The Sunflowers ประติมากรรมแสงจาก สจล.

The Sunflowers ประติมากรรมแสงจาก สจล.

The Sunflowers ประติมากรรมแสงโดยฝีมือคนไทย สามารถเคลื่อนไหวโบกทักทายและเปล่งแสงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อวดสายตาชาวโลกกว่า 2.3 ล้านคน ในงาน Vivid Sydney2017 ออสเตรเลีย ระยะเวลา 23 คืน 26 พ.ค.-17 มิ.ย.นี้

The Sunflowers ประติมากรรมแสงโดยฝีมือคนไทย สามารถเคลื่อนไหวโบกทักทายและเปล่งแสงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อวดสายตาชาวโลกกว่า 2.3 ล้านคน ในงาน Vivid Sydney2017 ออสเตรเลีย ระยะเวลา 23 คืน 26 พ.ค.-17 มิ.ย.นี้


อีกครั้งที่คนไทยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ด้วยประติมากรรมแสง The Sunflowers หนึ่งเดียวของโลกที่เคลื่อนไหวโบกทักทายและเปล่งแสงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ผลงานโดย 2 นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ บริษัท อองกา อาทฟูล ไลท์ (ONGA Artful Light Co.,Ltd) ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 75 ผลงาน ประเภท Light ซึ่งจะแสดงอวดสายตาชาวโลกกว่า 2.3 ล้านคน ในงาน Vivid Sydney 2017 ซึ่งเป็นมหกรรมเทศกาลแสง เสียง ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ณ ประเทศออสเตรเลีย ระยะเวลา 23 คืน เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2017

งาน Vivid Sydney จัดเป็นครั้งที่ 9 โดย Destination NSW ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและกิจกรรมของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เนรมิตเมืองซิดนีย์ยามค่ำคืนให้กลายเป็นโลกแห่งแฟนตาซีและจินตนาการ ด้วยการใช้แสงและเงาจากการยิงเลเซอร์แบบ 3 มิติ และจัดแสดงผลงานจากนานาชาติตระการตารวมกว่า 300 ผลงาน แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ Light 75 ผลงาน, Music 117 ผลงาน และ Ideas 156 ผลงาน สถานที่จัดงานบริเวณ The Royal Botanic Garden ริมอ่าวซิดนีย์ ใกล้กับซิดนีย์ โอเปร่า เฮ้าส์

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลงานประติมากรรมแสง The Sunflowers มาจากความร่วมมือกับบริษัท อองกา อาทฟูล ไลท์ (ONGA Artful Light Co.,Ltd) ออกแบบโดย คุณดรรชนี องอาจสิริ Creative Lighting Designer พัฒนาสร้างสรรค์และผลิตโดยทีมนักวิจัยจากชุมนุมโรบอต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบด้วย นายเตชินท์ ศิริเตชะวงศ์ นายสมสิน ทองไกรรัตน์ โดยมี ผศ.บุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์ เป็นที่ปรึกษา

The Sunflowers นับเป็นตัวอย่างของการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะประดิษฐ์ กับนวัตกรรมเทคโนโลยี บ้านเรากำลังอยู่ในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการปฎิรูปพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 ที่เชื่อมโยงกับ Internet of Things (IoT) หากเราสามารถนำมาสร้างสีสันและมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เอนเตอร์เทนเม้นท์และบริการที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำรายได้แก่ประเทศให้ยั่งยืน ต้องมุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างการเปลี่ยนแปลง สู่คุณภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมสู่ไทยแลนด์ 4.0 อนาคตเป็นไปได้ที่เราจะจัดงานประติมากรรมแสงขึ้นในประเทศไทย

ผศ.บุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (สารสนเทศ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ผลงานประติมากรรมแสง The Sunflowers ได้รับเลือกแสดงในงานระดับโลกครั้งนี้ ด้วยความโดดเด่น มีความสูง 4 เมตร ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์-อัตโนมัติ วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุและสารสนเทศ ผ่านการทดสอบความทนทานแรงลมสูงสุดได้ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในการพัฒนาเริ่มแรกใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้สมองกลฝังตัวทำงานโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้มีกำหนดการทดสอบระบบ 180 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน, กำหนดการขนส่งทางเรือไปนครซิดนีย์ในวันที่ 20 เมษายน, กำหนดติดตั้งที่ The Royal Botanic Garden เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ในวันที่ 21 - 23 พฤษภาคม และจัดแสดงในงาน Vivid Sydney 2017 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม – 17 มิถุนายน 2560

