สถาบัน 'ซื้อ' หุ้นแอดวานซ์

สถาบัน 'ซื้อ' หุ้นแอดวานซ์

สถาบัน "ซื้อ" หุ้นแอดวานซ์ "สวนทาง" โบรกคาดกำไรวูบ

ราคาหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ADVANC ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 18.03% จากราคา 147 บาทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 173.50 บาท โดยราคาปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 181 บาท

ทั้งนี้ จากสำรวจโครงสร้างผู้ถือหุ้นล่าสุด ณ วันที่ 11 เม.ย. 2560 เทียบกับการปิดสมุดทะเบียนครั้งก่อน ในเดือนก.พ. 2560 พบว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ลงทุนสถาบันไทยและต่างประเทศ ส่วนใหญ่เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นแอดวานซ์ สวนทางกับโบรกเกอร์ที่วิเคราะห์กำไรไตรมาส 1/2560 ลดลง เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายกดดัน

สำหรับสถาบันที่เพิ่มสัดส่วนถือหุ้นแอดวานซ์ ประกอบด้วย สำนักงานประกันสังคม เพิ่มถือหุ้น 18.63 ล้านหุ้น กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ (จีไอซี) 3.20 ล้านหุ้นถือครอง เชส นอมินี ลิมิเต็ด 0.75 ล้านหุ้น สเตรท สตรีท แบงก์ยุโรป 1.16 ล้านหุ้น สเตรท สตรีท แบงก์ แอนด์ ทรัสต์ 1.08 ล้านหุ้น และเอชเอสบีซี (สิงคโปร์นอมินี 0.27 ล้านหุ้น

บล.บัวหลวงประเมินว่า ถึงแม้ว่าจะยังไม่เห็นอัตราการเติบโตของกำไรจากปีก่อนจนกว่าจะถึงครึ่งหลังของปี 2560 เนื่องจากค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ยังคงกดดันผลประกอบการ แต่ก็เห็นพัฒนาการเชิงบวกอื่นๆ ที่ชัดเจนมากขึ้นของADVANC การแข่งขันของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงรุนแรงแต่อัตราการเติบโตของรายได้บริการของ ADVANC กลับมาเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลงครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปอีกในปี 2560 

นอกจากนี้ส่วนแบ่งรายได้บริการของ ADVANC ถ้าเทียบกับทั้งอุตสาหกรรมพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นจากการทำตลาดเชิงรุก ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/2560 ที่ 6.32 พันล้านบาท ลดลง 22%จากปีก่อน หากไม่รวมรายการพิเศษ ซึ่งได้แก่ รายการอัตราแลกเปลี่ยน และผลประโยชน์ทางภาษีจากสินทรัพย์ถาวรบางรายการ ซึ่งกำไรหลักที่ยังคงลดลง เนื่องจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับดีลพันธมิตรของทีโอที และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ซึ่งน่าจะกลบรายได้บริการที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งและค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ลดลง เนื่องจากเงินอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะฉุดกำไรไตรมาส 1/2560 ได้แก่ ค่าตัดจำหน่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซจำนวน 1.2 พันล้านบาทต่อไตรมาส และต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายรอตัดบัญชี (500 ล้านบาทต่อไตรมาส) ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. 2559 ค่าเช่าเสาสัญญาณและอุปกรณ์ของทีโอที (1.4 ล้านบาทต่อไตรมาส) และค่าใช้จ่ายจากการเข้าใช้คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซของทีโอที (975 ล้านบาทต่อไตรมาส) ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. 2559

บล.ทรีนีตี้คาดว่าไตรมาส 1 กำไรสุทธิอยู่ที่ 6,978 ล้านบาท ลดลง 14%จากปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลง ขณะที่ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายยังคงเพิ่มสูง เปิดตัว HBO Package 299 บาทต่อเดือน จะเป็นการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในการนำเสนอลูกค้า และสร้างการ Brand Perception ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิม

บล.ฟิลลิป คาดผลดำเนินงานไตรมาสแรกลดลง 21% จากปีก่อน มาที่ 6.4 พันล้านบาท แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจาก แนวโน้มรายได้หลักจากค่าบริการเพิ่มขึ้นหลังเริ่มให้บริการ 4G ตั้งแต่ปีที่ผ่านมารวมทั้งการขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้นมาครอบคลุมถึง 98% ภายใน 1 ปี โดยคาดรายได้บริการ (ไม่รวม IC) เพิ่มขึ้นใกล้เคียงเป้าหมายหรือสูงขึ้นราว 5%จากปีก่อน มาที่ 31.7. พันล้านบาท