แกะรอยสูตรแปลงทุน หลักแสน สู่ พันล้าน

แกะรอยสูตรแปลงทุน หลักแสน สู่ พันล้าน

ตามแกะรอยเส้นทางสองมนุษย์เงินเดือน เอสเอ็มอีตัวเล็กก่อร่างสร้างแบรนด์สู่ธุรกิจพันล้าน “ตำมั่ว” และ “จิ๊บ (JIB) ”

ก่อนจะมาขยับขนาดธุรกิจจากหลักสิบ หลักร้อย มาถึงหลักพันล้าน ทุกช่วงการเบ่งขนาด ล้วนมาจากหลักคิดของการบริหารจัดการ และคาดการณ์ธุรกิจ พร้อมกับควบคุมบัญชี การเงิน ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประเมินความเสี่ยง ต้นทุน-กำไร เวลาไหนเหมาะสมควรเปิดน่านน้ำใหม่สยายปีกธุรกิจ

ดังเช่นความสำเร็จของอดีตมนุษย์เงินเดือน “เบสท์ -ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์” ประธานบริษัท เครซี่สไปร์ซี่ กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารอีสาน ‘ตำมั่ว’ ปัจจุบันมี 131 สาขา กำลังขยายธุรกิจไปในอาเซียน และ “สมยศ เชาวลิต” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. กรุ๊ป จำกัด เจ้าของธุรกิจ ร้านจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ “JIB Computer” ที่เล่าถึงกลยุทธ์การบริหารเส้นทางการเงิน ในงานสัมมนาธุรกิจ SME ยิ่งใหญ่ แกะรอย 100 ล้าน Young Self - Made Millionaire โดย อายุน้อย 100 ล้าน Academy ตอน “The Transformer : เปลี่ยนมุมคิด พลิกธุรกิจสู่ร้อยล้าน”

ธุรกิจไม่ใช่ธุรกิจใหม่ ใครๆก็ทำกัน แต่สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนทั้งสอง แตกต่างจนพัฒนาสู่ระบบแฟรนไชน์ร้านอาหารอีสาน ขณะที่ร้านขายคอมคอมพิวเตอร์ของจิ๊บ มีสาขาถึง 180 สาขา ครองอันดับสองของการขายสินค้าออนไลน์ในเว็บไซด์ลาซาด้า

หนึ่งในเส้นทางการใช้เงินทุนก้อนแรก ต่อยอดเงินทุนสู่ธุรกิจพันล้าน คือ “การคุมหัวใจด้านการเงินและบัญชี” ให้อยู่หมัด

เรื่องราวการเป็นเจ้าของกิจการ เบสท์-ศิรุวัฒน์ อดีตหนุ่มครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ ผู้ทิ้งความฝันเดียวในชีวิตคือการได้เป็นผู้กำกับหนังโฆษณา เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว แปลงร้านอาหารอีสานที่แม่ขายมากว่า 20 ปี มาเป็นธุรกิจของตัวเอง โดยใช้ความรู้ด้านทำแบรนด์ ใส่สตอรี่ร้านอีสานของแม่ ด้วยเงินทุนตั้งต้นตอนออกจากงานประจำ 2 - 3 แสนบาท

“เริ่มต้นจากเงินน้อยต้องคิดให้เยอะ” คนทำงานสายโฆษณาจึงร้อนวิชาผ่าตัดหาจุดแข็งไหนที่แม่ทำไว้ดีอยู่แล้วก็ชูให้เด่น ตรงไหนอ่อนก็ค่อยๆ แปลงโฉมใหม่ เช่น ร้านอาหารที่ใครก็จำชื่อไมได้ ชื่อร้านนครพนม บางคนก็เรียกส้มตำป้าน้อยบ้าง ส้มตำ หน้าโรงเรียนบ้าง

จึงทำแบรนด์ชื่อเดียวที่คิดว่าคนจำง่ายๆ ว่า “ตำมั่ว” ดีไซน์โลโก้เป็นรูปพริกที่ใครมองเห็นก็ร้องอ๋อเลยว่า..ขายอะไร

ร้านอาหารถูกอัพเกรดขึ้นมา โดยการลดขนาดร้านจาก 40 ที่นั่งเหลือ 15 ที่นั่ง จากไม่ติดแอร์เป็นติดแอร์ จากมีเมนูกว่า 200 เมนูลดเหลือเพียง 50 เมนู ที่เน้นๆ การันตีว่าเด็ดสุด