นายเตชินท์ ศิริเตชะวงศ์ ทีมนักวิจัย นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมการวัดและควบคุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดดอกทานตะวันเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงมิตรภาพ ความสุขและพลังงานบวกที่เรามอบให้เพื่อนมนุษย์และผู้มางานVivid Sydney 2017 ในวัฒนธรรมตะวันออกนั้น ดอกทานตะวัน ยังหมายถึง สติปัญญา ความแข็งแรง ความโชคดีและชีวิตที่ยืนยาวด้วย ธรรมชาติของดอกทานตะวันแปลกกว่าดอกไม้อื่น คือตอบสนองต่อทิศทางแสงแดด หรือที่เรียกว่า Heliotropism จะหันหน้าทางทิศตะวันออกตอนรุ่งสางทักทายกับดวงอาทิตย์ จากนั้นจะค่อย ๆ หันไปทิศตะวันตกตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ผลงานนี้ใช้เวลาทำต้นแบบและผลิตงานจริงรวม 2 เดือน ส่วนประกอบและวัสดุที่ใช้ในผลงาน The Sunflowers กลีบดอกไม้ทำจากวัสดุอะครีลิคซึ่งมีความโปร่งแสงและน้ำหนักเบา โครงสร้างของดอกที่มีการเคลื่อนไหวทำจากสแตนเลส เพื่อความแข็งแรงและความคงทน ส่วนพื้นผิวด้านนอกของลำต้นนั้นเป็นพลาสติกที่สามารถยืดหดได้เมือ่เคลื่อนไหวสะบัดไปมา สำหรับกระถางใช้พลาสวูด (Plaswood) มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงคงทน

นายสมสิน ทองไกรรัตน์ ทีมนักวิจัย นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (สารสนเทศ) กล่าวว่า ฟังก์ชั่นระบบการทำงานของ The Sunflowers ในเวลากลางวันจะโน้มเข้าหาแสงอาทิตย์ซึ่งมีแผงเซลล์รับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์ในระหว่างวันเก็บเอาไว้ในแบตเตอรี่ที่ฝังตัวอยู่ในดอกไม้ ส่วนในเวลากลางคืนจะเปล่งแสง LED สว่างไสวจากพลังงานที่เก็บไว้ นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อนไหวไปมาทักทายผู้มาเยือนงาน Vivid Sydney 2017 ระบบนี้ได้ผสมผสานเทคโนโลยีแสง กับโครงสร้างที่สวยงามและสะท้อนถึงธรรมชาติของดอกทานตะวัน ควบคุมการทำงานของมอเตอร์ด้านในผ่านตัวควบคุมฝังตัวที่ได้ออกแบบโปรแกรมลีลาเคลื่อนไหวที่สวยงามสะดุดตา มีชีวิตชีวา

คุณจาง หมิง ประธานกรรมการ บริษัท อองกา อาทฟูล ไลท์ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีแสงมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการสร้างสรรค์สุนทรียศิลป์ การพัฒนาเมืองและสถาปัตยกรรมต่างๆ ให้งดงามและมีคุณค่า ประหยัดพลังงานและตอบสนองจินตนาการอันไร้ขอบเขต ผลงานประติมากรรมแสง "The Sunflowers" สามารถสร้างความประทับใจและชนะใจคณะกรรมการในรอบ Final List มาครองเป็นผลสำเร็จ นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ โดยฝันให้ไกลและไปให้ถึง การเข้าร่วมงาน Vivid Sydney 2017 เป็นผลดีในการแสดงศักยภาพ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เสริมสร้างประสบการณ์ในเวทีโลก

หลังจากจัดแสดงในงาน Vivid Sydney 2017 แล้ว ผลงานประติมากรรมแสง The Sunflowers จะนำกลับมาประเทศไทยและจัดแสดง ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในเดือนสิงหาคม 2560