เปิดศึก 'อินชัวร์เทค' รับไทยแลนด์ 4.0

เปิดศึก 'อินชัวร์เทค' รับไทยแลนด์ 4.0

ค่ายประกันคึกคัก เปิดศึก “อินชัวร์เทค” รับไทยแลนด์ 4.0

จากการที่ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 ทำให้ทุกกิจกรรมที่เคลื่อนไหวบนโลกใบนี้ถูกแปรเป็นข้อมูลดิจิทัล และผู้ที่บริหารจัดการ บิ๊กดาต้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ซึ่งธุรกิจประกันภัยเองตื่นตัวกับกระแสดังกล่าวคปภ.ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับได้กำหนดให้ปีนี้ “เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนการประกันภัยในยุคดิจิทัล” หรือ “InsurTech”

180 วันเริ่มใช้กม.อินชัวร์เทค

นับถอยหลังอีก 180 วัน กฎหมายขายประกันออนไลน์ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ หลังจากปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ยกร่างประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2560 และประกาศ คปภ.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยและการชดใช้เงิน หรือ ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560

ประกาศทั้งสองฉบับได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2560 โดยจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เสนอขาย-ชำระเบี้ย-จ่ายสินไหมออนไลน์

สาระสำคัญๆ ของประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ เช่น การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยสามารถดำเนินการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นช่องทางการเสนอขายใหม่ ไม่มีการพึ่งพาตัวแทนประกันภัย หรือนายหน้าประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถแสดงเจตนาขอทำประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์และทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้บริษัท นายหน้า หรือธนาคารที่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทเท่านั้นที่จะเสนอขายผ่านช่องทางนี้ได้ และแบบกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดจนวิธีขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องได้รับความเห็นชอบจาก นายทะเบียน

การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทางออนไลน์ ประกอบการขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย หรือธนาคาร ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย และลดต้นทุนของบริษัทในระยะยาว เช่น การกรอกใบคำขอเอาประกันภัยโดยใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งรายละเอียดเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และในส่วนการชดใช้เงิน หรือ ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทำโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการรับเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

นอกจากนี้ประกาศทั้ง 2 ฉบับ ยังระบุมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ โดยกำหนดให้บริษัท นายหน้าประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผู้ขอทำประกันภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ประกาศทั้งสองฉบับนี้จะทำให้ คปภ.สามารถวางหลักเกณฑ์กำกับดูแลกิจกรรมของบริษัทประกันภัยที่จะทำในรูปอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ตั้งแต่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัย จนถึงการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย หรือบริษัทจะเลือกเฉพาะกิจกรรมที่บริษัทมีความพร้อม เช่น อาจนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เฉพาะออกกรมธรรม์ประกันภัยก็ได้

เร่งเปิดแซนด์บ็อกซ์ประกัน

ล่าสุด คปภ. เตรียมเปิดสนามทดสอบนวัตกรรมสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดตัวไปแล้ว ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างดำเนินการ

โดยในวันที่ 19 เม.ย.นี้ คปภ.จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคเอกชนเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อรับฟังข้อเสนอและความเห็น และจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเข้าทดสอบ เลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในการทดสอบ ร่วมพัฒนากับธุรกิจสตาร์ทอัพฟินเทคด้วย หลังจากเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมาได้รับฟังความคิดเห็นและร่วมกันวางแนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุน การให้บริการของธุรกิจประกันภัย

เปิดฉากจับมือฟินเทคสายประกันไทย

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจประกันเอง ก็มีการตื่นตัว โดยจะเห็นได้ว่า “อินชัวร์เทค” จะถูกกำหนดเป็นเรือธงไว้ในยุทธศาสตร์ปี 2560 ของบริษัทประกันภัยทุกแห่งทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต โดยในช่วงกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ เริ่มทบทวนข้อกฎหมายและลงมือสร้างความพร้อมของแต่ละบริษัท ซึ่งยังมีเวลาเหลือพอให้ปรับตัวเตรียมความพร้อมก่อนกฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้จริง

ประเดิมต้นปีนี้ ธุรกิจประกันชีวิต “เมืองไทยประกันชีวิต” ปลุกปั้นทีมใหม่ชื่อแปลก “Fuchsia” Innovation Center มิติใหม่ของการสร้างนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “คิดนอกกรอบ” (out of the box) ระดมมันสมองเหล่าฟินเทคสตาร์ทอัพทั่วไทยมาช่วยกันคิดค้น ซึ่ง “สาระ ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมืองไทยประกันชีวิต บอกว่า ไม่เกินปีนี้ ได้เห็นแน่นอน

ขณะที่ “เอไลฟ์” ร่วมกับอีการ์ดสตูดิโอ ซึ่งเป็นฟินเทคสตาร์ทอัพจากสหรัฐ ได้พัฒนานวัตกรรมการให้บริการหลังการขายผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้ทุกเวลาผ่าน “ระบบ A Smart” และยังมีระบบการแจ้งเตือนการรับคูปองผลตอบแทน การต่ออายุกรมธรรม์ รวมไปถึงข่าวสารต่างๆอีกด้วย

