เจาะลึก 'ศาลปราบโกง' จ่อฟัน314เรื่อง-บิ๊กขรก.ทุจริตโทษหนัก

เจาะลึก 'ศาลปราบโกง' จ่อฟัน314เรื่อง-บิ๊กขรก.ทุจริตโทษหนัก

เจาะลึก "ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ" ท้าพิสูจน์ให้สังคมประจักษ์ต่อผลกรรม อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่คิดไม่สุจริต-ระวังตัวให้ดี

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพิ่งตัดสินคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ในคดีที่อัยการยื่นฟ้อง นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย( ททท).และบุตรสาว จากการรับสินบนนักธุรกิจภาพยนตร์อเมริกันเพื่อเอื้อให้บริษัทของนักธุรกิจรายดังกล่าวได้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ หรือบางกอกฟิล์มระหว่างปี 2545-2550

โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ลงโทษนางจุฑามาศ และบุตรสาวอย่างหนัก ตามพ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี จำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกสูงสุดได้เพียง 50 ปี และจำคุก น.ส.จิตติโสภา บุตรสาว 11 กระทงๆ ละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี และมีคำสั่งให้ริบเงินจากการกระทำผิดและดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย ซึ่งศาลได้กำหนดมูลค่าสิ่งที่สั่งริบดังกล่าว เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 62,724,776 บาท

นับเป็นอีกคดี ที่แสดงถึงความพยายามของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต่อการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น ที่ ป.ป.ช. , อัยการ ใช้เวลายาวนาน เสาะหาหลักฐานเอกสารทั้งในและนอกประเทศ จาก พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 เพื่อเอาผิดสินบนข้ามชาติ มาฟ้องเป็นคดีต่อศาล จนมีคำพิพากษาได้ทันเวลา ก่อนที่คดีจะหมดอายุความปี พ.ศ.2569

จากปัญหาทุจริตที่ขยายตัวในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ จนถึงนักการเมืองระดับชาติ ลุกลามการรับสินบนข้ามชาติ เมื่อรัฐบาล คสช. ได้ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลเลือกตั้ง ได้ผลักดันการตั้ง ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง’ สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และเปิดทำการเดือน ต.ค.59 เพื่อหวังติดเขี้ยวเล็บให้กับกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตฯ หรือภาษาชาวบ้านว่า “ศาลปราบโกง” ได้เริ่มใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีทุจริตที่มีขึ้นเฉพาะ โดยระบบไต่สวนที่ให้ศาลรวบรวมพยาน-หลักฐานจากทุกฝ่าย ในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้แบบสิ้นสงสัย ทำให้ใช้เวลาพิจารณากระชับรวดเร็วไม่เกิน 1 ปีก็รู้ผล ที่จะลงโทษผู้กระทำต่อหน้าที่ราชการและสร้างความเสียหายแก่หน่วยงานรัฐ ประเทศชาติบ้านเมืองได้ ไม่ให้ลอยนวล หนีความผิดเหมือนในอดีต

“นิกร ทัสสโร” รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ขยายความหลักการพิจารณาหลักฐานศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลางว่า “ วิธีพิจารณาคดีทุจริตโดยหลักเมื่อเราใช้ระบบไต่สวนแล้ว ก็จะพยายามไต่สวนให้สิ้นสงสัย แต่ทางทฤษฎีนิติศาสตร์ก็อาจเป็นไปได้ว่ายังมีกรณีที่สงสัยได้เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามต้องถือหลักสำคัญว่า การที่จะลงโทษคนนั้นก็ต้องปราศจากข้อสงสัยไม่ว่าจะใช้ระบบเดิม หรือระบบใหม่”

