หุ้นสหรัฐ “เดือด” เกินสตอรี่ “สองกูรู”ฟันธง..ไปต่อยาก!

หุ้นสหรัฐ “เดือด” เกินสตอรี่ “สองกูรู”ฟันธง..ไปต่อยาก!

พื้นฐานศก.สหรัฐกำลัง Comeback แต่ตลาดหุ้นนิวยอร์กกลับ“ร้อนแรง”เกินหน้านโยบายที่ทำได้จริงของผู้นำคนใหม่ “วิน พรหมแพทย์” ทำนายหาก“เอสแอนด์พี 500” เกิน 2,400 จุด อย่าเสี่ยง!!

ความร้อนแรงตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เริ่มปะทุขึ้นนับตั้งแต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ สะท้อนผ่านผลตอบแทนที่ขยับตัวขึ้นเฉลี่ย 5% หลังดัชนี S&P 500 พุ่งทะยาน จากระดับ 1,950 จุด มายืนเฉลี่ย 2,350 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging markets) ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 4%

บ่งบอกได้ว่า กระแสเงินต่างชาติกำลังไหลออกจาก “ตลาดเกิดใหม่” กลับสู่ “ตลาดพัฒนาแล้ว” (Developed Markets) โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ยิ่งธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อกลางเดือนมี.ค.2560 โอกาสจะเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับตลาดพัฒนาแล้ว

วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า 7 ปีที่ผ่านมา “บารัค โอบาม่า” ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐ ผลักดันภาวะเศรษฐกิจสหรัฐให้ขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 2% สะท้อนผ่านตัวเลขอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลง จากระดับ 10% เหลือเพียง 4.7% ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ บ่งชี้ว่า คนอเมริกามีงานทำมากขึ้น

ทว่า การเติบโตในรอบที่ผ่านมา ยังคงเป็นเพียง เฟสแรก เท่านั้น เพราะในช่วงที่ผ่านมาคนที่อยู่“ตรงกลาง”ของประเทศยังไม่ได้รับประโยชน์ จากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตในรอบนี้ ฉะนั้น ในระยะ 5-7 ปีข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ เฟสสอง” โดยอาจขยายตัวปีละ 2-3% เพราะอัตราการจ้างงานเริ่มดีต่อเนื่อง หลังประธานาธิบดีสหรัฐคนล่าสุด เน้นการจ้างงานภายในประเทศมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าเฉลี่ย 5.5 แสนล้านดอลลาร์ เพราะถนน สะพาน และทางรถไฟ ฯลฯ อยู่ในสภาพค่อนข้างเก่าคล้ายเมืองไทย นอกจากนั้นยังเตรียมจะลด ภาษีนิติบุคคล จาก 35% เหลือ 15% และมีความพยายามจะดึงเงินลงทุนต่างประเทศกลับเข้าบ้านมากขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน ย้ำว่า แผนงานของ ทรัมป์ ได้สร้าง“ความหวัง”ครั้งใหม่ แต่ในทางปฏิบัติบางเรื่องอาจทำได้ ยากมาก” โดยเฉพาะเรื่องการลดภาษีนิติบุคคล กว่าจะทำได้จริงคงเห็นภาพปี 2561 ขณะที่เรื่องลงทุนขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน หรือแม้แต่เรื่องตัวเลขอัตราการว่างงาน หากจะทำให้ต่ำกว่านี้ ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะที่ผ่านมาโรงงานหลายแห่ง เน้นการพึ่งพา“หุ่นยนต์”มากขึ้น สะท้อนผ่านบริษัท เทสลามอเตอร์ส ผู้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงส่วนประกอบระบบส่งกำลังของยานพาหนะไฟฟ้า ประเทศสหรัฐ ที่มีกำลังการผลิตรถยนต์ปีละแสนคัน แต่ใช้คนเพียง 6,000 คน

ฉะนั้นต่อให้ ทรัมป์ ดึงโรงงานผลิตรถยนต์กลับมาบ้านอีก 10 โรงงาน ก็จ้างคนได้เพียง 60,000 คน เว้นแต่ว่า ไปดึงคนที่ไม่คิดจะหางาน คนที่มีทักษะการทำงานที่ไม่ดี หรือกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งเข้าสู่ระบบตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก

เมื่อแผนงานของประธานาธิบดีสหรัฐ อาจไม่เกิดขึ้นภายในเร็ววัน ตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมาอาจเริ่ม ไปต่อยากแต่ไม่ถึงกับเป็น ฟองสบู่เพียงแต่ตอนนี้ หุ้นสหรัฐไม่ถูกแล้ว” !

