ส่องพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตไทยเกาะติดมือถือ

ส่องพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตไทยเกาะติดมือถือ

การเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการดิจิทัล เพราะผู้ใช้ขยายตัวสู่ผู้บริโภคตลาดแมสทั่วประเทศ

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม(ประเทศไทย) กล่าวว่าการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของ“เอ็มอินเตอร์แอคชั่น” ในปี 2558 ที่สำรวจ New Internet Users ซึ่งเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือในต่างจังหวัด พบว่า 2 ปีก่อนผู้ใช้งานยังมีพฤติกรรมซื้อของด้วยเงินสด ทัศนคติที่มีต่อสมาร์ทโฟนของคนกลุ่มนี้ ต่างจากกลุ่มเมือง โดยไม่มองว่าเป็นสินค้าลักชัวรี ที่่เอาไว้โชว์ แต่เป็นอุปกรณ์สำหรับการใช้งานจริง ส่วนใหญ่ใช้งานพูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อน ผ่านไลน์และเฟซบุ๊ค เสพคอนทนท์บันเทิงทางยูทูบ

ขณะที่ปี 2559 สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่มเดิม คนส่วนใหญ่ของประเทศหรือที่เรียกว่ากลุ่มแมส เริ่มใช้มือถือทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น เช่น การโอนเงิน ใช้เว็บ เสิร์ช เป็นปีที่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ขยายตัวสูง เพราะพฤติกรรมคนไทยต้องการความสะดวกรวดเร็วและรู้สึกว่าการซื้อสินค้าออนไลน์มีโอกาสเปรียบเทียบราคา

ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่าการสำรวจ Internet 360 ซึ่งเป็นงานวิจัยภาพรวมพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทย ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015  โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ในทุกอาชีพ เช่น นักศึกษา แม่บ้าน แม่ค้า ผู้ใหญ่บ้าน อาจารย์มหาลัย ล่าสุดเก็บข้อมูลในเดือน ต.ค. 2559 จำนวน 300 คน ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 2560

พบว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของคนในต่างจังหวัดช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วง 3 ปีที่ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัด มีรูปแบบการใช้งาน“ดิจิทัลเพื่อยกระดับชีวิตที่ดีขึ้น”(Life-improvement Platform)

โดยกลุ่มเกษตรกร ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการขายสินค้า กลุ่มหัตถกรรม ปรับสู่การเป็น เซอร์วิส โปรวายเดอร์ ใช้มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการจองใช้บริการต่างๆ เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร สั่งอาหาร 

ส่วนกลุ่มแรงงานเดิม ได้พัฒนาธุรกิจรูปแบบ e-SMEs เป็นสิ่งที่เกิดการจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและแอพ ที่สามารถเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากฐานะลูกจ้างหรือเข้าสู่ตลาดแรงงานเดิม

 พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย นับตั้งแต่ปี 2558-2560 พบว่าใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นต่อเนื่อง  ปัจจุบันเป็นรูปแบบ Always on mobile หรือพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือตลอดเวลา เรียกว่า “ขาดมือถือไม่ได้” ซึ่งกลายเป็นภาวะปกติของผู้บริโภคในยุคนี้

การใช้อินเทอร์เน็ตในวงกว้างและปริมาณมากขึ้น ทำให้ ดิจิทัล เป็นสื่อที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ตลอดเวลา  พบว่าการใช้ แอพพลิเคชั่น ยอดนิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต มีด้วยการ 6 ประเภท ประกอบด้วย โซเชียล คือ เฟซบุ๊ค,ทวิตเตอร์,ไลน์,แมสเซนเจอร์   แอพบันเทิง  คือ ยูทูบ,ไลน์ทีวี,JOOX   แอพการเงิน คือ KBANK,SCB ,Krungsri ,KTB 

แอพการเดินทาง/ขนส่ง คือ กูเกิล แมพ, เฟซบุ๊ค, แกร็บ,อูเบอร์ แอพชอปปิง คือ ลาซาด้า,ขายดี,ซาโลรา,โลคัล ช็อป  แอพอาหาร  ไลน์แมน,แกร็บ,โลคัล โลจิสติกส์

รูปแบบการใช้เงิน ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต จะใช้บริการทางการเงินผ่านมือถือมากขึ้น ในกลุ่มค้าขาย มีการโอนเงินผ่านแอพ ,รับออเดอร์หรือสั่งจองบริการผ่านไลน์

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สำรวจในปี 2558 เดิมเป็นมองว่า“มือถือ”เป็นอุปกรณ์แบ่งกันใช้งานในครอบครัว แต่ปีนี้ใช้เป็นอุปกรณ์เฉพาะบุคคล สมาชิกในครอบครัวเป็นเจ้าของมือถือคนละเครื่อง และไม่แชร์กันใช้งานอีกต่อไป เป็นรูปแบบการใช้งานส่วนบุคคล