แกะรอย...ดุหยงทะเลใต้

แกะรอย...ดุหยงทะเลใต้

บางครั้ง ความหมายของการอนุรักษ์ก็ไม่ได้ขีดเส้นใต้เอาไว้ที่ปริมาณที่มีอยู่ แต่อาจหมายถึงความเข้าใจระบบธรรมชาติ เหมือนกลไกการใช้ชีวิตของพะยูนไทยที่มีการศึกษาต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษ

ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เมื่อวิทยุคลื่นสั้นระบุว่า “เป้าหมาย” นั้น อยู่ห่างไม่เกินช่วงแขน

บนเรือหางยาวขนาด 10 ที่นั่งที่ลอยลำอยู่กลางทะเลก็กลายเป็นความโกลาหลขนาดย่อมในทันที บางคนควานหาอุปกรณ์ในกล่องเครื่องมือ หลายคนช่วยกันสอดส่ายสายตาเพื่อชี้เป้า บางคน...กล้องถ่ายภาพในมือกำแน่น ขณะที่อีกสายตามองย้อนไปยังต้นทางสัญญาณที่ส่งมาให้

เพียงเสี้ยววินาที ท้องน้ำกระเพื่อม ตะกอนฝุ่นใต้น้ำก็คลุ้งไปทั่ว เศษใบหญ้า และยอดอ่อนของพืชทะเลบางชนิดพากันลอยขึ้น พร้อมสิ่งที่คนบนเรือเฝ้าคอย ได้ “หาย” ไปแล้ว

“เห็นหลังไวๆ” ใครบางคนว่าอย่างนั้น

ตั้งแต่ออกจากท่า โต้คลื่นผ่านร่องน้ำมายังพื้นที่เป้าหมาย และคอยนานนับชั่วโมง ก็มีครั้งนี้นั่นแหละที่ใกล้เคียงที่สุด

ถ้าจะบอกว่า การทำความเข้าใจธรรมชาติเป็นทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ถึงนาทีนี้อาจจะต้องเพิ่ม “โชค” เข้าไปด้วย สำหรับสัตว์ใหญ่ที่หาตัว “จับยาก” อย่าง “พะยูน” ภารกิจหลักของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันที่ทะเลตรังในการสำรวจประจำปีครั้งนี้

  • ทศวรรษของการเรียนรัก(ษ์)

“คนเรามักพูดถึงตัวเราว่า มันมีความสำคัญอะไรกับเรา” นี่เป็นข้อสังเกตที่ชวนคิดต่ออย่างยิ่งสำหรับ ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เมื่อถูกถามว่าทำไมต้องสำรวจ “พะยูน”

แต่ก่อนจะถึงคำอธิบาย หากย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจพะยูนขึ้นในประเทศไทย การค้นหาตัวพะยูนในท้องทะเลดูจะเป็นเหมือนเป้าหมายที่นักวิชาการพยายามเข้าถึงมาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็นการลงเรือสำรวจ หรือเฝ้าติดตามพฤติกรรมบนที่สูงตามแนวชายฝั่ง แต่ด้วยธรรมชาติของพะยูนเป็นสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยกับคนจึงทำให้การสำรวจทางภาคพื้นนั้น ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การสำรวจทางอากาศ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานสากลในการสำรวจสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้จึงถูกนำมาใช้

จากการเริ่มบินโดยนักวิชาการของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็มีการทดลองกับเครื่องบินแบบต่างๆ เรื่อยมา ตั้งแต่ เฮลิคอปเตอร์ที่เสียงดังเกินไปจนเป็นการรบกวนพะยูน เครื่องบินเล็กขนาด 10 ที่นั่งซึ่งเร็วเกินไป อีกทั้งไม่สามารถลดระดับเพดานบินลงมาเท่าที่ต้องการได้ จนได้มาเริ่มใช้เครื่องไมโครไลท์ (Microlite) เครื่องบินที่มีลักษณะคล้ายเครื่องร่อน มีขนาดเล็ก สามารถขึ้นลงบนชายหาดได้ ทำให้สามารถถ่ายภาพพะยูนไทยได้เป็นครั้งแรก

“ตอนนั้นตื่นเต้นมากกับการได้ภาพพะยูน” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ คนเดิมยอมรับ เมื่อได้ภาพถ่าย โจทย์ต่อมาก็คือ แก้เรื่องความคลาดเคลื่อนในการนับจำนวนที่แท้จริง

จนกระทั่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วจึงได้นำเครื่องบินเล็กขนาด 2 ที่นั่ง ที่มีเพดานบินราว 150 เมตร ซึ่งเหมาะกับการมองเห็นมาใช้สำรวจแทน ไม้บรรทัดของการสำรวจอันใหม่ก็เริ่มใช้ตั้งแต่ตอนนั้น

