เรื่องหลอกๆบอก “ไม่เชื่อ”

เรื่องหลอกๆบอก “ไม่เชื่อ”

การงานดี มีโปรไฟล์ แต่ไม่วายถูกหลอก บอกทีได้ไหมว่าเพราะเหตุใด

ไปกับทัวร์โชกุน ถูกเทยกก๊วน

หมอหลอกหมอ เสียหายกว่า 64 ล้านบาท

ตุ๋นเหยื่อขายทองราคาถูกผ่านเฟซบุ๊ค

เสียเงินเป็นแสน โดนหลอกสั่งซื้อช็อกโกแลตก้อนยี่ห้อดัง

มันอาจจะมีอีกหลายกรณีก่อนหน้า ที่หลอกกัน “แสบ”กว่า แต่เอาแค่ในรอบเดือนที่ผ่านมา ทั้งหมดที่ว่าคือกรณีโกงที่ทำให้ใครๆ ต้องอุทานว่า “เฮ้ย มันเป็นไปได้ยังไง”

ถ้าจะบอกสาเหตุว่าเป็นเพราะความโลภ-อยากรวย-รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และ ฯลฯ มันก็คงไม่ผิด แต่เชื่อเถอะว่าภายใต้การหลงเชื่อมีที่มา “ลึก” กว่านั้น นั่นเพราะยังมีผู้เสียหายอีกมาก ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่า การลงทุนที่ถูกเชื้อเชิญไป “กลิ่นไม่ค่อยดี” หากแต่ยังดึงดันจะเข้าร่วม เพราะคิดว่าตัวเอง “เอาอยู่”

ก่อนจะรู้ตัวว่า ความมั่นใจแบบที่คิดมันผิดถนัด และกลับกันตัวเราต่างหากที่ต้องกลายเป็นเหยื่อ

 

จิตวิทยามิจฉาชีพ

การศึกษาดี มีโปรไฟล์ แต่ทำไมยังถูกหลอก ? 9 พันกว่าบาทไปเที่ยวหรูที่ญี่ปุ่น ทำงานไม่กี่ชั่วโมงรับเงินหลักแสน เคยรู้สึกบ้างไหมว่าเรื่องทำนองนี้ยังคงขายได้ แม้ว่าเราจะเห็นบทเรียนกันนักต่อนัก

เสาวคนธ์ ศิรกิดากร นักจิตวิทยาวิเคราะห์แนวคาร์ล จุง ผู้ก่อตั้งสมาคมจิตวิเคราะห์แนวคาร์ล จุง แห่งประเทศไทย บอกว่า จะวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ต้องใช้หลักจิตวิทยาสังคม (Social psychology) เพราะการหลอกลวงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้คือการใช้วิธี “จิตวิทยากลุ่ม” เหตุเพราะข้อเสนอที่ดูไม่สมเหตุสมผลมักทำอะไรไม่ได้กับการสื่อสารแบบ 1ต่อ1 ซึ่งมนุษย์มีกลไกสมองและวิจารณญาณ ควบคุมอยู่

“ยกตัวอย่างว่าถ้ามิจฉาชีพเข้ามาหลอกขายทัวร์กับเรา แบบ ตัวต่อตัว บอกราคาถูกๆ มาแล้วบอกจะได้ไปเที่ยวหรูๆ จะมี Inner voice (เสียงจากภายใน) บอกเราทันทีเลยว่ามันไม่จริง ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะระบบการคิดของเรายังทำงานอยู่”

ทว่า พอใช้วิธีการนี้เข้ากับ พฤติกรรมร่วมหมู่ และวิถีของโลกโซเชี่ยล มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Reason of unreason (เหตุผลของการไร้เหตุผล) ซึ่งจะตอบคำถามได้

 1.มันเป็นเพราะพวกเขานำหลักการการสร้างตัวอย่างให้เห็น (Conception) ด้วยการนำภาพ นำกลุ่มคนที่ได้ไปเที่ยว กลุ่มที่ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจมาแสดงให้เห็น เพื่อเป็นหลักฐานให้เหยื่อเห็นว่า ความสำเร็จที่ว่ามีตัวตนจริงๆ และใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ (อย่ารอช้า อยากรวยแบบนี้มาร่วมกับเราเถอะ)

