หมอตุ๋นหมอ!! โร่แจ้งความถูกหลอกร่วมทุนทำทัวร์สูญ64ล้าน

หมอตุ๋นหมอ!! โร่แจ้งความถูกหลอกร่วมทุนทำทัวร์สูญ64ล้าน

แพทย์รพ.ดังพร้อมผู้เสียหายกว่า 10 คน โร่แจ้งความหลังถูกเพื่อนร่วมอาชีพตุ๋นร่วมทุนทำทัวร์สูญ 64 ล้าน บางรายสั่งห้ามสื่อบันทึกภาพ เหตุมีอาชีพน่าเชื่อถือในสังคม

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เรืออากาศโทหญิง แพทย์หญิง นิจชา รุทธพิชัยรักษ์ อายุ 30 ปี แพทย์รพ.รัฐบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง พร้อมกลุ่มผู้เสียหายรวมกว่า 10 คน ประกอบด้วยหลากหลายอาชีพ อาทิ แพทย์ วิศวกร สจ๊วต อาจารย์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ทหาร รวมตัวเข้าแจ้งความกับตำรวจกองปราบปรามในข้อหาฉ้อโกง หลังถูกว่าที่นาวาตรีแพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในบริษัททัวร์ชื่อ วี สยาม เอเจนซี่ จำกัด มีผู้เสียหายกว่า 38 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 64 ล้านบาท

เรืออากาศโทหญิง แพทย์หญิง นิจชา กล่าวว่า ว่าที่นาวาตรีแพทย์หญิงคนดังกล่าว ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยมของตนได้ชักชวนให้ร่วมลงทุนบริษัททัวร์และจองโรงแรมบริษัทของนายโจ้ ซึ่งเป็นแฟนหนุ่มของว่าที่นาวาตรีแพทย์หญิงคนดังกล่าว โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงร้อยละ 6 ถึง 18 ต่อเดือน ทำให้เพื่อนหลากหลายอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพทย์ถึงร้อยละ 50 ร่วมลงทุนด้วย ในอัตราที่แตกต่างกัน โดยมีการลงทุนตั้งแต่ต่ำสุด 80,000 บาท จนถึง 12 ล้านบาท

ซึ่งสาเหตุที่คนร่วมลงทุนด้วย เนื่องจากว่าที่นาวาตรีแพทย์หญิงคนดังกล่าวมีอาชีพเป็นแพทย์รพ.ดัง ทำให้มีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามการลงทุนธุรกิจ ไม่เหมือนกับแชร์ลูกโซ่เนื่องจากไม่ต้องชักชวนสมาชิกเพิ่ม และไม่ได้รับผลตอบแทนในการชักชวนสมาชิกเพิ่มแต่อย่างใด อีกทั้งยังได้ผลตอบแทนสูง

สำหรับตนนั้นถูกชักชวนให้ลงทุนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ตัดสินใจลงทุนจริงเมื่อเดือนสิงหาคมเป็นเงิน 500,000 บาท โดยโอนเข้าบัญชีว่าที่นาวาตรีแพทย์หญิงคนดังกล่าว ก่อนที่เดือนต่อมาจะได้ปันผล แต่ตนไม่ได้ถอนเงินออกมา แต่กลับเพิ่มยอดเงินร่วมลงทุนเพิ่มไป ซึ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนถึงกุมภาพันธ์ ได้เงินคืนทุกเดือน รวมแล้วกว่า 300,000 บาท แต่ยังมีเงินที่ตนลงทุนค้างอยู่อีก 1 ล้านบาท กระทั่งเดือนมีนาคม ตนไม่ได้รับปันผล จึงพยายามทวงถามว่าที่นาวาตรีแพทย์หญิง แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงอ้างว่าบัญชีถูกอายัด และไม่สามารถติดต่อได้ จึงโทรศัพท์ติดต่อก็ไม่ติด พร้อมไปตรวจสอบที่บ้านและที่ทำงานไม่เจอตัวพบว่าลาพักร้อน จึงเชื่อว่าถูกหลอก ตัดสินใจรวมตัวกันเข้าแจ้งความในที่สุด
ด้านตำรวจกองปราบปราม ได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นก่อนแนะนำให้ผู้เสียหายไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ. )

มีรายงานว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพเนื่องจากมีอาชีพที่น่าเชื่อถือในสังคมไม่ต้องการเปิดเผยตัว