ทว่า ส้มตำรุ่นลูกป้าน้อย“ตำมั่ว”ไม่ได้ขายดีตั้งแต่วันแรกยอดขาย 2,000 บาทที่เบสท์ต้องรีบหาวิธีเอาชนะอุปสรรค เพื่อยืนยันแผนธุรกิจและความชัดเจนของแบรนด์ ด้วยการใช้วินมอเตอร์ไซต์ย่านปทุมธานีใส่เสื้อโลโก้ ทำให้คนรู้จักร้านมากขึ้น

1 ปีผ่านไป ยอดขายดีชนิดเที่ยงเต็ม-เย็นเต็ม จนขยายเพิ่มสาขาสอง ในปีที่สอง

เมื่อเปิดสาขาที่ 3 และ 4 “ตำมั่ว” เริ่มเจอปัญหายอดไม่เป็นไปตามเป้า เพราะควบคุมต้นทุนหน้าร้าน และสูตรไม่ได้

จนต้องกลับมามองวิธีการบริหารจัดการวางหลังบ้านให้แม่นยำ ตั้งแต่ระบบการทำสูตรอาหาร อบรมพนักงาน จนพัฒนาไปสู่การทำแฟรนไชส์ โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยทำเอง

เบสท์ บอกว่า จุดเด่นที่ชัดเจนที่สุดของ“ตำมั่ว” ยังอยู่ที่การคำนวณแม่นยำถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจของสาขาแฟรนไชส์ ค่าแฟรนไชส์ 6 ล้านบาท คืนทุนได้ไม่เกิน 20 เดือนบวกลบนิดหน่อย ปิดจุดเสี่ยงธุรกิจ

ปี2560 ตำมั่วกำลังเพิ่มสาขาอีก 60 สาขา โดยวางสัดส่วนแฟรนไชส์ไว้ที่ 80 % ต่อร้านของตัวเอง 20%

ส่วนเส้นทางการเติบโตของพระบวชเรียน จนถึงระดับนักธรรมตรี และนักธรรมโท “จิ๊บ ” สมยศ เชาวลิต ยังผันตัวเองไปเป็นนักมวย ชกบนสังเวียนผ้าใบเพื่อหาเงินเลี้ยงตัวระหว่างเรียน จนได้ทำงานเป็นพนักงานธนาคาร เสี้ยวหนึ่งของเส้นทางนักสู้กว่าจะมาเป็นเจ้าของกิจการขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ JIB computer กำทุนก้อนที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2 แสนบาท มาเปิดบูทขายคอมพิวเตอร์ในห้าง

ทุนน้อยแต่ต้องขายแข่งกับหน้าร้านยักษ์ใหญ่ สิ่งที่จิ๊บ คนขายผู้มาใหม่ในย่านเซียร์ รังสิต แตกต่างจากหน้าร้านทั่วไปคือ ขยันมาจัดหน้าร้านรอเปิดตั้งแต่ 7 โมงและปิด 2 ทุ่ม อีกจุดหนึ่งคือการันตีบริหารและซื่อสัตย์กับลูกค้า

อย่างเช่นลูกค้ารายหนึ่งมาสำรวจราคาคอมฯ สมยศ แจกแจงอุปกรณ์ และราคาทุกชิ้น รวมเบ็ดเสร็จ 2 หมื่น ลูกค้าขอเวลาเดินสำรวจราคาดูร้านอื่น เขาไม่ขัดลูกค้าเพียงแต่บอกว่า หากเจอร้านถูกกว่าให้เดินกลับมาหาเขา สุดท้ายลูกค้าเดินกลับมา เริ่มเข้าทางเขา

“ผมยกมือไหว้ลูกค้าท่วมหัว ยอมรับร้านเล็กต้นทุนแพงกว่า แต่หากซื้อร้านนี้ยอมลดให้อีกจากราคาเดิม 300 บาท แต่บริการเต็มที่ แม้ราคาสูงกว่าเล็กน้อย แต่ด้วยความที่อธิบายอย่างดีราว 1 ชั่วโมง พร้อมบริการหลังการขาย ลูกค้าก็เห็นใจสงสาร” นี่คือเทคนิคที่จิ๊บขายคอมที่เหมือนเจ้าอื่น แต่คนกลับซื้อจากจิ๊บ

วิธีการบริหารบัญชีและการเงินก้อนแรกไปสู่เงินก้อนสิบล้าน ร้อยล้าน สำหรับจิ๊บ คนที่เริ่มต้นอย่างไม่มีหลักประกันจากแบงก์ อยู่มาได้เพราะใช้เครดิต 30 วัน จากบริษัทไอที อาทิ เอซุส เลอโนโว