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐ “ฮอตฮิต” ตั้งแต่ต้นปี นอกจากกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ เพื่อมาหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดหุ้นสหรัฐแล้ว ยังเกิดจากปีก่อนราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ส่งผลให้ “หุ้นกลุ่มน้ำมัน” โชว์ฟอร์มไม่ดี แต่ปีนี้หุ้นกลุ่มน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมัน ขณะที่ “หุ้นกลุ่มไอที” ปีนี้แสดงผลงานได้ดีกว่าปีก่อน

ตอนนี้ไม่กล้าเชียร์ให้นักลงทุนไปลงทุนหุ้นสหรัฐแล้ว เพราะโอกาสขึ้นต่อมีน้อย ฉะนั้นควรลดน้ำหนักการลงทุน สะท้อนผ่านดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่เหลืออัพไซด์น้อยมาก หลังประเมินว่า เอสแอนด์พี 500 ไม่ควรซื้อขายเกิน 2,400 จุด

กูรูตลาดหุ้น แจกแจงต่อว่า เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐแพง ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านค่า P/E หุ้นไทยเฉลี่ยในปัจจุบันที่อยู่ระดับ 16 เท่า ถือว่า เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่า P/E ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 10 เท่า แต่หากนำหุ้นไทยไปเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ถือว่า ไม่แพง

ฉะนั้นช่วงนี้แนะนำให้นักลงทุนเปลี่ยนมาลงทุน “หุ้นปันผล  โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ เช่น อาหาร ค้าปลีก และเสื้อผ้า เป็นต้น รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า และประปา เป็นต้น

ส่วนหุ้นส่งออกน่าจะเริ่มฟื้นตัวบางเล็กน้อย หลังผ่าน จุดต่ำสุด” ไปแล้ว แต่ต้องเลือกลงทุนเป็นรายตัว โดยเฉพาะตัวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการค้าโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ส่วนตัวมองว่า ตัวเลขส่งออกถ้าขึ้นมายืนระดับ 5% ถือว่าสวยมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีตัวเลขติดลบ

สำหรับสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางภาวะเช่นนี้ แนะนำให้นักลงทุนหันมาลงทุน กองทุนรวมต่างประเทศ ที่ลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs)

กูรูตลาดหุ้น ย้ำว่า ไม่อยากให้รายย่อยกังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินต่างชาติ เพราะหากพื้นฐานเมืองไทยยังดีอยู่นักลงทุนย่อมใส่เงินลงทุน สะท้อนผ่านในช่วงเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ปรับตัวลดลง ซึ่งเราได้บอกนักลงทุนไปว่า

การปรับตัวลดลงของสามตลาด เกิดจากธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ฉะนั้นโอกาสนี้ควรเข้าไปเก็บ เพราะปัจจัยพื้นฐานเมืองไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง รับรองจะได้ของดีราคาถูกกว่าเดิม

การเคลื่อนย้ายเงินลงทุน เปรียบเหมือนพฤติกรรมคน คาดเดาทิศทางได้ค่อนข้างยาก ฉะนั้นไม่อยากให้นักลงทุนใส่ใจ ตราบใดพื้นฐานยังเหมือนเดิม เขาย้ำ แต่ถ้ามีเงินกระหน่ำซื้อหุ้นไทยจนตลาดหุ้นพุ่งไปแตะ 1,650 หรือ 1,700 จุด ลักษณะนี้นักลงทุนควรขายทำกำไรออกมาบ้าง

พันธบัตรไทยอายุ 10 ปีขึ้นไป ปีนี้อาจมีผลตอบแทนใกล้ 3% เพราะดีมานด์ยังมีอยู่มาก จากเดือนเม.ย.ปี 2559 ที่อยู่ระดับ 1.50% ก่อนจะเด้งมายืน 2.7% ในปัจจุบัน ฉะนั้นแนะนำลงทุน ส่วนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี น่าจะมีผลตอบแทนในอัตราใกล้เคียงกับไทย