2. นี่คือธรรมชาติที่ว่า เมื่อใดที่มีการตัดสินใจกลุ่ม จะทำให้การมองด้วยเหตุผลมีประสิทธิภาพแบบที่เราเคยมี “ลดน้อยลง” นั่นเพราะว่า เราได้เห็นผู้อื่นที่ตัดสินใจเหมือนเรา และสร้างความคิดขึ้นมาว่า “หากไม่ดีจริง คนเขาคงไม่มากัน” ไม่ต่างอะไรจากร้านอาหารที่มีคนเยอะๆ ภายในร้าน ซึ่งสร้างแรงดึงดูดให้อยากเข้าไปลิ้มลองแก่ผู้พบเห็น

3.ถึงเวลาต้องกลับมามองตัวเองแล้วว่า เราเป็นพวก Over Confidence (ความมั่นใจสูงเกินไป) หรือไม่ เรื่องนี้ตอบคำถามได้ว่าทำไมผู้ทีมีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้วยังโดนหลอกอยู่ นั่นเป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นคิดว่าตัวเองจัดการได้ เอาอยู่ ในกรณีนี้ยังหมายถึงการถูกคำพูดเชื้อเชิญที่ท้าทาย จนทำให้เรารู้สึกว่า มันดูเป็นความไม่ฉลาด ไม่ cool (เจ๋ง, เท่) ในสายตาผู้อื่นหากเรามองข้ามโอกาสนี้ไป

4.นี่คือการนำหลักของ Success Factor (ปัจจัยแห่งความสำเร็จ) มาเล่นกับ “หัวใจ”ของผู้คน มันปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละคนล้วนมีความอยาก ความขาด และความใฝ่ฝันที่ต่างกัน บางคนอยากรวย อยากสวย อยากไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก อยากได้ไปเที่ยวพร้อมหน้ากับครอบครัว ฯลฯ ปัจจัยที่ขาดหายเหล่านี้จะถูกนำมาเป็น‘เบ็ด’ เพื่อล่อเราให้ไปติดกับ

“เขาเอาความหิว เอาสิ่งที่ขาดมาหลอกล่อ บางคนมีเงินอยู่แล้ว ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว เขาจะเอาปัจจัยที่เราขาด เอาสิ่งที่เป็นความฝันมาล่อเรา ยกตัวอย่างกรณีไปเที่ยวญี่ปุ่นซึ่งมีคนถูกหลอกนับพันคน มีคนที่มีการศึกษา มีฐานะ ที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อให้คนในครอบครัวไปเที่ยวมีความสุขพร้อมหน้ากันสักครั้ง แม้จะรู้ว่าข้อเสนอที่ได้รับมันฟังดูแปลกๆ” เสาวคนธ์ บอก

ส่วนข้อที่ 5. คือการเชื่อมต่อกับสังคมพหุวัฒนธรรมแบบสังคมไทย แน่นอนว่าเมื่ออยู่ตัวคนเดียวเราอาจมองออก- คิดได้ และปฏิเสธเป็น แต่เมื่อขบวนการได้เชื่อมต่อไปกับญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงานแล้ว เราก็ยิ่งปักใจเชื่อเพราะทั้งหมดมันออกจากคนใกล้ชิด แม้กระทั่งการใช้ Influencer (ผู้นำทางความคิด) เข้ามาร่วมด้วยก็ทำให้ดูน่าเชื่อถือ ทำให้เหยื่อได้เปลี่ยนจากผู้มีวิจารณญาณ เป็นผู้คิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว และเสียรู้ในที่สุด

“ถ้ามองเป็นหลักจิตวิทยาสังคม ทั้งหมดคือวิธีการที่เขามาใช้เชื่อมโยงกัน เพื่อให้คนเชื่อและเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด การตกเป็นเหยื่อจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาหรือฐานะ ความรวยหรือจน แต่เป็นเพราะเราถูกทำให้เชื่อด้วยการโน้มน้าวแบบนั้น และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเรารู้ทั้งรู้ว่า การเชื้อเชิญมันฟังดูแปลกๆ ไม่น่าไว้ใจ แต่ก็ยังหลงไปติดกับ”

 