เชาวพันธุ์ พันธุ์ทอง กรรมการผู้จัดการ เอไลฟ์ บอกว่า ปีนี้มีงบลงทุนไอที 150 ล้านบาท โดยจะทยอยพัฒนาระบบบริการอื่นๆ ให้ได้ตามเป้าหมายน่าจะเห็นรูปแบบใหม่อีกช่วงกลางปีนี้

ด้านฝั่งธุรกิจประกันวินาศภัยไม่น้อยหน้าเมื่อ พี่ใหญ่ อย่าง “วิริยะประกันภัย”กางแผนปีนี้เป็นปีแห่งการก้าวสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมประกันภัย ภายใต้แนวคิด 70 ปี วิริยะประกันภัย มุ่งสู่อนาคต ด้วยความเป็นธรรม ภายใต้นวัตกรรมบริการ 4.0 โดยได้ลงทุนว่าจ้าง The Boston Consulting Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เข้ามาปรึกษาและเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มให้มีระบบการทำงานให้คล่องตัวมากขึ้น ทั้งในด้านการรับประกัน และ สินไหมทดแทน ให้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน และยังสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ

สยม โรหิตเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วิริยะประกันภัยบอกว่า การนำเทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการประกันภัยอย่างเต็มรูปแบบทั้งในด้านการให้บริการด้านสินไหมทดแทน เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำทางด้านการบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่น

เช่นเดียวกับ “ธนชาตประกันภัย” ที่ได้ประกาศหาพันธมิตรฟินเทคสตาร์อัพมาร่วมสานต่อระบบงานไอที “พีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ” บอกว่า ตอนนี้เราเปิดกว้างมากใครพร้อมมาคุยกันตลอดเวลา และเราอยู่ระหว่างหารือภายในกับกลุ่มธนชาต หวังพัฒนาแอพพลิเคชั่น"Thanachart Club DD” ต่อยอดบริการด้านประกันภัยให้กับลูกค้า จากปัจจุบันยังใช้เป็นแอพพลิเคชั่น มอบสิทธิพิเศษเท่านั้น หลังเปิดตัวแอพพลิเคชั่นนี้เพียงปีกว่าๆ มีสมาชิกมีผู้ใช้กว่าแสนรายแล้ว

ประกันข้ามชาติงัดนวัตกรรมล้ำยึดลูกค้า

ในส่วนของประกันต่างชาติไม่น้อยหน้า สุ่มทยอยต่อยอดแอพพลิเคชั่นเจ๋งๆ รุกหนัก “ระบบเคลมสินไหมออนไลน์” อย่างแอพพลิเคชั่นล่าสุด “อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต” กับ “My Allianz” ที่เตรียมพัฒนาต่อระบบชำระเบี้ยผ่านแอพฯนี้ คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงครึ่งหลังภายในปีนี้แน่นอน เล็งสร้างฐานคนรุ่นใหม่ในระยะยาวจะช่วยทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น เชื่อมั่น บอกต่อและนำไปสู่แบรนด์ผู้นำตลาดที่เป็นแบรนด์ลูกค้าให้ความภักดีสูงสุด

ขณะที่“กลุ่มเจนเนอราลี่ประกัน” มีเม็ดเงินลงทุนไอทีพร้อมสนับสนุนระยะ 3-5 ปี และตอนนี้กำลังศึกษาข้อกฎหมายดิจิทัลประกันให้ตกผลึกก่อนเดินหน้าเต็มรูปแบบ

บัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ  ซีอีโอ กลุ่มเจนเนอราลี่ บอกว่า ปัจจุบันต้นทุนของดิจิทัลไม่ถูกอีกต่อไป เมื่อทำให้โดดเด่นหรือเจ๋งกว่าคนอื่น แน่นอนว่า จะมีต้นทุนไม่ปกติเกิดขึ้นทันที ดังนั้น การขายสินค้าประกันออนไลน์ ไม่น่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้นัก และคงต้องเริ่มจากสินค้าประกันวินาศภัยรายย่อย มาเป็นตัวเริ่มติดเครื่องตลาดนี้ก่อน มองว่าถ้ารถไม่มีประกันเราก็คงไม่กล้าออกจากบ้านกัน

อย่างไรก็ตามในปีนี้จะเห็นโฉมใหม่ของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ต่อยอดแอพพลิเคชั่น Generali365 เช่น สามารถจ่ายเบี้ยประกันและเปิดดูรายละเอียดกรมธรรม์ เป็นต้น สอดรับกับ “FWD” และ“FPG” กำลังหารือกับบริษัทแม่เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านไอทีอย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ และรับรองว่า เมื่อทำแล้วไปเร็วไปไวกว่าแน่นอน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อินชัวร์เทค” เป็นเทรนด์กำลังมา แม้จะยังไม่กระทบต่อธุรกิจประกันในทันที แต่เป็นสิ่งที่บริษัทประกันทุกแห่งต้องเตรียมตัวไว้ เพราะในอนาคตอาจกระทบธุรกิจได้ ทั้งในแง่บริการที่ซื้อง่ายขายเร็วเพียงเสี้ยววินาที และนำฐานข้อลูกค้ามาใช้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นศูนย์กลางและเกิดประโยชน์กับลูกค้าสูงสุด ...น่าจะวัดกันเลยว่าใครจะอยู่ใครจะไป