'กฟผ.'รอ 'สผ.'ชี้ชัดแนวทางเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน

'กฟผ.'รอ 'สผ.'ชี้ชัดแนวทางเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน

"กฟผ." รอคำตอบ "สผ." ชี้ชัดแนวทางเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ก่อนเริ่มกระบวนการทำอีไอเอ-อีเอชไอเอ ลุ้น "คสช." สรุปผล 3 เวทีรับฟังความเห็นชาวใต้

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ยังไม่สามารถเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ได้ เนื่องจากต้องรอคำตอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากเมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้ ได้ทำหนังสือส่งไปสอบถามความชัดเจนจาก สผ. ว่าจะให้ กฟผ.ดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อให้กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว และการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ)โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ถูกต้องตามระเบียบของ สผ.

รวมถึง กฟผ.จะยังไม่เดินหน้ากระบวนประมูลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอ จนกว่าจะได้รับความชัดเจนจาก สผ.ด้วย โดยกระบวนการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ รอบใหม่นั้น สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือ การว่าจ้างพิเศษ หรือการจ้างตรง ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือน ก็จะได้รายชื่อผู้รับเหมา ซึ่งวิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อภาครัฐเห็นว่าเป็นโครงการเร่งด่วน และอีกวิธี คือ การเปิดประมูลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา วิธีนี้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

ทั้งนี้ การว่างจ้างที่ปรึกษาจะใช้รูปแบบไหนนั้น จะอยู่ภายใต้ข้อเสนอแนะของ สผ. รวมถึงรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอนั้น จะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ สผ. กำหนดด้วย

นายกรศิษฏ์ กล่าวว่า กฟผ.ยังรอฟังนโยบายจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ ที่จะสรุปผลการจัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกัน 3 เวที ใน จ. กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งหากมีนโยบายไม่เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่แล้ว กฟผ. ก็พร้อมทำตามนโยบายของภาครัฐ โดยยุติโครงการทันที แต่หากให้เดินหน้าโครงการต่อไป กฟผ.ก็จะเดินตามแนวทางที่ สผ.แนะนำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เชื่อว่า กระทรวงพลังงาน จะพิจารณาแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อื่นแทน หรือ อาจพิจารณาแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ที่ กฟผ. ได้เสนอแผนการศึกษาความเหมาะสมไปแล้วใน 4 พื้นที่