จี้ 'สรรพากร' เก็บภาษีรายใหญ่

จี้ 'สรรพากร' เก็บภาษีรายใหญ่

จี้สรรพากร "เก็บภาษีรายใหญ่" คลังสั่งปิดช่องโหว่เลี่ยงภาษี-แจงผลทุกเดือน สรรพากรยกเหตุผลเศรษฐกิจซบ-บริษัทใหญ่โยกลงทุนนอกที่มีภาษีต่ำกว่า

ปลัดคลังสั่งสรรพากรแจงเหตุเก็บภาษีผู้ประกอบการรายใหญ่ต่ำเป้าตลอด 3-4 ปี โดยให้วิเคราะห์สาเหตุและรายงานผลทุกเดือน พร้อมหาแนวทางปิดช่องโหว่เลี่ยงภาษี ระบุ สัดส่วนรายได้กลุ่มนี้มีถึง 70-80% ของภาษีเงินได้นิติบุคคล หากไม่ได้ตามเป้าจะกระทบภาพรวมจัดเก็บรายได้รัฐบาล

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพากรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยให้จับตาเป็นพิเศษในกลุ่มผู้เสียภาษีรายใหญ่ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจาก พบว่า ระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้ในกลุ่มนี้ มีอัตราต่ำกว่าเป้าหมายมาตลอด ขณะที่สัดส่วนจัดเก็บรายได้ของกลุ่มนี้มีถึง 70-80% ของภาษีเงินได้นิติบุคคล หากจัดเก็บไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็จะกระทบภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล

“ในช่วงที่ผ่านมา ผมก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานกรมจัดเก็บรายได้ไปจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ เพราะเห็นว่า การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บโดยรวมยังต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้ ทุกกรมฯก็เดินหน้าไปตามแผน แต่ในส่วนกรมสรรพากรนั้น ต้องการให้มีการจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ยอดจัดเก็บยังต่ำกว่าเป้าหมายต่อเนื่อง ก็ให้ไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุและให้ปรับปรุงการจัดเก็บ โดยให้รายงานทุกเดือน เริ่มเดือนนี้เป็นเดือนแรก”

นายสมชัยกล่าวว่า แม้กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีระบบบัญชีและการตรวจสอบบัญชีรองรับ แต่ก็อาจจะมีช่องโหว่ที่ทำให้สรรพากรไม่สามารถเข้าจัดเก็บภาษีได้ โดยเฉพาะการทำTransfer Pricing ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูกเพื่อเลี่ยงภาษี ซึ่งกรณีนี้ ต้องการให้กรมฯระมัดระวังให้มาก และรวมถึงการขอคืนภาษีเป็นเท็จ นอกจากนี้ ยังให้จับตากลุ่มธุรกิจที่มีการเลี่ยงภาษีด้วย ซึ่งขณะนี้ ก็ยังพบการทำธุรกรรมที่เลี่ยงภาษี แต่บอกไม่ได้ว่า เป็นกลุ่มธุรกิจใดบ้าง

“พวกธุรกิจรายใหญ่นี้ เราต้องตามให้ทัน เพราะมีช่องทางในการเลี่ยงภาษีอยู่มาก ประเทศใหญ่ๆอย่างอเมริกา หรือ ยุโรป ก็ยังพบการเลี่ยงภาษีกันมาก และต้องระวังในเรื่องการทำTransfer Pricing ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในช่องทางการเลี่ยงภาษีด้วย”

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้รายงานเบื้องต้นถึงสาเหตุของการจัดเก็บที่ต่ำเป้าหมายในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ว่า เป็นผลจากการปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีต่างๆ แต่การที่กรมฯจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้น้อย ได้ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีในกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กดีขึ้น เพราะบริษัทรายใหญ่จะไปซื้อสินค้าจากบริษัทขนาดกลางและเล็ก ทำให้กิจการของรายเล็กดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับลดลง ซึ่งก็จะต้องส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการโดยรวมลดลงด้วยเช่นกัน แต่ราคาขายสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ ไม่ได้ลดลงตามราคาน้ำมัน ฉะนั้น กลุ่มบริษัทเหล่านี้ จะต้องมีส่วนต่างกำไรที่มากขึ้น แล้วเหตุใดการเสียภาษีจึงน้อยลง ดังนั้น ก็ให้ไปวิเคราะห์ในจุดนี้ด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ผลการจัดเก็บรายได้ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลย้อนหลังไป 5 ปี พบว่า มีรายได้อยู่ระหว่าง 5.5-6 แสนล้านบาท ส่วน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รายได้รวม 6.16 แสนล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการ 8.4 พันล้านบาทหรือ1.3%แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.78 หมื่นล้านบาท หรือ 3.0%โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ตํ่ากว่าเป้าหมาย 1.08 หมื่นล้านบาทหรือ3.4%แต่สูงกว่าช่วงเดียวกัน ปีที่แล้ว 2.2%ส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการผลิต

การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 6.37 พันล้านบาทและ 3.2 พันล้านบาท หรือ4.4%และ 2.5%ตามลําดับ และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.8%และ 3.1%ตามลําดับ สะท้อนให้เห็นว่าผลประกอบการของภาคเอกชน และการจ้างงานในตลาดแรงงานยังคงขยายตัวได้ดี

แหล่งข่าวจากกรมสรรพาระบุว่า สาเหตุหลักที่การจัดเก็บภาษีจากธุรกิจขนาดใหญ่ลดลง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจที่ถดถอยและธุรกิจขนาดใหญ่มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปสู่ประเทศที่มีภาระภาษีที่ต่ำกว่า

 นอกจากนั้น การประเมินราคาน้ำมันเพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมฯที่สูงในระดับ60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ ความเป็นจริงอยู่ที่ราว40ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ทำให้รายได้ของกรมฯลดต่ำกว่าเป้าหมาย และมากกว่านั้น ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น แม้เห็นว่าธุรกิจเหล่านี้มีรายได้สูง แต่ก็ได้รับการยกเว้นภาษีจากบีโอไอ ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีจำนวนประมาณ 3,500 ราย โดยเป็นกิจการที่มีรายได้เกิน 2 พันล้านบาทขึ้นไป