ในระบบไต่สวนองค์คณะของศาลเอง สามารถเรียกเอกสารหลักฐานเข้ามาดูเพิ่มเติมได้ นอกเหนือจากที่ปรากฏในสำนวนของ ป.ป.ช.และอัยการ จากการที่ฝ่ายจำเลยแถลงหรือชี้ช่องให้ศาลเห็นว่ามีเอกสารใด อยู่ตรงไหน หรือศาลดูสำนวนเองแล้วเห็นว่ามีเอกสารอยู่ที่บุคคลหรือหน่วยงานอื่น ศาลก็เรียกเข้ามา โดยคู่ความไม่ต้องร้องขอก็ได้ ศาลจะเป็นผู้รวบรวมหลักฐานไม่ว่าจะเป็นพยานวัตถุ พยานบุคคล พยานเอกสารในเรื่องที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับคดี โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ช่วยเหลือศาลเพื่อดำเนินการ

ส่วนเจตนารมณ์ ที่จะมุ่งปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น หลักพิจารณากำหนดบทลงโทษคดีทุจริต “ นิกร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง ” ย้ำว่า การลงโทษถือตามพฤติการณ์และความร้ายแรง ถ้าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรงมีการทุจริตในวงกว้าง ความเสียหายของรัฐเยอะ และกรณีที่เป็นความผิดหลายกรรม เช่น 10 กรรม หรือ 20 กรรม อย่างนี้บทลงโทษจะสูง เราจะดูเนื้อหาของการทุจริต ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ และดูจำนวนกรรมที่กระทำ ทำให้บางคดีอย่างการทุจริตของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ศาลลงโทษจำคุก อดีตรองอธิบดีกรมฯ และข้าราชการจำเลยร่วม 100 – 200 ปี หรือ คดีอดีตผู้ว่าการ ททท. ก็ลงโทษ 11 กรรม จึงจำคุกถึง 66 ปี แต่ตามกฎหมายรวมโทษทุกระทงความผิดแล้วให้จำคุกได้ไม่เกิน 50 ปี แต่คดีที่ศาลพิพากษาลงโทษสถานเบาก็มี อย่างคดี นพ.ชัยวัน เจริญโชคทวี คณบดีแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว โดยคดีที่ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้นเป็นคดีที่ไม่ใช่เรื่องการทุจริตรับสินบน แต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการประพฤติที่ไม่ถูกต้อง ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือล่าสุดที่พิพากษารอการลงโทษนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ออกคำสั่งโยกย้ายแต่งตั้ง ไม่ใช่เรื่องการทุจริต อย่างนี้ศาลก็อาจใช้ดุลยพินิจในการรอการลงโทษให้

“ ในคดีที่ลงโทษหนัก และจำเลยไม่ได้รับการประกันตัวด้วย ผมว่าน่าจะมีผลให้ระงับยับยั้งความคิดที่จะทุจริตได้ ส่วนของผู้ที่สุจริตก็ไม่ต้องกลัว ถ้าถูกแกล้งฟ้องคดีในศาลก็จะเกิดสิทธิแก่เขานับตั้งแต่วันฟ้องที่จะขอให้ศาลรวบรวมพยานหลักฐานได้โดยหลักระบบไต่สวน คือคนทุจริตจะได้รับโทษ คนที่สุจริตก็จะได้สิทธิทางคดี กฎหมายนี้สมดุล อย่างคดีที่ฟ้องการทุจริตในกรมพัฒนาฝีมือแรงาน ยื่นฟ้องมา 30 กว่าคน ศาลก็ยกฟ้องไป 20 คน การตั้งศาลขึ้นมาไม่ได้มีเจตนารมณ์ไปลงโทษสูงกว่าคดีอาญาของศาลยุติธรรมอื่น แต่ตั้งศาลขึ้นมาให้ใช้ระบบไต่สวนเพื่อคดีจะได้รวดเร็วขึ้น จะได้มีรายละเอียดของกฎหมายที่คุ้มครองรัฐ คุ้มครองคู่ความทั้งจำเลย ผู้เสียหายให้สมดุลขึ้น เพราะศาลสามารถนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนได้เองด้วย และยังมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ช่วยดำเนินการให้ศาลซึ่งศาลระบบอื่นไม่มี เราก็หวังเรื่องความรวดเร็ว และความถี่ถ้วนของพยานหลักฐานต่างๆ ”

