ชงใช้ ม. 44 ออกกม.หลักประกันใหม่

ชงใช้ ม. 44 ออกกม.หลักประกันใหม่

"อภิศักดิ์" ระบุบอร์ดพิจารณาเพิ่มความสะดวกทำธุรกิจเตรียมเสนอรัฐบาลใช้มาตรา 44 ออกกม.หลักประกันทางธุรกิจใหม่ หลังธนาคารโลกชี้กม.ฉบับเก่าเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ

แม้ว่าธนาคารโลกได้รายงาน Doing Business 2017 หรือ“ความยากง่ายทำธุรกิจ” เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2559 โดยปรับเพิ่มอันดับความยากง่ายการทำธุรกิจในไทยขึ้น 3 อันดับจาก 49 มาอยู่ที่อันดับ 46 แต่ในมุมมองของรัฐบาลเห็นว่า อันดับความยากง่ายการทำธุรกิจของไทยน่าจะดีกว่านี้ โดยได้ว่าจ้างธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อจะช่วยปรับปรุงและแก้ไขอุปสรรค

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ หรือ Doing Business ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ขณะนี้ ทุกหน่วยงานพยายามแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ของการทำธุรกิจในไทยในดีขึ้นซึ่งการแก้ไขก็เป็นที่น่าพอใจ และทำให้เชื่อว่า ไทยจะได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยธนาคารโลกจะเข้ามาประเมินภาพรวมเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจในไทยช่วงเดือน พ.ค.นี้ และ จะประกาศผลการประเมินในช่วงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ ไทยได้ว่างจ้างให้ธนาคารโลกเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาที่จะช่วยให้การทำธุรกิจในไทยมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ ทีมที่ปรึกษาดังกล่าวได้เสนอให้ไทยยกเลิกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่ถือว่า ยังเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจอยู่มาก และเสนอให้ยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้เป็นมาตรฐานสากล

สาเหตุที่เสนอให้มีการยกร่างกฎหมายใหม่แทนที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายฉบับเดิม เพราะเห็นว่า การปรับปรุงกฎหมายอาจจะไม่ครอบคลุม ซึ่งที่ผ่านมา ก็พยายามจะดำเนินการในลักษณะนี้ แต่ก็เป็นเพียงการปะผุกฎหมายเท่านั้น

เร่งออกก.ม.ใหม่ภายใน 20 วัน

“ทางธนาคารโลกเสนอที่จะใช้เวลายกร่างกฎหมายใหม่ใน 30 วัน แต่ที่ประชุมเห็นว่า ควรใช้เวลาสั้นกว่านั้น โดยให้เหลือ 20 วัน ซึ่งธนาคารโลกก็รับปากว่า จะดำเนินการให้ เพราะมีรูปแบบของร่างที่เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว และ เพื่อให้ร่างกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ได้ทันท่วงที ก็อาจจะมีการนำมาตรา 44 ออกมาบังคับใช้ ซึ่งผมมองว่า ถ้ามีกฎหมายใหม่ การทำธุรกิจก็จะดี และ เรตติ้งของประเทศก็จะดีขึ้นด้วย”

ทั้งนี้ มาตรฐานสากลสำหรับการบังคับหลักประกัน คือ จะกำหนดหลักประกันที่ครอบคลุมมากขึ้น จากกฎหมายปัจจุบันที่ใช้ฐานทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันเท่านั้น อาทิ มาตรฐานสากลจะใช้ธุรกรรมการค้ามาเป็นหลักประกันได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ มาตรฐานสากลของการบังคับหลักประกัน ยังจะมีการรวมศูนย์การบังคับหลักประกันอยู่ในที่เดียว แต่ของไทยนั้น กระจายไปยังหลายหน่วยงาน ทำให้ยากและใช้เวลาในการบังคับหลักประกัน

