามจะสร้างธุรกิจใหม่ โดยจะเรียนรู้จากกลุ่มบีดีเอ็มเอส เพื่อสปริงบอร์ดกลุ่มฮอสพิทัลลิตี้

“เป็นก้าวสำคัญในชีวิตผม(หัวเราะ)ที่ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ปราเสริฐ และนี่เป็นอนาคตของฮอสพิทัลลิตี้” 

เขายังกล่าวว่า สิ่งสำคัญใน10ปีข้างหน้า คือการต้องทำงานร่วมกับพันธมิตร ที่ไว้ใจได้ และเขาไว้ใจเรามันก็เป็น Win win partnership เพราะอิตัลไทย เกิดจากเรื่องพวกนี้จริงๆ”

เฉกเช่นที่คุณตา (นายแพทย์ชัยยุทธ) และมร.จิโอจิโอ เบลลินเจียรี่ เป็นหุ้นส่วนในบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม บริษัทแรกของกลุ่มบริษัทอิตัลไทย

บริหารธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยแบบไม่ทันตั้งตัว มีทั้งสิ่งที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และ “พลาดเป้า” ที่สำเร็จเขายกให้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงองค์กรรอบด้านตั้งแต่ผู้นำ การลงทุน กระบวนการทำงานและการมีพันธมิตร 

ส่วนสิ่งไม่สมหวัง เขามองไปที่การลงทุนในต่างประเทศ เช่น การขยายธุรกิจโรงแรมในอินเดีย เพราะคิดว่าตลาดใหญ่มาก แต่เข้าไปแล้วกลับไม่ใช่ ธุรกิจรับเหมาเช่นกัน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินเดีย แต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมาสาหัสพอตัว 

“เหนื่อยมาก เราก็มองว่าการตัดสินใจอะไรหลายๆอย่าง ก็ไม่ได้ถูกเสมอไป แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่ปัญหามีไว้แก้ คุณต้องแก้ปัญหาทุกวัน ถ้าหยุดแก้เมื่อไหร่ จะไปทำอะไรล่ะ เมื่อไหร่ที่ไม่มีปัญหา แสดงว่าคุณไม่ได้ทำงานแล้ว”

กุมบังเหียนองค์กรมานาน ถามถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนบ้านหลังนี้ ยุทธชัย บอกว่า สำหรับเขาไม่มีเป้าหมายส่วนตัว แต่หากย้อนไปที่วิสัยทัศน์วันแรก หมายมั่นให้อิตัลไทยเป็นองค์กรที่ใครๆก็อยากเข้ามาทำงาน เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจ สร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน  

“ผมไม่มี Personal goal (เป้าหมายส่วนตัว) แต่ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสมาทำงานที่อิตัลไทย ได้เป็นตัวแทนของเจ้าของกลุ่มอิตัลไทย ได้ทำงานกับมืออาชีพที่มีความสามารถอนาคตจะใช้เวลาที่มีหาทางขับเคลื่อนองค์กรให้ดีที่สุด ไม่เพียงแค่ผลักดันให้กลุ่มมีความมั่นคง มีกำไร ทุกบริษัทที่ดูแล ผู้นำจะต้องแข็งแกร่ง เพราะท้ายที่สุด ผมก็ต้องเปลี่ยน ไม่ได้อยู่ไปตลอด

  อยากให้ทุกคนมองว่า ถ้าฉันไม่อยู่บริษัทจะอยู่อย่างไร พยายามกระตุ้นให้คนต้องคิด จะเดินอย่างไร เพราะผมเจอด้วยตัวเอง ที่อยู่ดีๆ พ่อผมเครื่องบินตก ทุกคนงงกันไปหมด ไม่ได้เตรียม ไม่มีแผนอะไรทั้งสิ้น ทำอะไรไม่ถูก เป็นอะไรที่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราก็ล้มลุกคลุกคลานในเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน การหาคนที่ใช่ ใช้คนที่มี และพิสูจน์ว่าคนที่มีบางกลุ่มก็รอด บางกลุ่มไม่รอด เป็นอะไรที่ยากมากสำหรับผม”