และยังมีการกำหนดมาตรการพิเศษขึ้นด้วย เช่น คดีที่จำเลยหลบหนี ไม่ทำให้คดีชะงัก หรือจะยื่นอุทธรณ์จำเลยต้องมาแสดงตัว หากมีทรัพย์สินที่ได้ไปจากทุจริตแม้โจทก์ไม่มีคำขอ ศาลก็มีอำนาสั่งริบให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ ซึ่งการริบทรัพย์นั้นคนที่มีชื่อถือทรัพย์สินก็มีสิทธิที่จะยื่นคำโต้แย้งต่อทรัพย์นั้นได้ภายในเวลา 1 ปีว่าทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบทรัพย์ในชื่อนั้นไม่ใช่ส่วนที่กระทำผิดร่วมกับจำเลย

แล้วยังมีมาตรการคุ้มครองจำเลยที่สามารถแถลงให้ศาลรวบรวมพยานหลักฐานได้ตั้งแต่เมื่อมีการยื่นคำฟ้องเข้าสู่สารบบความศาล ซึ่งระบบอื่นทำไม่ได้จำเลยจะไม่มีสิทธิเสนอหลักฐานได้ตั้งแต่วันแรกที่ฟ้อง จำเลยควรจะรับรู้สิทธินี้ว่าเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้วระหว่างที่ศาลตรวจเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับคำฟ้อง ศาลและคู่ความสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน โดยจำเลยสามารถแถลงบอกได้ว่ามีเอกสารไหนที่เป็นประโยชน์แก่ข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน หรือให้ศาลเรียกพยานหลักฐานที่หน่วยงานภายนอก หรือบุคคลภายนอก หรือที่ตัวจำเลยมี เอาเข้ามาพิจารณาได้ คือไม่ใช่ต้องฟังแต่พยานหลักฐานโจทก์ฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้“ ศาลปราบโกง ” ดูจะมีมาตรสร้างสมดุลคุ้มครองทั้งรัฐ จำเลย และผู้เสียหาย ที่จะลงโทษจริงจังข้าราชการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ถูกกลั่นแกล้ง แต่กระนั้นก็ยังมีอีกเรื่องที่หน่วยงานรัฐ หากเป็นผู้เสียหาย ควรรับรู้และยึดเป็นแนวปฏิบัติต่อไป ที่จะจัดการคดีข้าราชการทุจริต คือ เรื่องคำขอส่วนแพ่งที่จะให้ผู้กระทำผิดชดใช้ เยียวยาความเสียหายคืนแก่รัฐ

นิกร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง อธิบายว่า คดีอาญาทุจริตก็ให้สิทธิหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เสียหาย หรือเอกชนที่เป็นผู้เสียหายที่อาจถูกเรียกสินบน สามารถยื่นคำขอเข้ามาในคดีอาญาที่ศาลนี้ได้เพื่อให้มีการชดใช้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือประชาชนที่ถูกเรียกสินบน หรือที่ถูกกลั่นแกล้งไม่ดำเนินการให้ในการออกโฉนดที่ดิน หรือเขาควรจะได้รับคำสั่งอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารกลับไม่อนุมัติให้ อย่างนี้เขาเสียหายอย่างไรก็สามารถเรียกค่าเสียหายเข้ามาได้

ซึ่งหลักการคิดคำนวณค่าเสียหายที่จะยื่นขอก็เป็นไปตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่เมื่อฟ้องแล้วกระบวนพิจารณาคดีส่วนอาญากับคำขอส่วนแพ่ง สามารถที่จะดำเนินไปพร้อมกันได้โดยระบบไต่สวน โดยคำขอแพ่งไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลและยังรวดเร็วด้วย