“เราจะใช้วิธีบินแบบทรานเส็ค (Line-transect survey : การบินแนวเส้นขนาน) จะเป็นการป้องกันการนับซ้ำ และครอบคลุมพื้นที่ ทำให้สามารถนับจำนวนพะยูนได้แน่นอนขึ้น" สิตากาญจน์ ทวิสุวรรณ นักวิชาการประมงที่รับผิดชอบการประสานงานกับทีมเครื่องบินเล็ก อธิบายรายละเอียดในการทำงาน

“ต้องเลือกช่วงน้ำขึ้นสูงสดในรอบวัน ถ้าเช้าจะดีมาก” ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะสภาพอากาศถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสำรวจ และส่งผลต่อการนับจำนวนพะยูนที่อยู่ใต้น้ำทั้งสิ้น

การขึ้นบินแต่ละครั้ง จะมีนักวิจัยทำหน้าที่เป็น “ตาหลัก” ในการถ่ายภาพ ระบุตำแหน่ง จำนวน รูปพรรณสัณฐาน ลงในเครื่องบันทึกเสียง และบันทึกจีพีเอส ร่วมกับนักบินที่เป็น “ผู้ช่วย” นอกจากนี้ บริเวณปีกของเครื่องเองก็จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ระบุพิกัดเพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกแปรผลเป็น แผนที่การบิน ตำแหน่งพะยูนที่พบ รวมทั้งจำนวน เพื่อเทียบเคียงกับ “รายงานเสียง” เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนอีกชั้นหนึ่ง

พื้นที่สำรวจพะยูนส่วนใหญ่ของศูนย์วิจัยฯ นั้นจะอยู่ตามแนวทะเลฝั่งอันดามันใต้ ตั้งแต่ อ่าวพังงา ไล่ลงมาจนถึงบริเวณ เกาะมุก และเกาะลิบง จ.ตรัง โดยภารกิจนี้จะใช้เวลาทั้งสิ้น 2 อาทิตย์สำหรับการสำรวจ ก่อนนำข้อมูลที่ได้กลับไปประมวลผลอีกราว 1-2 สัปดาห์จนได้เป็นรายงานประชากรพะยูนประจำปีออกมา

นอกจาก อาสาสมัครเครื่องบินเล็ก ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้ง 5 ศูนย์แวะเวียนกันมาเป็นแรงงานหลักในการสำรวจแล้ว ก็ยังมีเรื่องของความร่วมมือจากทั้งมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนักวิจัยจากประเทศจีนภายใต้กองทุน The China-ASEAN Maritime Cooperation Fund (MCF) ในการพัฒนาวิธีการสำรวจพะยูน และสัตว์ทะเลหายากให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เหมือนอย่างครั้งนี้ ก็มีการนำเอาโดรนมาใช้ช่วยนับจำนวนพะยูนด้วยเป็นครั้งแรก

  • ตามวัวใต้ท้องเล

“เครื่องบินแจ้งมาว่า รอบๆ เรือของเรา ตอนนี้มีพะยูนรวมฝูงอยู่ครับ” หลังจากได้รับคำยืนยันสิ่งที่ ชินกร ทองไชย นักวิชาการประมงที่รับผิดชอบการใช้โดรนเพื่อบันทึกภาพพะยูนจะต้องทำต่อก็คือ คำนวณพื้นที่การทำงานของการบันทึกภาพในครั้งนี้ให้ดี เพราะนอกจากสภาพอากาศจะเป็นตัวกำหนดผลสำเร็จของภาพที่จะได้แล้ว ยังเป็นความเสี่ยงในการขึ้นบินแต่ละครั้งด้วย

“เคยตกทะเลต่อหน้าต่อตาเลยครับ” เขายืนยัน

ขั้นตอนของการใช้โดรนร่วมสำรวจนั้น จะเริ่มจากเครื่องบินเล็กขึ้นบินสำรวจก่อน เมื่อพบพื้นที่เป้าหมายเครื่องบินนั้นก็จะวิทยุสื่อสารไปยังทีมโดรนให้นำเรือมายังบริเวณดังกล่าว และทำการบินเป็นวงกลมเพื่อแจ้งตำแหน่งให้กับทีมสำรวจบนเรือ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของโดรนในการบันทึกภาพเคลื่อนไหว ก่อนจะนำไฟล์ที่ได้มาแยกจำนวนพะยูนอีกที

“ถึงแดดแรงจนหน้าจอเราอาจจะไม่เห็นอะไรเลย แต่พอโหลดคลิปลงคอมพิวเตอร์เราก็จะสามารถแยกตัวพะยูนออกจากทะเลได้ครับ” ชินกรชี้ให้ดูแสงแดดที่สะท้อนหน้าจออยู่ในตอนนี้

