บริษัทในไทยได้ประโยชน์ ลงทุนด้าน ‘ซิเคียวริตี้’

บริษัทในไทยได้ประโยชน์ ลงทุนด้าน ‘ซิเคียวริตี้’

ซีเอ ชี้บริษัทในไทยเริ่มเห็นผลการปรับปรุงจากตัวชี้วัดเคพีไอทางธุรกิจ จากการลงทุนไอทีโดยเฉพาะในด้านซิเคียวริตี้ ขณะที่ มีข้อมูลบ่งชี้ว่ายอดการเจาะระบบข้อมูลลดลง

ผลสำรวจล่าสุดด้านการรักษาความปลอดภัยในยุคเศรษฐกิจแอพพลิเคชั่น ของบริษัท ซีเอ เทคโนโลยี ชี้ให้เห็นว่า หลายบริษัทในไทยกำลังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนด้านไอที โดยพิสูจน์ให้เห็นทั้งในด้านตัวชี้วัดเคพีไอทางธุรกิจ ไปจนถึงยอดการเจาะระบบที่ลดลง

ครั้งนี้ เป็นการสอบถามผู้บริหารระดับสูงทางธุรกิจตลอดจนผู้บริหารด้านไอทีจำนวนกว่า 1770 ราย มีทั้งที่เป็นซีเอสโอ และซีไอโออยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น รวมทั้งในไทย แบบสำรวจนี้สอบถามว่า ผู้ตอบมีทัศนคติอย่างไร ในด้านการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยไอทีและผลกระทบที่มีต่อตัวธุรกิจ

กรณีในไทยพบว่า ได้ปรับปรุงพัฒนาที่มีผลต่อตัวชี้วัดเคพีไอทางธุรกิจ เป็นผลจากการริเริ่มและการรักษาความปลอดภัยใหม่ๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและญี่ปุ่นโดยรวม

นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัทในไทย ที่ระบุว่า มีปัญหาการเจาะระบบรักษาความปลอดภัยไอทีมีจำนวนน้อยลง ซึ่งตรงนี้ เป็นค่าเฉลี่ยที่ดีกว่าภาพรวมของภูมิภาค โดยมีบริษัทในไทย 56% ที่กล่าวว่า พบปัญหาการละเมิดการรักษาความปลอดภัยน้อยลง ซึ่ง เป็นค่าตัวเลขที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย 42% ของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น

ผลตอบแทนที่ได้รับ สะท้อนว่า การรักษาความปลอดภัยไอทีควรเป็นรูปแบบใด โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยที่เน้นระบบไอดีีที่มีอยู่ ต้องมีศักยภาพทำได้มากกว่าการปกป้องตัวธุรกิจในสภาพการใช้งานปัจจุบัน ต้องมีขีดความสามารถสร้างความไว้วางใจในด้านความสัมพันธ์แบบดิจิทัลกับผู้ใช้งานและลูกค้า ซึ่งจำเป็นสำหรับการแข่งขันยุคเศรษฐกิจแอพพลิเคชั่นและการขยายตัวทางธุรกิจในไทย

มี 93% ซึ่งจัดว่าสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและสูงสุดในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกระบุว่า การรักษาความปลอดภัยที่เน้นด้านไอทีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างช่องทางในการติดต่อที่มีความปลอดภัยสำหรับพนักงาน ลูกค้าและพาร์ทเนอร์ ไม่ว่า จะอยู่ที่ไหนหรือใช้ผ่านอุปกรณ์อะไร พร้อมทั้งเห็นว่า การรักษาความปลอดภัยจำเป็นต้องใช้งานได้สะดวก และไม่สร้างภาระให้กับยูสเซอร์ผู้ใช้งาน 

ทั้งจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่าง การรักษาความปลอดภัยที่เข้มแข็ง กับการปรับตัวที่จะต้องให้ธุรกิจของตนเข้าสู่ตลาดใหม่และนำเสนอเซอร์วิสใหม่ได้สะดวกด้วย โดย 92% ระบุว่าการรักษาความปลอดภัยจำเป็นอย่างยิ่งในการปกป้องแบรนด์ของตัวเอง และมองว่าเป็นตัวชี้ขาดที่สร้างความแตกต่างการแข่งขันทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีมากกว่า 75% ใช้ตัวชี้วัดต่างๆ เช่น การเข้าถึงทางดิจิทัล การเติบโตทางธุรกิจ ความพึงพอใจของลูกค้า การรักษาฐานลูกค้า การจ้างพนักงาน และการรักษาตัวพนักงานที่มีความสามารถ ตลอดจนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและกระบวนการทำงาน

“บริษัทในไทยแสดงให้เห็น วิสัยทัศน์ที่ยาวไกลในการใช้การรักษาความปลอดภัยไอที มาเพื่อหนุน เป้าหมายทางธุรกิจ และได้ส่งผลตอบแทนกลับมาในรูปของการพัฒนาตัวชี้วัด เคพีไอทางธุรกิจที่ดีขึ้น” นาย นิค ลิม รองประธานฝ่ายอาเซียนและจีน บริษัทซีเอ เทคโนโลยี กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันเรากำลังใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในยุคดิจิทัล เป็นยุคที่ผู้บริโภครอบรู้และคาดหวังมากขึ้นว่า ข้อมูลสำคัญส่วนบุคคลของตัวเองที่ให้ไว้กับบริษัทจะถูกบริหารจัดการในรูปแบบใด ถ้าจะบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้สำเร็จ บริษัทต้องมีพื้นฐานการรักษาความปลอดภัยเป็นหลักเพื่อสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า

สำหรับกรณีการเจาะระบบข้อมูล บริษัทที่ใช้ระบบรักษาความปลอดภัยที่เน้นไอดีขั้นสูง ระบุว่ามีการลดลงของการเจาะระบบ ถึง 35% ขณะที่บริษัทที่ใช้งานระดับพื้นฐานมีการปรับปรุงในเรื่องนี้ดีขึ้นเพียง 12% เท่านั้น