คลังจี้ 'คปภ.'คุมเข้มประกัน

คลังจี้ 'คปภ.'คุมเข้มประกัน

คลังจี้ คปภ."คุมเข้มประกัน" ห่วงปมฉ้อโกงประชาชน

คลังหนุนประกันสร้างความเชื่อมั่น “อินชัวร์เทค” ปรับตัวรับมือไทยแลนด์ 4.0 หลังพบขายประกันผ่านแอพฯ-ออนไลน์มาแรง พร้อมฝากการบ้าน คปภ. ป้องกันปัญหาประกันฉ้อโกงประชาชนหลังนายกฯสั่งเข้มงวด ขณะที่เลขาคปภ.ขานรับนโยบาย

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “บริษทใหม่กับการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล” ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านประกันภัย ประจำปี 2560 ว่า ธุรกิจประกันภัยในปีนี้ ยังต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี โดยเฉพาะการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง,การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัย,เทคโนโลยีที่พลิกเปลี่ยนโลก รวมถึงดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม

ดังนั้น “การมีช่องทางดิจิทัล” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเพิ่มเติมโอกาสและสร้างมูลค่าให้กับประกันเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ขณะนี้เริ่มเห็นธุรกิจประกันภัยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี ที่เรียกว่า “อินชัวร์เทค” ในรูปแบบการประกันภัยรถยนต์ ขายประกันออนไลน์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตามเวลาใช้งานจริง เบี้ยถูกลง ตอบสนองลูกค้าแต่ละกลุ่มได้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มตลาดประกันไทยยังเติบโตได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตต้องร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะตอนนี้ยังเป็นสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคยทั้งระบบและคน รวมทั้ง “การสร้างความเชื่อมั่น” ในระบบธุรกิจประกันภัยก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยประกันภัย ต้องดำเนินธุรกิจที่ปราศจากการฉ้อฉล

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของธรรมาภิบาลเป็นอย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเป็นพิเศษ และเป็นห่วงไม่อยากให้ประชาชนหรือผู้บริโภคถูกฉ้อฉลจากธุรกิจประกันภัย ขอฝากให้ คปภ.ช่วยกำกับดูแลเรื่องการฉ้อฉลในระบบประกันภัย และแรงใจให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตไปข้างหน้า

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัยทั้งภาครัฐและเอกชนเน้นหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยครอบคลุมถึงการป้องกันการฉ้อฉลในธุรกิจประกันภัย

ขณะเดียวกัน ในการประชุมกลุ่มย่อย แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนากฎหมาย การบริหารความเสี่ยง เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยในยุคดิจิทัล โดยเสนอให้ คปภ. จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัยโดยตรงทุกรูปแบบ

2. ด้านการกำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัย ด้วยเรกูลาทอรีแซนด์บ็อกซ์ คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ อินชัวรันส์ เรกูลาทอรี แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งในเร็วๆ นี้ คปภ.จะนำร่องเปิดให้ผู้บริการประกันภัย ฟินเทค สตาร์ทอัพ เสนอโครงการเข้ามาใช้พื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดลองทำธุรกิจประกันภัยดิจิทัล 1 ปีและในเบื้องต้นมีเข้าร่วม 10 โครงการ

3. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกิจประกันภัย ประเด็นหลัก คือ การกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจประกันภัยของคปภ. ซึ่งภาคธุรกิจมีความเป็นห่วงว่า จะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาขายประกันทางออนไลน์ จึงเสนอให้คปภ.เร่งรณรงค์ให้ประชาชนเลือกซื้อประกันกับบริษัทที่มาตรฐานและตรวจสอบอย่างถูกต้องจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งปีหน้าคปภ.จะเริ่มเข้าไปตรวจสอบระบบไอทีของบริษัทประกันภัยให้ได้มาตรฐาน 9 ด้านที่กำหนดไว้

4.ยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ โดยเสนอว่า ไม่ควรให้ฝ่ายขายจากธนาคารพาณิชย์ออกมาขายประกันนอกธนาคาร เพราะปัจจุบันมีตัวแทน และนายหน้าประกันทำหน้าที่ขายและให้ข้อมูลอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ดูแลการขายประกันภัยทางโทรศัพท์ ได้มีข้อเสนอให้ผู้ซื้อสามารถสอบถามรายชื่อผู้โทรมาขายประกัน ตลอดจนที่มาของการได้เบอร์โทรศัพท์ เพื่อป้องปรามการนำเบอร์โทรศัพท์มาอย่างไม่ถูกต้อง จนเป็นการรบกวนหรือหลอกลวงผู้บริโภค ให้บริษัทประกันภัย ต้องระบุรายชื่อนายหน้าและตัวแทนขายทุกคน ลงในเว็บไซต์เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบด้วย