นอกจากการติดตามมุมสูงแล้ว ยังมีการทดลองสำรวจทางเสียงผ่านอุปกรณ์ของ จาง เสวเล่ย (Xuelei ZHANG) นักวิทยาศาสตร์จาก ทบวงกิจการทางมหาสมุทร สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เพื่อนๆ ในทีมต่างเรียกสั้นๆ ว่า “สุเร” มาร่วมด้วย เจ้าตัวยอมรับว่า ในการทำงานเกี่ยวกับพะยูนไทยยังมีรายละเอียดให้เรียนรู้อีกมากมาย การทดลองนี้ก็เพื่อเก็บข้อมูลไปพัฒนาการทำงานของอุปกรณ์ต่อ

อันที่จริง พะยูนกับทะเลไทยนั้นมีความเชื่อมโยงกันมานานแล้ว เห็นได้จากตำนานพื้นบ้านที่ชาวเลเล่าต่อกันมาถึงสามีที่ออกตามหาภรรยาไปยังทุ่งหญ้าชะเงากลางทะเลในคืนเพ็ญ กลับพบเพียงพะยูนตัวหนึ่ง ไปจนถึงคำเรียกพะยูนในสำเนียงต่างๆ

ทั้ง “ดุหยง” ซึ่งแปลว่าหญิงสาว หรือผู้หญิงแห่งท้องทะเลในภาษามลายู “หมูดุด” จากปากคนฟากทะเลเมืองจันท์ แม้กระทั่ง “วัวทะเล” เพราะคล้ายวัวก็มี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนถึงความคุ้นเคยของคนไทยกับพะยูนได้เป็นอย่างดี

แม้กระทั่ง ความเชื่อทางไสยศาสตร์ และตำรับยาแผนโบราณ จนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พะยูนถูกล่า และลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วงในช่วงที่ผ่านมา

“ผมไม่เชื่อว่าปัจจุบันมีการล่าพะยูน อาจจะมีการเสียชีวิตจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ แล้วก็มีการเอาบางส่วนของพะยูนไปใช้มากกว่านะ ไม่ใช่เป็นลักษณะตั้งใจล่า” ก้องเกียรติชวนตั้งข้อสังเกตที่ต่างออกไป

เขายอมรับว่า ครั้งหนึ่งพะยูนในทะเลไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทย ที่มีประชากรพะยูนอยู่ไม่ถึง 20 ตัว หรือฝั่งอันดามันตั้งแต่ระนอง จนถึงสตูล ซึ่งมีประชากรพะยูนอยู่ราว 210 -250 ตัว ก็ตาม

เรื่องนี้ เมื่อย้อนดูรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็จะพบข้อมูลที่ “พ้องกัน” อยู่ เพราะความตายของพะยูนกว่า ร้อยละ 80 นั้นมีสาเหตุมาจาก เครื่องมือประมง เป็นส่วนสำคัญ

อย่างที่ ทะเลตรัง แหล่งรวมพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2555 มีรายงานพบการตายของพะยูนสูงถึง 12 ตัว จนนำไปสู่การคาดการณ์ว่า หากปริมาณการตายยังคงที่อย่างนี้ ในเวลาไม่เกิน 10 ปีพะยูนจะหมดไปจากทะเลตรังอย่างแน่นอน ทำให้ในช่วง 5 ปีหลังมีกระแสการอนุรักษ์พะยูนมากขึ้น ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ดังนั้น ประชากรพะยูนที่เกาะมุก และเกาะลิบง ของทะเลตรังจึงไม่ต่างจากการ “ตรวจการบ้าน” ก่อนประกาศผลสอบประจำปีว่าสิ่งที่ทำกันมานั้น “ผ่าน” หรือ “ตก”

“ปีนี้ เราพบ 169 ตัวครับ” นั่นเป็นผลสำรวจประชากรพะยูนทะเลตรังปีนี้

สำหรับก้องเกียรติต้องถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับจำนวนพะยูน 120 ตัวในรายงานการสำรวจเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่สำคัญ ในปีนี้ ยังพบพะยูนคู่แม่ลูกมากกว่า 10 คู่อีกด้วย

  • เพื่อ'เล เพื่อเรา

จำนวนประชากรพะยูนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ใครหลายคนใจชื้นขึ้นถึงแนวทางการอนุรักษ์ที่น่าจะมาถูกทาง แต่หากลงรายละเอียดก็จะพบ “นัยยะสำคัญ” ของเรื่องนี้เหมือนกัน ข้อสังเกตหนึ่งที่ทีมสำรวจพบก็คือ ปีนี้ไม่มีการพบเป็นฝูงขนาดใหญ่ หรือมากกว่า 30 ตัวเหมือนอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นกลุ่มเล็กลง และมีการกระจายตัวมากกว่าเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น “พิ้นที่หากินของเขาดูเหมือนจะน้อยลงครับ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลที่ถูกประมวลขึ้นมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์

