ธุรกิจรับซื้อหนี้ ‘แข่งดุ’

ธุรกิจรับซื้อหนี้ ‘แข่งดุ’

ธุรกิจ "รับซื้อหนี้" แข่งดุ แบงก์ "โละ" เอ็นพีแอล7หมื่นล.

แนวโน้มสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่ผ่านมา กลายเป็นโอกาสการเติบโตที่สำคัญของบรรดาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ เอเอ็มซี (AMC) และนำมาซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจรับซื้อหนี้เสียมาบริหาร

นิยต มาศะวิสุทธิ์” รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ แซม (SAM) ระบุว่า ปีนี้ยังเป็นอีกปีที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีนโยบายแบบ aggressive ในการตัดขายหนี้เสีย โดยปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีการขายหนี้ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท ปีนี้ก็คาดว่าการขายหนี้จะไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามรูปแบบในการขายอาจจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการตัดขายล็อตใหญ่มูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นมูลค่าที่ขายประมาณ 300-400 ล้านบาท เพื่อให้โอกาสเอเอ็มซีรายเล็กๆ เข้ามาได้ เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทเอเอ็มซีเกิดใหม่จำนวนมาก ล่าสุดในตลาดมีกว่า 40 แห่งแล้ว

นอกจากนี้ยังพบว่าธนาคารพาณิชย์มีการตัดขายหนี้เร็วขึ้น โดยหากมีนับเป็นเอ็นพีแอล หรือค้างชำระ 91 วันก็เริ่มมีการตัดขายแล้ว จากเดิมจะใช้เวลาหลังเป็นเอ็นพีแอลประมาณ 6 เดือน ถึง1 ปีก่อนถึงจะขายหนี้ก้อนนั้นออกมา

การเข้ามาของเอเอ็มซีรายใหม่ๆ ทำให้แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจรับซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แนวโน้มราคาที่ขายออกมาก็มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของแซมเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันด้วย”

เขากล่าวต่อว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ก็ทำผลงานได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จนสามารถคืนเงินให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนฟื้นฟูได้ 7.5 พันล้านบาท คิดเป็น 112%ของเป้าหมาย

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายจะขายหนี้และมีเงินสดเข้ามาบริษัทประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเงินที่ได้จากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ประมาณ 6 พันล้านบาท และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีเอ ประมาณ พันล้านบาท

ทั้งนี้เงินสดที่ได้มากว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น บริษัทจะคืนให้กับกองทุนฟื้นฟูประมาณ 5 พันล้านบาท ส่วนอีก 5 พันล้านบาทจะเตรียมไว้สำหรับการซื้อเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มหนี้ในพอร์ต หลังจากการขายหนี้ที่ผ่านมาทำให้มูลหนี้ในพอร์ตปรับลดลงเรื่อย

“เดิมทีบริษัทจะมีการซื้อหนี้เพิ่มเข้ามาปีละประมาณ 1-3 พันล้านบาท แต่ปีนี้ทางกองทุนฟื้นฟูฯได้อนุมัติให้บริษัทสามารถซื้อหนี้เพิ่มได้ ปีนี้จึงมีแผนจะซื้อหนี้เพิ่ม 5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามตามแผนระยะยาวที่ได้เสนอกองทุนฟื้นฟูไป บริษัทจะซื้อหนี้ประมาณปีละ 5-6 พันล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งหมายความว่าสามารถซื้อได้สูงสุดถึงปีละ 6 พันล้านบาท”

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เอ็นพีแอลคิดเป็นภาระหนี้ตามบัญชีได้แล้ว 8.6 พันล้านบาท และ สามารถจำหน่ายเอ็นพีเอ ได้กว่า 975.81 ล้านบาท โดยได้รับชำระเป็นเงินสดแล้วจำนวน 1,446 ล้านบาท

นอกจากนี้เดินหน้าประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้แล้ว 3 พอร์ต คิดเป็นเงินประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอล ประเภทสินเชื่อเคหะ (Housing Loan) และ ยังคงจะเข้าร่วมประมูลซื้อเอ็นพีแอล จากสถาบันการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการเข้าประมูลซื้ออีก 4 พันล้านบาท ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลภาระหนี้ตามบัญชีจำนวน 3.59 แสนล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 1.91 หมื่นราย และทรัพย์สินรอการขาย หรือเอ็นพีเอ จำนวน 3.8 พันรายการ มูลค่ารวมกว่า 2.19 หมื่นล้านบาท โดยตลอดระยะเวลาที่ตั้งบริษัทขึ้นมากว่า 17ปีจนถึงปัจจุบัน บริษัทสามารถขายหนี้และคืนเงินให้กองทุนฟื้นฟูได้แล้วประมาณ 2.4 แสนล้านบาท

การบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลนั้น บริษัท ยังคงเน้นการให้โอกาสลูกหนี้เข้ามาติดต่อ และ เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามความสามารถด้วยการให้คำปรึกษา และ ช่วยเหลือให้ลูกหนี้ได้ข้อยุติและปฏิบัติตามสัญญาเพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจ และ ประกอบอาชีพได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ยังคงยึดมั่นในบทบาทของความเป็นหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินในรูปแบบต่างๆ ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ หรือจีทูจี เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมาเช่น งานร่วมใจไกล่เกลี่ยกับกรมบังคับคดี เป็นต้น

ล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือกับทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยหากบริษัทมีที่ดินที่มีศักยภาพในการตั้งปั๊มน้ำมันชุมชน หรือสนับสนุนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านพลังงานได้ ก็จะเสนอขายให้กับทางบริษัทปตท.ก่อน

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเข้าไปรับจ้างบริหารหนี้ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแอม ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับโอนหนี้เสียจากไอแบงก์ไปบริหาร ซึ่งอยู่ระหว่างรอหลักการจากทางภาครัฐ ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมสำหรับการเข้าไปช่วยติดตามและเจรจาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้กับธนาคารพาณิชย์ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งหนี้บุคคลและหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น