แต่ถ้าหน่วยงานรัฐจะไปใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีแพ่งต่างหากจะเสียค่าธรรมเนียมศาลและใช้เวลาเป็นคดีใหม่อีก ดังนั้นถ้าส่วนการทุจริตคดีอาญาสร้างความเสียหาย ก็ควรยื่นคำขอส่วนแพ่งเข้ามาดำเนินการพร้อมในคดีอาญาด้วย ยิ่งถ้าผู้เสียหายเป็นหน่วยงานรัฐยิ่งควรยื่น เพราะหน่วยงานรัฐจะรู้ความเสียหายที่ค่อนข้างแน่นอนเพราะว่ามีระเบียบ กฎหมายต่างๆ คุ้มครองรัฐให้สามารถเรียกค่าชดใช้ทางแพ่งได้อยู่แล้ว และยังมีหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางอยู่ด้วยแล้วที่จะให้เรียก

“ หน่วยงานรัฐจึงย่อมรู้ตัวเลขความเสียหายอยู่แล้วไม่ยาก เมื่อเข้ามาได้ง่ายก็ควรเข้ามาแต่บางหน่วยงานอาจเข้าใจผิดว่าจะต้องไปยื่นต่อศาลปกครอง ที่จริงแล้วถ้าเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต้องยื่นที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลในคดีทุจริตคลองด่าน ซึ่งเป็นข้อวินิจฉัยที่ชัดเจนจึงไม่ต้องลังเล โดยหน่วยงานรัฐที่ได้รับความเสียหายควรถือปฏิบัติ หากหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติผมว่าจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะความเสียหายมันเกิดขึ้นถ้าไม่มาขอ ยิ่งคดีมีอัยการเป็นโจทก์ให้ คดีก็จะรวดเร็วขึ้น เพราะความชัดเจนเรื่องค่าเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเรื่องความเสียหายนั้น ผู้เสียหายต้องยื่นคำขอเข้ามาในคดี ศาลจะสั่งเองไม่ได้ ไม่ใช่กรณีที่จะริบทรัพย์จากการกระทำผิดให้ตกเป็นของแผ่นดินที่ศาลจะพิจารณาเองแม้โจทก์ไม่ได้ขอ ”

และหลังจาก ‘ศาลปราบโกง’ แห่งแรก กำลังเดินเครื่องเต็มสูบ‘ เชือดไก่ให้ลิงดู’ ลงโทษอดีตข้าราชการผู้ใหญ่มาหลายคดีแล้ว จากนี้มีคดีรอลุ้นการพิจารณาอีก 314 เรื่อง จากที่พิพากษาเสร็จไปแล้ว 179 เรื่องทั้งนี้เป็นไปตามสถิติคดีวันที่ 1 ต.ค.59 – 31 มี.ค.60 ซึ่งในจำนวนนั้นมีคดีที่ราษฎรเป็นผู้เสียหาย ฟ้องเจ้าหน้าที่ว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อยู่ไม่น้อยด้วย เมื่อเทียบกับคดีที่อัยการ และ ป.ป.ช.ฟ้อง

ขณะที่ศาลยุติธรรม ก็ยังทยอยเปิด‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1-9’ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้ครบถ้วนเขตอำนาจศาลทุกภาคทั่วประเทศ ภายใน ต.ค.60 ตามแผนโรดแมป

แม้ใครอาจเคยเคลือบแคลงสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมในการปราบปรามการทุจริตว่า ยังมีอยู่จริงหรือ..?? การบังคับคดียังได้ผลจริงหรือ..!! จากบทเรียนคดีมหากาพย์ทุจริตค่าโง่คลองด่าน หรือคดีที่สังคมเฝ้าจับตามองอย่าง มหากาพย์สินบนข้ามชาติ “โรลส์รอยซ์”

แต่วันนี้ "ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ' ท้าพิสูจน์ให้สังคมประจักษ์ต่อผลกรรม อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่คิดไม่สุจริตแล้ว โดยใช้เวลาพิจารณาไม่เนิ่นนาน ซึ่งการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว ถือเป็นนโยบายหลักอีกส่วนของศาลยุติธรรม เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า คือการปฏิเสธความยุติธรรม “ Justice delayed is justice denied ”... นั่นเอง