เมื่อเทียบเคียงแผนภูมิการกระจายตัวของประชากรก่อนหน้านี้พบว่า กลุ่มพะยูนจะมีมากบริเวณที่มีการสัญจรทางน้ำต่ำ และพบน้อยบริเวณหน้าหมู่บ้าน นั่นแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางทะเลของคนเราส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้อย่างชัดเจน

“ตัวอย่างชัดเจนสุด คือบริเวณเกาะมุกซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีพะยูนเหลือไม่ถึง 10 ตัว”

เขตอนุรักษ์จึงเป็นทั้ง “โอกาส” และ “ความหวัง” สำหรับก้าวต่อไปของการรักษาพะยูนให้อยู่คู่ท้องทะเลไทย ที่เกาะลิบงจึงมีการกำหนดเขตอนุรักษ์โดยแบ่งเป็น 3 โซนสำคัญ ตั้งแต่แหลมจูโหย ไปจนถึงแหลมปันหยัง ระยะทางราว 3 กิโลเมตรถือเป็น “ไข่แดง” ที่สงวนเอาไว้สำหรับ พะยูน และสัตว์ทะเลเท่านั้น

ทิพย์อุสา แสงสว่าง ที่สวมทั้งหมวกของ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง และชาวเกาะลิบง ยืนยันว่า พื้นที่นี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการจัดเวทีประชาคมร่วมกันทั้งในมิติของประวัติศาสตร์ชุมชน การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ และชุมชน ซึ่งตอนนี้ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ก้าวต่อไปที่เธอหวังก็คือ การสร้างความยั่งยืนผ่านเยาวชนในพื้นที่ที่กำลังรวมกลุ่มกันอย่างขยันขันแข็งในวันนี้

สำหรับความรู้สึกของอาสาสมัครนักบินอย่าง เอ็ดดี้ ลอยกอรี่ (Eddy Loigorri) เขายืนยันว่า เรื่องของการสำรวจเพื่อการอนุรักษ์ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับโลกใบนี้อีกด้วย และนั่นทำให้เขามาช่วยทีมวิจัยบินสำรวจกว่า 10 ปีแล้ว

“คนอาจจะไม่เข้าใจว่ามันสำคัญยังไง อาจจะคิดแค่มันน่ารัก สร้างแลนด์มาร์กการอนุรักษ์ให้กับทะเล แต่จริงๆ พะยูนสำคัญอย่างมากในเชิงระบบนิเวศ” หมอแม็กซ์ - น.สพ.วีรพงษ์ เหล่าเวชประสิทธิ์ จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกที่มาร่วมสำรวจออกความเห็นถึงความสำคัญของภารกิจนี้ นอกจากการทำความเข้าใจเพื่อจะได้ช่วยเหลือพะยูนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว ในแง่ของระบบนิเวศใต้ทะเล การมีอยู่ของพะยูนสำหรับเขาหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำก่อนที่พวกมันจะย้ายไปอยู่ตามแนวปะการัง

“หญ้าทะเลมันก็ไม่เหมือนพืชชนิดอื่น มันต้องการแทะเล็มยอดเพื่อโต ซึ่งจะมีแค่ พะยูน กับเต่าตนุ เท่านั้น ถ้าขาดพวกเขา เราก็ขาดอาหารทะเลด้วย”
สำหรับทิศทางการสำรวจในปีหน้า ก้องเกียรติหวังว่า จะมีความก้าวหน้าจะมาช่วยให้การสำรวจแม่นยำ และชัดเจนขึ้น ทั้งการสำรวจในเวลากลางคืน หรือแม้แต่การให้สีเฉพาะเพื่อแยกพะยูนจากตะกอนใต้ทะเลก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่จะช่วยเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับพะยูนของไทยให้แน่นขึ้นไปอีก

เมื่อการอนุรักษ์ การวัดผลจากตัวเลขอาจเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้ามองในความสมดุลของธรรมชาติแล้ว ที่ว่า ทำไมต้องสำรวจพะยูนก็ไม่จำเป็นต้องสงสัยต่อเลย

“ถ้านิเวศเสื่อมโทรมพะยูนก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เท่านี้ พะยูนก็สำคัญด้วยตัวของเขาเองอยู่แล้วล่ะครับ” ก้องเกียรติขยายความต่อจากคำตอบที่ค้างเอาไว้