เขา ทิ้งท้ายบทสนทนาว่า นักลงทุนยังคงกังวลเรื่องการเมืองต่างประเทศ หลังประเทศเนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส กำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองนิยมฝ่ายขวาที่กีดกั้นการค้าอาจได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น ส่วนเรื่องเบร็กซิท (อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป)ต้องมานั่งลุ้นอีกรอบว่า จะมีเซอร์ไพรส์หรือไม่ แต่ที่ผ่านมาหลายคนได้เห็นแล้วว่า การทำเบร็กซิทได้หรือเสียผลประโยชน์

อย่ามองการลงทุนเป็นรายประเทศ แต่ให้มองการลงทุนเป็นเรื่องๆ นั่นหมายความว่า กิจการไหนพื้นฐานดี ขอให้นักลงทุนทำการบ้านแล้วเข้าไปลงทุน อย่างแถบยุโรป ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหุ้นคอนซูมเมอร์ หุ้นโรงพยาบาล และหุ้นแบงก์ ถือเป็นสินทรัพย์ที่ยังน่าสนใจ แต่บางตัวก็แพงไปแล้ว

ด้าน ดร.สุทธิสิทธิ์ แจ่มดี รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย วิเคราะห์ว่า พื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่แย่มายาวนานตั้งแต่ปี 2551 สะท้อนผ่านอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลง

ขณะที่ราคาบ้านใหม่เริ่มขยับตัวสูงขึ้น หลังบ้านค้างอยู่ในสต็อกไม่นานเหมือนหลายปีก่อน เพราะคนเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

ปัจจัยเหล่านี้ ผลักดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถือว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่การขยับตัวในรอบที่ผ่านมา กระดกตัวสูงขึ้นค่อนข้างชัดเจน หลังนักลงทุนเข้ามาลงทุนด้วยความคาดหวังว่า ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กกำลังจะกลับมา เพราะนโยบายการบริหารประเทศของผู้นำประเทศคนใหม่ที่มีแต่เรื่อง น่าตื่นเต้น

ทว่า ช่วงนี้ตลาดหุ้นสหรัฐกำลังถูกเบรกความร้อนแรง หลังทรัมป์ ล้มเหลวในการยกเลิกโครงการประกันสุขภาพชาวอเมริกา หรือ โอบามาแคร์ และไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายการรักษาพยาบาลของตัวเองได้สำเร็จ หลังส.ส.ส่วนข้างมากสังกัดพรรครีพับลิกันเสียงแตก บ่งบอกไม่ใช่ว่า ทุกคนจะรักทรัมป์

ทว่าการที่เพื่อนในพรรคไม่โหวตร่างกฎหมายการรักษาพยาบาล ถือเป็นเรื่องใหญ่พอควร เพราะนักลงทุนจะเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า นโยบายผลักดันประเทศอีกมากมายที่เคยหาเสียงไว้จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล การสร้างกำแพงผู้อพยพ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น

บางนโยบายก็ไม่ได้รับการสนับสนุนดีเลิศจากเพื่อนในพรรคและคนในประเทศ โดยเฉพาะการห้ามพลเมือง 7 ประเทศเข้าสหรัฐ สะท้อนผ่านการที่ผู้พิพากษาแห่งนครซีแอตเทิลของสหรัฐฯ สั่งระงับคำสั่งห้ามเป็นการชั่วคราวของประธานาธิบดีสหรัฐ

หลายคนเชื่อว่า ทรัมป์ อาจยกเลิก กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ (Dodd-Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมา ปฏิรูประบบการเงินของสหรัฐในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤต ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา บ่งบอกว่า นักลงทุนเข้าไปเล่นด้วยความคาดหวัง

รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์ เล่าต่อว่า ตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นในรอบก่อนหน้านี้ ถูกผลักดันจากหุ้นบางกลุ่ม โดยเฉพาะ กลุ่มไอที นำทีมโดย เฟซบุ๊ก และอเมซอน.คอม เป็นต้น ที่ประกาศงบการเงินออกมาค่อนข้างดี ตรงข้ามกับ “แอปเปิลคอมพิวเตอร์” ที่ฐานะการเงินไม่สวยเหมือนก่อน เพราะไม่มีความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ หลังการจากไปของ “สตีฟ จอบส์” 

