‘3ค่ายมือถือ’ ส่อวืดคว้าคลื่น2300

‘3ค่ายมือถือ’ ส่อวืดคว้าคลื่น2300

ชี้ 'โมบาย แอลทีอี' เข้าวินได้คลื่น ทีโอทีไปบริการ-จ่อเข้าบอร์ด26เม.ย.นี้

3 ค่ายมือถือส่อวืดได้คลื่น 2300 แหล่งข่าวทีโอที ฟันธง “โมบาย แอลทีอี” เข้าวินเป็นผู้ชนะได้คลื่นไปบริการ ด้าน “ฐากร” อาสาเป็นพี่เลี้ยงแนะทีโอที เร่งปิดดีลประกวดคุณสมบัติคลื่น 2300 ยันหากช้าทำองค์กรเสียประโยชน์ ระบุหากกังวลหวั่นติดขัดประเด็นกฎหมายให้ขอกระทรวงดีอีส่งเรื่องถึง คสช.ใช้ ม.44

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.ทีโอที โดยได้หารือเกี่ยวกับการเปิดซองยื่นประกวดคุณสมบัติ ชิงคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ที่ทีโอทีจะมีสิทธิใช้คลื่นความถี่ไปถึงปี 2568

ทั้งนี้ สำนักงานกสทช.ในฐานะที่เคยจัดการประมูลคลื่นความถี่มาแล้วหลายย่าน เช่น ย่าน 2100 1800 และ 900 เมกะเฮิตซ์ ได้ให้คำแนะนำกับทีโอทีไปว่า ทีโอทีควรต้องเร่งดำเนินการประมูลครั้งนี้ให้เรียบร้อย และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากทีโอทีควรต้องมองเรื่องความอยู่รอดของบริษัท และการนำทรัพยากรคลื่นความถี่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะทีโอทีเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องเป็นผู้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานในการขับเคลื่อนประเทศไทยแลนด์ 4.0 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

“ผมเคยเสนอไปว่า หากทีโอทีติดขัดตรงส่วนไหน ควรเสนอเรื่องไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ไปเลย อย่ากังวลในประเด็นข้อกฎหมายมากนัก เพราะหากทีโอทีเปิดให้บริการคลื่น 2300 แล้ว รายได้ทุกบาทก็ต้องเป็นของรัฐอยู่ดี” เลขาธิการ กสทช.ระบุ

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด แหล่งข่าวจากทีโอที เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ทีโอที ได้เปิดให้บริษัทที่สนใจยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจรายละเอียดการขยายโครงข่าย และผลตอบแทนที่จะให้กับทีโอทีในการเป็นคู่ค้า ให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2568

โดยมีบริษัทที่สนใจยื่นแผนธุรกิจเข้ามาจำนวน 6 บริษัท จาก 13 บริษัทที่สนใจมารับรายละเอียด ได้แก่ 1.บริษัททานตะวัน เทเลคอม จำกัด 2.บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ็น 3.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จํากัด 4.TUC RMV for 2300 MHz Consortium กลุ่มทรูฯ 5.บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด และ 6.บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัดที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการเงิน จะใช้เวลา 60 วันในการพิจารณา และจะสามารถประกาศผลการคัดเลือกแบบบิวตี้ คอนเทสต์ ในรอบแรกได้ภายในวันที่ 12 เม.ย.นั้น คณะกรรมการเจรจาที่มีประธาน พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เจรจากับคู่ค้าตามแผนธุรกิจไร้สายคลื่นความถี่ย่าน 2300

ขณะนี้ ที่ปรึกษาได้คัดเลือกบริษัทที่ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด ปรากฏว่า บริษัทโมบาย แอลทีอี จำกัด เป็นผู้ยื่นข้อเสนอผ่าน โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับคู่ค้า ซึ่งต้องเจรจาให้เสร็จภายใน 45 วัน ทีโอทีจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอผ่านไม่เกินวันที่ 25 เม.ย.เพื่อนำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอทีพิจารณาวันที่ 26 เม.ย.นี้

โดยหลังจากนั้น จะส่งสัญญาให้คณะกรรมการบริษัทรับรองผล และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดดู คาดว่าจะไม่มีปัญหา และสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ซึ่งตามแผนธุรกิจคู่ค้าจะเป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4จีแอลทีอี ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นๆ ในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ และโมบายบรอดแบนด์

ทั้งนี้ มีเป้าหมายในการวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่ต้องสามารถรองรับลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถติดตั้ง และพร้อมเปิดให้บริการภายในปีแรกได้ไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และจะเร่งเดินหน้าติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า 3 ค่ายมือถือ ทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรู รายใดรายหนึ่งจะเป็นผู้คว้าคลื่น 2300 ไปให้บริการ 4จี โดยที่ผ่านมา ทั้ง 3 ค่ายต่างแสดงความต้องการคลื่นดังกล่าวไปเสริมทัพการให้บริการ 4จีเพิ่มเติมจากคลื่นที่แต่ละรายครอบครองอยู่แล้ว