ถกร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง แขวนค่าสมาชิก100บาท

ถกร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง แขวนค่าสมาชิก100บาท

กมธ.พรรคการเมือง สนช. ถกร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองไปแล้ว 15 มาตรา แขวนค่าสมาชิก 100 บาท - ดันตั้งจริยธรรมกก.บห.เท่าศาลรธน. ยันไม่เซตซีโร่พรรคการเมือง

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงผลการประชุมว่า ที่กมธ.จะมีการประชุมวันละ3 ครั้งต่อสัปดาห์ ได้แก่ วันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ ซึ่งล่าสุดคณะกมธ.วิสามัญฯได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 15 มาตรา โดยมีการรอการพิจารณาหรือแขวนไว้จำนวน 3 มาตรา คือ 1.ที่ประชุมกำหนดให้ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยกร่างคำนิยามความหมายของพรรคการเมือง เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าในร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับเดิมไม่เคยมีการกำหนดนิยามดังกล่าวมาก่อน ดังนั้น หากมีการกำหนดนิยามพรรคการเมืองจะทำให้ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองมีความสมบูรณ์มากขึ้น 2.เรื่องทุนประเดิมการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ในร่างกฎหมายกำหนดให้ต้องมีอย่างน้อย 1 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าทำไมต้องมีการกำหนดทุนประเดิม จึงขอให้รอการพิจารณาไว้ก่อน

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า 3. ในมาตรา 15 ซึ่งมีหลายประเด็นที่กมธ.ยังไม่มีข้อสรุป อาทิ การกำหนดมาตรฐานจริยธรรม โดยที่ประชุมเห็นว่าควรมีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมือง โดยยึดโยงกับมาตรฐานจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระและ สส. สว. รวมไปถึงคณะรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะกรรมการบริหารพรรคการเมืองถือเป็นส่วนสำคัญของการเข้ามาสู่ตำแหน่งทางการเมืองที่สูงขึ้น จึงควรมีจริยธรรมและบทลงโทษที่เข้มงวดกว่าสมาชิกพรรคการเมืองและบุคคลทั่วไป

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังไม่สรุปว่าจะกำหนดให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาทและกำหนดให้จ่ายค่าสมาชิกแบบตลอดชีพไม่น้อยกว่า 2,000 บาทหรือไม่ เนื่องจากที่ประชุมมีความคิดเห็นแตกออกเป็นสองส่วน โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่ควรจะเก็บ แต่อีกส่วนเห็นว่าจำนวนเงิน 100 บาทเพราะไม่ได้เป็นเงินจำนวนมากแต่อย่างใด เช่นเดียวกับ ในเรื่องการคัดเลือกสมาชิกพรรคเพื่อเข้าสมัครเป็นสส. การคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการจัดทำบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งร่างพ.ร.บ.กำหนดให้พรรคการเมืองต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะเห็นว่ามีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาต่อไป

โฆษกคณะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมวางกรอบการทำงานไว้ว่าร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่มี 142 มาตรา จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จพร้อมกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนนำไปหารือกับสมาชิกสนช.ในการสัมมนานอกสถานที่ของสนช.ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค.ที่จ.จันทบุรี เพื่อที่คณะกมธ.วิสามัญฯจะได้ตอบข้อสงสัยของสมาชิกสนช.ในบางประเด็นได้ จากนั้นที่ประชุมสนช.จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ในวาระที่ 2 และ 3 วันที่ 8 มิ.ย. ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจะพิจารณาวาระที่ 2และ3 ในที่ประชุมสนช.วันที่ 15 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่คณะกมธ.วิสามัญฯพิจารณาผ่านไปแล้ว หากสมาชิกสนช.ยังมีข้อสงสัยก็สามารถนำกลับมาพิจารณาใหม่ได้ แต่ยืนยันจะไม่มีการแก้ไขเนื้อหาเพื่อเซทซีโรพรรคการเมืองอย่างแน่นอน