โครงสร้างตลาดหุ้นสหรัฐ 70% เป็นนักลงทุนสถาบัน อีก 30% เป็นนักลงทุนรายย่อย ขณะที่เมืองไทยมีสัดส่วนตรงกันข้าม ฉะนั้นตลาดหุ้นสหรัฐ มักเคลื่อนไหวตามเหตุและผล ทำให้ไม่ค่อยสวิงหนักเหมือนตลาดหุ้นอื่นๆ

หากนักลงทุนต้องการเข้าไปลงทุนในตลาดสหรัฐ ควรเลือกเล่นเป็น รายตัว เพราะยังมีหลายตัวสร้างผลกำไรได้อย่างโดดเด่น เช่น กลุ่มแบงก์ แม้จะยังไม่ยกเลิกกฎหมายดอดด์-แฟรงค์ แต่การที่เศรษฐกิจฟื้นตัว กลุ่มที่มาเร็วต้องยกให้ธนาคาร ขณะที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นแบงก์ย่อมได้กำไรจากการปล่อยเงินกู้มากขึ้น

นอกจากนั้นยังมี กลุ่มไอที สมัยก่อนหลายบริษัทในสหรัฐต้องลงทุนฮาร์ดแวร์อย่างมหาศาล เพื่อเก็บข้อมูล แต่ปัจจุบันไม่ต้องลงทุนหนักอีกแล้ว เพราะมีบริษัทไอทีรับจ้างเก็บข้อมูลในลักษณะคลาวด์ (Cloud) และบล็อกเชน เช่น แอมะซอน.คอม และกูเกิล เป็นต้น ซึ่งกิจการลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในสหรัฐ

ส่วน กลุ่มน้ำมัน”คงต้องลงทุนตามสตอรี่ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ก็ลงทุนในลักษณะนั้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบค่อนข้างเหวี่ยง จากจุดสูงสุด 140 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ลงมายืนจุดต่ำสุด 26 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะเด้งกลับมา 55 เหรียญต่อบาร์เรล ในปีก่อน ปัจจุบันอยู่เฉลี่ย 48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง กิจการน้ำมันในชั้นหินดินดาน (เชลล์ก๊าซและเชลล์ออยล์) ในสหรัฐล้มหายตายจากไปจำนวนมาก เพราะมีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง แต่เมื่อราคาน้ำมันดีดขึ้น 55 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล กิจการเหล่านี้เริ่มฟื้นตัว ซึ่งใครที่รอดวิกฤตมาได้ธุรกิจจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าว บ่งบอกได้ว่า ราคาน้ำมันกำลังถูกคุมกรอบไม่ให้ต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป

หากผู้นำสหรัฐออกนโยบายที่เซอร์ไพรส์หนัก อาจมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินต่างชาติจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย ไปสู่ตลาดสหรัฐ

-----------------

อัพไซด์ หุ้นไทยเบาบาง

ไร้ปัจจัยกระตุ้นรอบใหม่

วิน พรหมแพทย์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด คาดการณ์ว่า ปีนี้ดัชนีน่าจะยืนระดับ 1,650 จุด เท่ากับว่า ตอนนี้เหลืออัพไซด์ไม่มากแล้ว หลังไม่มีสตอรี่ใหม่คอยผลักดัน ทว่าหากพิจารณาข้อดีของตลาดหุ้นไทย แท้จริงมีหลากหลายข้อ

ข้อหนึ่ง เมื่อเทียบหุ้นไทยกับเพื่อนบ้านไม่ได้แพงมาก ขณะที่การเติบโตของหุ้นไทยยังไปได้ หลังเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในลักษณะค่อยๆฟื้นตัว ไม่ได้เติบโตอย่างร้อนแรง สะท้อนผ่านความพยายามลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ แม้ที่ผ่านมาจะมีความล่าช้าไปบ้าง ซึ่งนักลงทุนต่างชาตจะชอบลงทุนในประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนอินฟราสตรัคเจอร์ เพราะทำแล้วได้ประโยชน์หลากหลายด้าน

ข้อสอง ค่าเงินบาทมีความเสถียรภาพมาก เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคนี้ แม้ที่ผ่านมาหลากหลายวงการจะมีความกังวลค่าบาท สะท้อนผ่านค่าบาทสิ้นปีที่ผ่านมาที่บวกไม่ถึง 1% ซึ่งความเสถียรภาพของค่าเงิน ทำให้นักลงทุนต่างชาติชอบเป็นพิเศษ

ตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นของไทย ที่มีขนาดใหญ่ และมีความคล่องตัวสูง เมื่อเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีขนาดเล็ก เวลาถอนเงินตลาดจะสะเทือน ทำให้นักลงทุนต่างชาติโยกเงินลงทุนมาซื้อพันธบัตรไทย เพื่อรับดอกเบี้ยเล็กน้อย

ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติหันมาซื้อหุ้นตัวใหญ่ค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านการลงทุนในกองทุน ETF (กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) หลังต่างชาตินิยมลงทุนหุ้นตัวใหญ่ก่อนเสมอ สเต็ปต่อไปต่างชาติอาจหันมาลงทุน “หุ้นขนาดกลาง และ “ขนาดเล็ก มากขึ้น หลังลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ไปแล้ว

สำหรับ ข้อดีของตลาดหุ้นสหรัฐ “หนุ่มวิน” ยอมรับว่า ปัจจัยพื้นฐานกำลังดีขึ้นจริงๆ และหุ้นสหรัฐหลายตัวมีคุณภาพที่ดี โดยเฉพาะ “หุ้นกลุ่มไอที” ซึ่งกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ก็กำลังคิดจะเข้าลงทุนในช่วงเดือนพ.ค.นี้ แต่ตอนนี้ยังไม่กล้าเข้าไป เพราะราคาขึ้นมาค่อนข้างสูง

ปกติตลาดหุ้นชอบปรับฐานช่วงซัมเมอร์ หลังเหล่าฟันด์เมเนเจอร์นิยมขายของปิดพอร์ตไปพักร้อน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี

ภาพ “หุ้นไอทีสหรัฐ” ในวันนี้กับ 16 ปีก่อน แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันซื้อขายที่ค่า P/E เฉลี่ยแค่ 15-16 เท่า แต่ในอดีตซื้อขายสูงถึง 100 เท่า ที่สำคัญสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล ตรงข้ามกับอดีตที่ทำเงินได้ไม่ค่อยดีนัก

นอกจากนั้นยังมีกระแสเงินสดเต็มบริษัท เพราะผู้ประกอบการหลายรายไม่ได้ดำเนินการเพียงธุรกิจไอทีอย่างเดียว แต่ยังมีรายได้จากการขายโฆษณาด้วย ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊ก ,กูเกิล และแอมะซอน.คอม ซึ่งกิจการเหล่านี้ล้วนแล้วมีแต่ลูกค้าวิ่งเข้ามาหา เพราะเขาเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ทุกคนย่อมต้องการใส่เงินโฆษณา

“การที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% เมื่อกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา (ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบปี แต่ครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน และครั้งที่ 3 ในรอบ 10 ปี) แต่ด้วยความที่ตลาดหุ้นไทยรับรู้เรื่องเหล่านี้ไปแล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก”

ดร.สุทธิสิทธิ์ แจ่มดี รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยปีนี้ว่า ตอนนี้ดัชนีแทบไม่เหลืออัพไซด์แล้ว หากพิจารณาจากเป้าหมายดัชนีปี 2560 ที่อาจอยู่ระดับ 1,570 จุด

หลังที่ผ่านมาหุ้นไทยขึ้นด้วยความความคาดหวัง แต่เมื่อโครงการขนาดใหญ่ถูกเลื่อนประมูลออกไป บวกกับไม่มีปัจจัยใหม่มาสนับสนุน ทำให้โบรกเกอร์กสิกรไทยยังคงไม่ปรับเป้าหมายดัชนี

ยกเว้นว่า ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น นั่นแปลว่า เกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองไทยจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ขณะที่รัฐบาลอัดงบลงทุนอย่างจริงจัง 

การลงทุนหุ้นไทยปีนี้ไม่ง่าย แม้โบรกเกอร์จะแนะนำลงทุนหุ้นบางตัว แต่เป็นเพียงเป้าหมายระยะสั้นเท่านั้น ฉะนั้นนักลงทุนรายย่อยควรหันมาลงทุน หุ้นปันผลน่าจะเป็นทางออกที่ดีในช่วงนี้ ส่วน นักลงทุน High net worth” ผู้มีทรัพย์สินสง ยังพอมีผลิตภัณฑ์ให้ทำกำไรได้บ้าง เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ เป็นต้น เพราะเป็นตราสารที่มีไว้ทำกำไรช่วงตลาดไซด์เวย์(แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ)