กรุงไทยรับปันผล 'เคทีซี' 500ล้าน

กรุงไทยรับปันผล 'เคทีซี' 500ล้าน

กรุงไทยรับปันผล “เคทีซี” 500ล้าน

วันนี้(21เม.ย.) บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC จะขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) เพื่อจ่ายเงินปันผลงวดประจำปี 2559 ที่หุ้นละ 4 บาท ทั้งนี้ในฐานะที่แบงก์กรุงไทย จำกัด (มหาชน)KTB เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือครองหุ้น จำนวน 127.50 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.45% ดังนั้นเงินปันผลรอบนี้แบงก์กรุงไทยจะรับเงินราว 500 ล้านบาท

ช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นแบงก์กรุงไทยปรับตัวลดลงมาหลังจากที่รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ เพราะนักลงทุนกังวลเอ็นพีแอลที่มีโอกาสจะสูงขึ้น โดยราคาหุ้นปรับลงไปมากกว่า 6% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)สูญไป 1.7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่โบรกเกอร์มีมุมมองที่ต่างกัน จากคำแนะนำลงทุนของโบรกเกอร์ 5 แห่ง ประกอบด้วยบล.ทิสโก้,บล.ซีไอเอ็มบี,บล.เคจีไอ(ประเทศไทย),บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส(ประเทศไทย)และบล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)พบว่าส่วนใหญ่ให้ทยอยซื้อและถือลงทุน มีเพียงรายเดียวที่แนะนำให้ขาย

บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย)ระบุว่า แบงก์กรุงไทยรายงานกำไรไตรมาสแรกปีนี้ดีเกินคาด แต่ NPL เพิ่มมากกว่าคาด โดยกำไรสุทธิออกมา 8.5 พันล้านบาท ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยกำไรก่อนสำรองฯ (PPOP) สูงกว่าคาด เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานน้อยกว่าที่ประเมินไว้ และรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตสูง ซึ่งกำไรสุทธิไตรมาสแรกคิดเป็น 28% ของคาดการณ์ทั้งปีของฝ่ายวิจัยประเมิน

ขณะที่NPL ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น เป็นส่วนลูกค้ารายใหญ่และ SME ของบางอุตสาหกรรม ทำให้ NPL Ratio เพิ่มเป็น 4.36% ในสิ้นมี.ค.60 (จาก 3.97% ในสิ้นปี2559) ธนาคารตั้งสำรองฯ พิเศษ 2.5 พันล้านบาท สำรองฯปกติ 3 พันล้านบาท สำรองฯของบริษัทย่อย 2 พันล้านบาทในไตรมาสนี้ (คิดเป็น 1.56% ของสินเชื่อรวม) แต่ Coverage Ratio ลดลงเป็น 112% ในสิ้นมี.ค.60 (จาก 122% ในสิ้นปี 2559) เพราะ NPL เพิ่มขึ้น แต่เงินกองทุนแข็งแกร่ง โดยมี CAR 16.64% ในสิ้นมี.ค.60 และมี CET1 & Tier1 เท่ากับ 13.01% ธนาคารประกาศจ่ายปันผล 0.86 บาท กำหนด XD 8 พ.ค. ส่วนความเสี่ยงหลัก คือ การตั้งสำรองฯที่อาจจะสูงขึ้นหลัง NPL เพิ่มขึ้นและ NPL Coverage Ratio ลดลงในไตรมาสแรก ขณะที่มีเป้าหมายที่สูงกว่า 100% และใกล้เคียงกับเฉลี่ยของกลุ่มที่ 130-140% อย่างไรก็ดี ธนาคารยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาบรรลุเป้าหมายเอาไว้ แต่คาดว่าน่าจะตั้งสำรองฯเพิ่มอนาคตอันใกล้นี้

บล.ซีไอเอ็มบี ประเมินว่า หุ้นแบงก์กรุงไทย ยังไม่พ้นช่วงเวลาที่เลวร้าย โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าจะมีปัจจัยกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปีนี้