การเมืองโลกป่วน 'ค่าเงิน'

การเมืองโลกป่วน 'ค่าเงิน'

"แบงก์ชาติ" หวั่นปัญหาการเมืองโลก-กีดกันการค้า กดดันเศรษฐกิจ ป่วนค่าเงิน แนะผู้ประกอบการเร่งทำประกันความเสี่ยง หลังพบมีสัดส่วนต่ำ

ปัญหาการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ในตะวันออกกลางและบริเวณคาบสมุทรเกาหลีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย แม้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพิ่งจะปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เป็น 3.4% จากเดิมที่ 3.2% แต่มองว่าปัญหาดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้น และต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความเสี่ยงที่ยังต้องจับตาดูในขณะนี้ คือ ความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งนโยบายกีดกันการค้าของบางประเทศ ซึ่งพวกนี้ถือเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่า ธปท. เพิ่งจะปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ก็ตาม

โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยจากระดับ 3.2% เป็น 3.4% สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ชัดเจนมากขึ้น

“สถานการณ์การเมืองโลกเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา ยิ่งตอนนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ (ประธานาธิบดีสหรัฐ) กับ คิม จองอึน(ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ) นั่งจ้องตากันอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าใครจะกะพริบตาก่อนกัน สิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจ”

การเมืองโลกป่วนค่าเงิน

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ปัญหาการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั้งในตะวันออกกลางและบริเวณคาบสมุทรเกาหลี ยังสร้างผลกระทบในเรื่องความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วย โดยจะเห็นว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเหล่านี้

นอกจากนี้ ถ้ามองไประยะข้างหน้า แนวโน้มค่าเงินอาจมีความผันผวนที่มากยิ่งขึ้น จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก ให้ความสำคัญกับการดูแลความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(เฮดจิ้ง) ของผู้ประกอบการไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

“ระยะข้างหน้า ความผันผวนจะยิ่งสูงขึ้น จากการทำนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศสำคัญๆ ตลอดจนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลางหรือคาบสมุทรเกาหลี พวกนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้”

จี้เอกชนประกันเสี่ยงค่าเงิน

นายสุโชติ เปี่ยมชล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากการสำรวจของ ธปท. พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 60% โดยเฉพาะรายเล็ก ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้จากความผันผวนของค่าเงิน

โดยจากการเก็บข้อมูลในปี 2558 พบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยง มีสัดส่วน 50% ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง มีสัดส่วนที่ได้ทำประกันความเสี่ยงที่ 59% และผู้ประกอบการรายเล็ก มีสัดส่วนที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงสูงถึง 72%

นอกจากนี้ ในจำนวนดังกล่าวพบว่า ผู้ประกอบการที่ส่งออกเป็นประจำมีเพียง 14% ที่ทำสัญญาขายเงินล่วงหน้า(forward) เพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่มีสัดส่วนที่ 26% ผู้ประกอบการรายกลางมีสัดส่วนที่ 18% และรายเล็กมีสัดส่วนเพียง 9% เท่านั้น

ติงเอกชนหวังเก็งกำไรค่าเงิน

นายสุโชติ กล่าวว่า ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่หวังเก็งกำไรค่าเงินและเลือกที่จะไม่ป้องกันความเสี่ยงทั้งที่มีโอกาสทำได้ แต่จะเร่งป้อนกันความเสี่ยงเมื่อค่าเงินมีความผันผวนไปในทิศทางที่ไม่ต้องการ ซึ่งจะยิ่งกดดันค่าเงินและซ้ำเติมผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น

สาเหตุที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการประกันความเสี่ยงที่น้อย นายวิรไท กล่าวว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการค่อนข้างชะล่าใจ ซึ่งอยากเตือนผู้ประกอบการเหล่านี้ว่า แนวโน้มค่าเงินในระยะข้างหน้าจะมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น

ย้ำเครื่องมือดูแลค่าเงินพร้อม

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า แม้ที่ผ่านมา ธปท. จะเข้าดูแลค่าเงินบ้างเป็นระยะ เพื่อบริหารจัดการไม่ให้ตลาดการเงินมีความผันผวนที่รุนแรง แต่ ธปท. ไม่สามารถจะฝืนทิศทางตลาดได้ ดังนั้นผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องดูแลตัวเองด้วย

ส่วนมาตรการลดซัพพลายของธปท. ด้วยการลดวงเงินประมูลพันธบัตรระยะสั้นลงในรุ่นอายุ 3 เดือนและ 6 เดือน ลงรุ่นละ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถประเมินได้ว่ามีผลมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ ธปท. นำมาใช้ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้า เพื่อหวังใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงิน

ซึ่งนอกจากเครื่องนี้ดังกล่าวแล้ว ธปท. ยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกในการรองรับ ส่วนจะมีการนำมาใช้หรือไม่ ต้องขึ้นกับแต่ละสถานการณ์

นอกจากนี้ นายวิรไท ยังกล่าวยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมามีบ้างที่ ธปท. เข้าไปดูแลในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผันผวนหรือความผิดปกติที่รุนแรง แต่การดูแลของธปท. ไม่ได้ทำเพื่อหวังผลเชิงการค้า เพราะถ้าดูตัวเลขการส่งออกของไทย จะเห็นว่าเพิ่งฟื้นตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเอง และถ้าดูการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ก็จะเห็นว่าเคลื่อนไหวในทั้งสองทิศทาง

“เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นว่ามีความผิดปกติรุนแรงของการเคลื่อนย้ายเงินทุน แล้วส่งผลกระทบต่อความสามารถของตลาดการเงิน ก็ถือเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่จะเข้ามาดูแลในบางช่วงเวลา”

หนุนเฟดลดขนาดงบดุล

นายวิรไท ยังกล่าวถึงแผนการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ด้วยการลดขนาดการลงทุนในพันธบัตรลงว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพราะระยะหลังสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีมากเกินควร เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย หากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง แรงกดดันต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็น่าจะลดลงตามไปด้วย

“เรื่องการปรับสมดุลของนโยบายการเงินของ เฟด ที่จะเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยช่วงแรกอาจยังแค่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ตอนนี้เขาเริ่มคิดจะลดปริมาณพันธบัตรที่เขาไปถืออยู่ลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดว่าจะทำมากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าเมื่อเริ่มทำจะกระทบต่อสภาพคล่องในระบบการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี”

บาทแข็งค่าระดับกลางภูมิภาค

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทย ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับช่วงต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 4.2% รองจาก เงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่า 7.3% ดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า 6.1% เงินวอนเกาหลีใต้ 5.9% รูเปียะห์อินโดนีเซีย 5.1%

นอกจากนี้ นายวิรไท ยังกล่าวถึงความคืบหน้าแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วยว่า ธปท. ยังคงผลักดันในเรื่องดังกล่าวต่อเนื่อง โดยสิ่งที่ ธปท. ได้ประกาศไปแล้ว และน่าจะดำเนินการได้เสร็จภายในปีนี้มีทั้ง เรื่องที่อนุญาตให้ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน(FX) ได้ อนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ และ ผ่อนคลายกฎระเบียบในบางเรื่องลงเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ(doing business)

บาทอ่อนกังวลธปท.แทรกแซง

ด้านนักค้าเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ปิดตลาดวานนี้ (19 เม.ย.) ที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิดตลาดที่ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาให้ความเห็นถึงกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาในพันธบัตรส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนเกินไปทำให้ ธปท.จะออกมาตรการสกัดเงินทุนดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเปิดตลาด โดยระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์