รู้ทันแชร์ลุกโซ่

หากตั้งคำถามว่าวิธีการใดที่คนไทยติดลำดับถูกโกงมาเป็นลำดับแรกๆ เชื่อว่าต้องมีแชร์ลูกโซ่อยู่ในนั้น นี่คือเรื่องที่คนไทยคุ้นเคยมานาน แต่ไม่วายการถูกหลอกยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เคยมีการถอดรหัสและรวบรวมกลเม็ดที่ขบวนการแชร์ลูกโซ่ใช้ได้ผลในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ขบวนการเหล่านั้นมักแอบอ้างชื่อผู้มีอิทธิพล ผู้มีชื่อเสียงให้คล้อยตามว่าน่าลงทุน เป็นหนทางไปสู่ความรวย การใช้โซเชียลมีเดียชักจูงให้คนมาร่วมสมัคร การขายฝันระดมทุนตั้งบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ การใช้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเกษตรเป็นตัวล่อ กระทั่งการใช้การทำบุญ การฌาปนกิจเป็นตัวดึงดูด

นี่ไม่ใช่แค่การล่อลวงธรรมดาๆ แต่คืออาชญากรรมแบบ White Collar ที่ทำให้ใครต่อใครต่างถูกหลอกกันทั่วหน้า สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย บอกว่า ผู้เสียหายสามารถแบ่งได้ทั้งในระดับบน อาทิ ผู้มีชื่อเสียง คนดัง ซึ่งอาจไม่ได้สูญเสียเงินไปกับการลงทุนแต่ถูกอ้างชื่อ ถูกสร้างภาพ และร่วมเป็นขบวนการไปกับชั้นเชิงการโฆษณา

กับผู้เสียหายระดับล่าง ซึ่งคล้อยตามสมัครเป็นสมาชิกและต้องเสียทรัพย์เพราะเห็นคนกลุ่มแรกสมัคร ก่อนจะถูกโกง เสียรู้ ก่อหนี้สินโดยที่ไม่ได้ผลกำไรดั่งที่คาดหวัง

รู้ทั้งรู้ว่าคำเชิญชวนนั้นไม่เข้าท่า แต่ทำไมคนยังถูกหลอก ?

สามารถ  บอกว่า ขบวนการเหล่านั้นปรับรูปแบบไปตามความเป็นไปทางสังคม มีการเลือกและโฟกัสกรุ๊ปเหยื่อมาแล้ว ว่าวิธีการแบบไหนเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร

อาทิ ในกลุ่มคนรวยก็เชิญชวนให้ร่วมหุ้นกันทำธุรกิจที่มีอนาคต เช่น พาไปดูเหมืองทองคำที่ต่างประเทศ เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ส่วนกลุ่มคนในท้องถิ่นก็จะเชื่อมโยงกับการทำการฌาปนกิจสงเคราะห์ กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ชุมชน ส่วนถ้าเป็นกลุ่มนักศึกษา วัยทำงานก็จะเชื่อมต่อกับการลงทุนหุ้น forex การให้ผลิตภัณฑ์มาใช้ แล้วอ้างว่าแค่ได้ผลิตภัณฑ์ก็คุ้มกับค่าสมัครที่เสียไปแล้ว

“อย่าคิดว่าแชร์ลูกโซ่จะมีแค่เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะระหว่างที่สังคมรู้ทันและจับทางได้ คนพวกนี้ก็จะเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยน Content ไปเรื่อยๆ เพราะเขาโฟกัสกรุ๊ปมาแล้วว่าใครเหมาะสมกับรูปแบบไหน ซึ่งทำให้คนตามไม่ทัน”

 

โลกออนไลน์ โกง on time

หัวใจของการโกงจึงมีแค่หลักการเดียว แต่กลเม็ดที่จะเด็ดเงินออกจากกระเป๋ามีมากโข ซึ่งผู้สันทัดกรณีตั้งข้อสงสัยว่า ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียคือปัจจัยสำคัญมากๆ ที่ทำให้ขบวนการโกงใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น และขยายขบวนการได้รวดเร็วมากขึ้น

“ถ้าเป็นแชร์แม่ชะม้อยแต่เดิมก็ต้องใช้เวลาที่จะชักจูงคนมาเข้าเครือข่าย หรือถ้าจะขายผลิตภัณฑ์ก็ต้องส่งคนไปหาลูกข่าย ไปหาลูกค้า กว่าจะสมาชิกหลักร้อย หลักพันคนยิ่งต้องใช้เวลา แต่เมื่อมีเฟซบุ๊ค เราเห็นคนขับรถหรู เห็นคนเขารวยเร็วๆ เราก็อยากรวยบ้าง มันจึงง่ายที่เราจะแกว่ง สติหลุดชั่วคราว แล้วร่วมไปกับเขา” อดีตผู้สมัครเครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคนหนึ่งบอก