“วันนี้ มีเรื่องหนึ่งที่พูดถึง คือ เรื่องหลักประกันทางธุรกิจ เขาบอกกฎหมายเราทำมานาน ยึดหลักประกันสินทรัพย์มาจำนองเขาก็พยายามแก้แต่ละข้อ ผลปรากฏว่า ยังไม่ถึงมาตรฐานสากล ซึ่งสมัยใหม่จะยึดรายการธุรกรรมมาเป็นหลักประกันด้วย และหลักประกันทั้งหมดต้องรวมที่เดียวกัน ก็เสนอให้ยกร่างกฎหมายใหม่ เขาบอกว่า ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะเข้าสู่มาตรฐาน เพราะขณะนี้ ประเทศอื่นข้างๆ เรา คะแนนในเรื่องนี้สูงกว่าเรา เขาก็แนะนำให้ทำใหม่และยกเลิกอันเก่า”

ประชุมเวิลด์แบงก์ชี้ระบุ ศก.โลกดีขึ้น

นายอภิศักดิ์ ยังกล่าวถึง การประชุมธนาคารโลกที่ประเทศสหรัฐว่า ขณะนี้ ทั่วโลก รวมถึง ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว โดยกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้สูง

ขณะเดียวกัน สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ก็ประเมินว่า ประเทศตัวเองจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ก็เชื่อว่า การค้าขายและส่งออกสินค้าของไทยจะดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้พูดถึงปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายของประเทศขนาดใหญ่ และ ปัญหาความไม่มั่นคง ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ยังไม่พ้นรอบของการฟื้นตัวของราคา

วิตกสังคมสูงอายุปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงอายุของหลายประเทศ รวมถึง ประเทศไทย ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง โดยกรณีของไทยนั้น ขณะนี้ รายได้ยังไม่สูงเพียงพอ แต่ที่ประชุมไม่ได้บอกว่า ไทยจะต้องทำอย่างไรก็ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ต้องรับมาดู

ขณะที่ นายสมคิดให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ได้มอบหมายให้นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) รวบรวมปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุปสรรคในการทำธุรกิจ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.)ช่วยเร่งรัด เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนที่ธนาคารโลกจะเดินทางเข้ามาสำรวจข้อมูลเพื่อจัดอันดับประเทศไทย ในเดือน พ.ค.นี้

สำหรับปัญหาการอำนวยความสะดวกที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งกระบวนการกฎหมายมีขั้นตอน เช่น เสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับมาคณะรัฐมนตรี กว่ากฎหมายจะออก ฉะนั้น จึงต้องรวมเป็นแพ็คเกจ เช่น กรณีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมก็ต้องหาวิธีเร่งรัด บางเรื่องแก้ได้ไม่ยาก ก็หารือในป.ย.ป.เช่น บอกว่า อยากแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ต่อไป ไม่ต้องส่งข้อบังคับการทำงานแล้ว ก็น่าจะแก้ได้เร็ว เพราะถ้าปล่อยกระบวนการตามปกติจะใช้เวลา

ไทยรั้งอันดับ 46 สะดวกทำธุรกิจ

ขณะที่ ปลายปีที่ผ่านมา ธนาคารโลก ได้รายงานผลการวิจัยประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ ประจำปี 2560 โดยไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 46 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่อยู่ลำดับที่ 49 จาก 190 ประเทศทั่วโลก มีผลคะแนนรวมทุกด้านที่ 72.53 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 71.65 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

หากพิจารณาเฉพาะประเทศอาเซียน ไทยมีความสะดวกในการประกอบธุรกิจเป็นลำดับ 3 รองจาก สิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 23 ของโลก ส่วนลำดับที่ 4-10 ได้แก่ บรูไนดาลุสซาลาม อันดับ 72 เวียดนาม อันดับ 82 อินโดนีเซีย อันดับ 91 ฟิลิปปินส์ อันดับ 99 กัมพูชา อันดับ 131 ลาว อันดับ 139 และสองอันดับสุดท้าย คือ เมียนมา อันดับ 170 และติมอร์ เลสเต อันดับ 175