แต่ช่วงแรก จิ๊บก็หาเงินเข้าบัญชีแบบหัวหมุน เมื่อถึงช่วงที่เริ่มใช้เช็ค กำหนดตัดยอดวันรุ่งขึ้น ปิดร้านตอน 2 ทุุ่ม รีบบึ่งเอาเงินขายของจากร้านไปหย่อนในช่องฝากเงินอัตโนมัติแบบเฉียดฉิว

จิ๊บเล่าว่า สองถึงสามปีแรกเป็นช่วงที่ฐานะการเงินยังไม่มั่นคงเหนื่อยหนักสุดๆ แต่สิ่งที่ทำให้เติบโตมาได้คือขายของสนุกมาก จนไม่รู้ว่าทำงานมีกำไรหรือขาดทุน

“เผลอแป๊บเดียวร้านขยายเป็น 30 สาขา ผมจบไอทีมาจึงพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ลิงค์กับทุกสาขาเพื่อดูยอดขาย สต็อกได้” เป็นเริ่มต้นของการวางระบบที่มีประสิทธิภาพ

โดยมีธนาคารเห็นโอกาสเข้ามาปล่อยกู้รวดเดียว 350 ล้านบาท เป็นทั้งแรงส่ง และกับดักที่ทำให้เขาเดินธุรกิจเร็ว ขยายกิจการอย่างเมามัน จนเข้าสู่จุดเปลี่ยนของคอมพิวเตอร์ ในปี 2556ตลาดก็เริ่มซบเซา คนซื้อคอมพ์ลดลงฮวบ

โดยที่ ณ วันนั้นสาขาร้านคอมพิวเตอร์ก้าวพรวดพราดโตไปถึง 180 สาขา จิ๊บเริ่มแก้โจทย์วิกฤติปิดสาขาที่ไม่มีกำไรเพียงไม่กี่เดือนปิดไป 42 สาขา

“ด้วยความที่เราเหิมเกริม ขายดียิ่งเปิดสาขา ลูกน้องก็เตือนแต่ทุกคนก็ต้องเชื่อนาย พี่ว่าดีแน่นอน แต่วันนี้ สาขาไหนขาดทุนก็ปิดเลย ส่วนอุปกรณ์ตอนเปิดเริ่มคิดได้ว่าออกแบบให้พร้อมปิดและพร้อมรื้อไปใช้สาขาอื่นต่อได้ ”

ปัจจุบันธุรกิจเริ่มไปเติบโตในออนไลน์ เป็นสาขาที่ทำเงินมากที่สุด จิ๊บปรับตัวให้ทันกับยุคเน้นบริการส่งด่วนภายใน 4 ชั่วโมง และต่างจังหวัดภายในวันพรุ่งขึ้น

ล่าสุดวางระบบเซิร์ฟเวอร์ให้ดูยอดขายได้แบบเรียลไทม์ ที่สามารถคำนวณต้นทุน ขาดทุนกำไรแบบวันต่อวัน โดยที่รวมต้นทุนทุกอย่าง แม้กระทั่ง ค่าจ้างพนักงานรายเดือนและค่าเช่า เสร็จสรรพ

“เพียงเปิดหน้าจอมือถือก็สามารถดูยอดขายแต่ละสาขาได้ทันที หากเปิดตอนบ่ายสองได้แสนห้า ก็บิวท์ยอดโดยโปรโมชั่นหรือกลยุทธ์หลากหลายเพิ่มยอดขึ้นห้าแสนหรือหนึ่งล้านได้ในวันเดียว”

การรู้ยอดขายแบบเรียลไทม์ไม่ใช่เพียงเพิ่มยอดไม่ให้ขาดทุนสะสมติดลบ แต่จิ๊บ ยังวางแผนธุรกิจได้ก่อนสิ้นเดือน

ปีล่าสุดปิดการขายไปที่ 7,000ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 7,200 ล้านบาท มี 140 สาขา

-----------------------------------

สำเร็จอย่าง ร้านส้มตำ “ตำมั่ว”

-เน้นแบรนด์ดิ้ง สตอรี่ และตกแต่งร้าน

-เงินน้อย คิดเยอะ ทำเยอะ

-แฟรนไชส์ คือ ตัวแทนขยายแบรนด์

-เมื่อวิกฤติมาเยือนรู้เร็ว อุดเร็ว

-จัดการระบบหลังบ้านดี แม่นยำต้นทุน-กำไร วางคน

---------------------------------

สำเร็จอย่างร้าน “จิ๊บ - JIB Computer”

-หน้าร้านสวย สินค้าครบ บริการดี ซื่อสัตย์

-เจ้าพ่อไอที พัฒนาเซิร์ฟเวอร์เชื่อมทุกสาขาแบบเรียลไทม์

-สาขาไหนขาดทุน ปิดให้เร็ว