รู้นะว่ามันเจ็บ และบางคนสถานะการเงินถึงกับเกือบ “จบ” เพราะเงินที่เสียไปก็มิใช่ตัวเลขน้อยๆ แต่ถึงเช่นนั้น ประสบการณ์ของคุณล้วนมีคุณค่า ดังนั้นหากถูกโกงแล้วก็ต้องหาช่องร้องเรียนเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่นๆ ที่อาจตกเป็นเหยื่อ

   สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค บอกว่า ต้องชื่นชมกับกลุ่มผู้เสียหายที่ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้อื่นได้รู้ เพราะถ้ายังเหนียมอายบทเรียนที่ได้รับก็ได้ถูกส่งต่อ และจะเกิดกรณีใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ

กรณีการถูกหลอกลวงนี้สามารถโทรเข้ามาร้องเรียนพร้อมส่งหลักฐานได้ที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค หรือสายด่วน 1212 ในกรณีที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดอันจะจัดการกับเรื่องเหล่านี้คือ ระบบการศึกษาและคนในสังคมเองที่ต้องมีสร้างทักษะการใช้วิจารณญาณ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งใดควรเชื่อหรือไม่

“หลักๆ ของการโกงยังไม่เปลี่ยน คือจ่ายเงินไปแล้วไม่ได้ของ หรือได้ของก็ไม่ตรงกับที่โฆษณา นั้นคือเนื้อหาของมัน แต่รูปแบบของมันได้ถูกเปลี่ยน และปัจจุบันนี้รูปแบบของการล่อลวงในออนไลน์คือช่องทางลำดับแรกๆ โดยจากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิฯ ในปีที่ผ่านมาพบว่า มีการร้องเรียนที่มาจากช่องทางออนไลน์โดยตรงกว่า 400 กรณีจากจำนวน 3,622 ที่ถูกร้องเรียนขึ้นมา”

จึงเป็นโลกออนไลน์นี่แหละ ที่เป็นช่องให้เกิดการโกงแบบ On time คือโกงได้ทันเวลา ทันกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ผู้คนเจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่า และขอย้ำอีกครั้งว่า ถึงจะการศึกษาดี โปรไฟล์เด่น ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีโอกาสที่จะถูกหลอก เห็นเอาจากบรรดาเหยื่อที่แม้จะเพียบพร้อม และรู้ทั้งรู้ว่าข้อเสนอฟังดูไม่เข้าท่าแต่ก็ยังห้ามใจไปเข้าร่วมไม่ได้

เรื่องหลอกๆ บอกแล้วไม่เชื่อ

 

 รู้ไว้ ก่อนตกไปเป็นเหยื่อ

1.ในหลักจิตวิทยา กลุ่มคนเหล่านี้มีความสามารถที่จะรู้ถึงความฝันของคุณ พวกเขาจะศึกษากลุ่มเป้าหมาย (Target) หาความต้องการ และใช้มันออกแบบวิธีการที่จะล่อลวงให้คุณเข้าไปติดกับ

2.มันคือหลักการ External pressure (การกดดันจากภายนอก) ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมมากดดัน และโน้มน้าวให้คุณสนใจในที่สุด ลองคิดถึงกรณีที่คนรักพูดทุกๆวัน ว่าอยากไปเที่ยวต่างประเทศกับทัวร์กลุ่มนี้ อยากไปกันแบบพร้อมหน้า (เพราะเพื่อนๆ ก็ไปกัน) แม้ว่าคุณจะมองไม่เข้าท่าในทีแรก แต่สุดท้ายก็ยอม “ใจอ่อน” เพราะคุณไม่อยากจะโต้เถียงกับเธอให้เสียบรรยากาศครอบครัว

3.เข้าใจหลักการลบจุดอ่อนด้วยการเปลี่ยนเรื่อง เพราะเมื่ออธิบายเรื่องความสมเหตุสมผลของธุรกิจหรือราคาไม่ได้ พวกเขามักใช้เรื่องอื่นเพื่อเปลี่ยนความสนใจ อาทิ รูปถ่ายกับคนดัง การแสดงว่ารู้จักกับคนมีชื่อเสียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ เหมือนกับกรณีไปร้านอาหารแล้วเจอรูปถ่ายคนดังมารับประทาน มันยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นว่าร้านนี้ต้องอร่อยแน่ๆ