DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

การประมูลคลื่นความถี่ใหม่ปลดล็อคการประเมินมูลค่าหุ้น

เราเชื่อว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ของกสทช.จะปลดล็อคการประเมินมูลค่าหุ้นของ DTAC และคลี่คลายความกังวลในประเด็นความเสี่ยงเรื่องการไม่มีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะมีข่าวอย่างไม่เป็นทางการออกมาว่า DTAC จะไม่ชนะดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอที แต่เราก็ยังคงไม่มีความกังวลแต่อย่างใดสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคตของ DTAC เนื่องจากเรามั่นใจว่า DTAC จะสามารถชนะหนึ่งใบอนุญาตหรือมากกว่าหนึ่งใบอนุญาตจากจำนวนใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่อีก 8 ใบอนุญาตที่จะเปิดประมูลภายในปี 2561 นอกจากนี้เราคิดว่า DTAC จะเป็นผู้ประกอบการที่มีความยืดหยุ่นทางการเงินสูงที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการรายปัจจุบันสามรายที่จะเข้าแย่งชิงความคลื่นความถี่ใหม่ เราปรับเพิ่มคำแนะนำหุ้น DTAC ไปเป็น “ซื้อ” (จากเดิม “ถือ”) และปรับราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 35 บาทไปเป็น 65 บาท โดยใส่สมมติฐานมูลค่าสุดท้ายกลับเข้าไปใหม่ในประเมินมูลค่า DCF ของเรา (จากสมมติฐานก่อนหน้าที่ไม่มีมูลค่าสุดท้ายแต่อย่างใด) DTAC เป็นหนึ่งในหุ้นสองบริษัทที่เราชอบมากที่สุดในกลุ่มไอซีที

DTAC – หนึ่งในตัวเต็งที่จะเป็นผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซ

แม้จะมีข่าวอย่างไม่เป็นทางการออกมาว่า DTAC จะไม่ชนะดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอที แต่เราก็เชื่อว่ามันยังไม่ใช่จุดจบสุดท้ายของบริษัท เนื่องจากจะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่อีก 3 คลื่น ความถี่ภายในปี 2561 ซึ่งได้แก่ คลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซและคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซ (ภายในไตรมาส 1/61) และคลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิร์ซ
(ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2561) ถ้าอ้างอิงจากกสทช. ราคาประมูลตั้งต้น สำหรับคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซและ 850 เมกะเฮิร์ซจะเท่ากับราคาประมูลที่ชนะในครั้งที่แล้วสำหรับคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซและ 900 เมกะเฮิร์ซ (4 หมื่นล้านบาทสำหรับคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซ 1 ใบอนุญาต จำนวน 15 เมกะเฮิร์ซ x2 และ 7.6 หมื่นล้านบาทสำหรับคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซ 1 ใบอนุญาตจำนวน 10 เมกะเฮิร์ซ x2) เราเชื่อว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซในครั้งนี้จะไม่มีการไล่ราคาอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก 1) ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซมีมากถึง 3 ใบอนุญาต (จำนวนคลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิร์ซ x2 สำหรับแต่ละใบอนุญาต) 2) ผู้ประกอบการรายปัจจุบันสองรายครอบครองคลื่นความถี่ทั้งคลื่นต่ำและ คลื่นสูงไว้ในมือแล้ว และ 3) ข้อจำกัดด้านอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อEBITDA ที่ไม่เกิน 2 เท่าจะจำกัดความยืดหยุ่นในการนำเสนอราคาในช่วงการประมูล เราใช้สมมติฐานว่า DTAC จะชนะการประมูลหนึ่งใบอนุญาตสำหรับคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซที่ราคา 4.5 หมื่นล้านบาท

ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ DTAC ได้อีก 18 บาทต่อหุ้น

เราใช้สมมติฐานดังต่อไปนี้สำหรับการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซ (15 เมกะเฮิร์ซ x2) ซึ่งได้แก่ ราคาที่ชนะการประมูลอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท อายุของใบอนุญาต 18 ปี จำนวนผู้ใช้บริการสะสมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 19 ล้านราย ณ สิ้นปี 2579 และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยของเงินทุน (WACC) ที่ 11.1% ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวข้างต้น เราประเมินมูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซสำหรับ DTAC ได้เท่ากับ 18 บาทต่อหุ้น ในทางกลับกัน หากบริษัทชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซ (10 เมกะเฮิร์ซ x2) ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท (เท่ากับราคาชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซในครั้งก่อนหน้า) เราประเมินว่าจะส่งผลให้มูลค่าหุ้นของ DTAC ลดลงอีก 8 บาทต่อหุ้น เราใช้สมมติฐานว่าการประมูลคลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิร์ซจะเกิดขึ้นภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ซึ่งเราจะทำการประเมินมูลค่าเพิ่มต่อหุ้นสำหรับ DTAC จากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิร์ซในเวลาถัดไป แต่เราเชื่อว่า DTAC จะเป็นหนึ่งในผู้เข้าประมูลที่จะชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิร์ซเช่นกัน


ส่องกล้องไตรมาส 1/60 – กำไรหลักลดลง YoY

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 ที่ 100 ล้านบาท ลดลง 92% YoY แต่เพิ่มขึ้น 233% QoQ หากไม่รวมรายการอัตราแลกเปลี่ยน กำไรหลักในไตรมาสนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ 94 ล้านบาท ลดลง 92% YoY และ 44% QoQ โดยกำไรหลักที่ลดลง YoY เนื่องจากรายได้บริการที่ลดลง ขาดทุนจากธุรกิจขายเครื่องที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกลบค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่ลดลง เราเชื่อว่ากำไรหลักของ DTAC มีแนวโน้มเป็นจุดต่ำสุดในปี 2560 ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาภายในปี 2561