เปิด 3 กองทุนช่วยเอสเอ็มอี

เปิด 3 กองทุนช่วยเอสเอ็มอี

เปิด 3 กองทุนช่วยเอสเอ็มอี ประเดิมปล่อยกู้งวดแรก พ.ค.นี้

รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)หลายด้าน ซึ่งมาตรการสำคัญคือการเพิ่มสภาพคล่องและทุนให้กับเอสเอ็มอี โดยหวังว่าเอสเอ็มอีเป็นเป้าหมายหลักของนโยบาย“การสร้างความเข้มแข็งภายใน” แต่หลังจากจัดระเบียบเอสเอ็มอีทั่วประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักก็เริ่มขับเคลื่อน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุถึงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3 กองทุน โดยกองทุนแรกคือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีแนวทางประชารัฐ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีแนวทางประชารัฐ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารองรับการทำงานของกองทุนฯ

"ในช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ จะให้คณะอนุกรรมการทุกจังหวัดประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยเงินกู้ และเงินร่วมลงทุนให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งจะคัดเลือกเอสเอ็มอีเฉพาะสาขาที่ยุทธศาสตร์แต่ละจังหวัดกำหนด ส่วนเอสเอ็มอีที่ไม่เข้าข่ายก็สามารถเช้ามาขอรับความช่วยเหลือจากสินเชื่อSMEs Transformation Loanหรือสินเชื่อโครงการช่วยเหลืออื่นๆของรัฐได้ โดยคาดว่าเงินกู้จากกองทุนฯนี้จะปล่อยงวดแรกได้ในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้" 

นายพสุ บอกว่าหลังการจัดงานเปิดตัวกองทุนฯเป็นทางการเมื่อวันที่10มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีเอสเอ็มอีสนใจที่จะเข้าขอสินเชื่อจากกองทุนกว่า1พันราย มีวงเงินรวม2.7พันล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าว่ากองทุนฯ2หมื่นล้านจะปล่อยกู้ได้หมดภายในปีนี้ มีวงเงินสูงสุดรายละไม่เกิน10ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระเงินคืน7ปี ในช่วง3ปีแรกจ่ายเพียงเงินต้น และไม่ต้องมีหลักประกัน วงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ200-300ล้านบาท

"คาดว่าสามารถช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ6พันราย สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 8 หมื่นล้านบาท" 

สำหรับเงื่อนไขนั้น เอสเอ็มอีในแต่ละจังหวัดที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดด้วย ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯระดับจังหวัดจะต้องนำยุทธศาสตร์ของจังหวัดตัวเองมาแยกย่อยทำแผนปฏิบัติงาน เพื่อคัดสรรเอสเอ็มอีในจังหวัดขึ้นมาพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ให้ตรงจุดต่อไป ส่วนในอนาคตมีแนวคิดที่จะพิจารณาออกพ.ร.บ.กองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ เพื่อให้มีกฎหมายรองรับในการตั้งทุนถาวรต่อไป

"เอสเอ็มอีที่ผ่านการประเมินได้ได้รับวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนนี้ จะได้รับการฝึกอบรมด้านต่างๆ จาก กสอ. เช่น การวางแผนธุรกิจ การทำบัญชี การบริหารจัดการด้านต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการสร้างช่องการตลาดใหม่ๆ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ทั้งเงินลงทุน และความรู้ในการบริหารจัดการในการใช้เงินทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะมีการติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนทุกเดือน เพื่อเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ" 

อัด1.5หมื่นล.ยกระดับเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ตั้งสินเชื่อSMEs Transformation Loanโดยนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ระบุว่า สินเชื่อSMEs Transformation Loan มีวงเงิน1.5หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม,ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ เอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจS-Curveและเอสเอ็มอีที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น

ธนาคารคิดดอกเบี้ย ปีที่1-3เพียง3%ต่อปี จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า3พันราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า2.4หมื่นคน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ธนาคารดำเนินการจัดอบรมผู้ประกอบการที่เข้าโครงการ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ และการวางแผนธุรกิจ ทั้งด้านการบริหารจัดการ,กลยุทธ์การเพิ่มยอดขายผ่านสื่อออนไลน์,การเงิน บัญชีและภาษี,การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มตลาดซีแอลเอ็มวี กลุ่มตลาดเออีซีซึ่งรวมถึงการจับคู่ธุรกิจ,กิจกรรมออกบูธจำหน่ายสินค้าในท่าอากาศยานสนามบิน และบนสายการบิน ส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ช ซึ่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระยะยาว

สำหรับผลที่ได้จากทั้ง 2กองทุนนี้ ผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนวงเงินรวมกว่า3.5หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า9พันราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า7.2หมื่นคน สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ151,140 ล้านบาท

"เอสเอ็มอีแบงก์จะเป็นแกนหลักในเรื่องของเงินทุนและเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี" 

เร่งปล่อยกู้ฟื้นฟูเอสเอ็มอี 3 พันราย

ในขณะที่ สินเชื่อกองทุนฟื้นฟู 2 พันล้านบาท และกองทุนพลิกฟื้น 1 พันล้านบาท ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ในส่วนของกองทุนฟื้นฟู 2 พันล้านบาท ขณะนี้ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 200 ราย มีวงเงิน 165 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะปล่อยวงเงินกู้ได้หมดภายในปี 2560 สามารถช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประมาณ 2 พันราย

นอกจากนี้ สสว. ยังได้แก้ไขหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ จากเดิมที่เปิดให้เฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลเท่านั้น เปลี่ยนเป็นเปิดให้กับเอสเอ็มอีที่ยังไม่ได้เป็นเอ็นพีแอล มีการจ่ายเงินกู้รายเดือนให้กับธนาคารสม่ำเสมอ แต่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถขยายกิจการได้ เพราะต้องเอาเงินไปจ่ายหนี้เกือบหมด

"ยังมีเอสเอ็มอีบางรายต้องการให้ สสว. เข้าไปร่วมลงทุน แต่ถ้าหากใช้ขั้นตอนแบบเดิมแปลงหุ้นสามัญจะช้า จึงใช้วิธีการให้เงินกู้ได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท แล้วค่อยแปลงหนี้เป็นทุนทั้งหมด หรือบางส่วนให้กับ สสว." 

ขณะนี้มีเอสเอ็มอีที่ต้องการให้เข้าไปร่วมทุนด้วยวิธีนี้ประมาณ 3-4 ราย ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดสภาพคล่อง และบางรายได้สัญญาวางสินค้าในเซเว่นอีเลฟเว่นแล้วแต่ขาดเงินทุนซื้อวัตถุดิบ เป็นต้น

"แม้ว่าขณะนี้จะมีเพียง 3-4 รายที่เข้าโครงการแปลงหนี้เป็นทุน แต่หากร่วมทุนไปได้ 1 ราย ก็จะมีรายอื่นๆตามเข้ามาอีกมาก ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดสภาพคล่อง สามารถเติบโตได้ต่อไป"

ส่วนกองทุนพลิกฟื้น 1 พันล้านบาท ยังคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการอยู่บ้าง เพราะต้องปรับโครงสร้างหนี้ แต่คาดว่าจะใช้วงเงิน 1 พันล้านหมดได้ภายในปี 2560 จะช่วยเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลได้ประมาณ 1 พันราย