TPIPP มาร์จิ้น 'สวยมาก' ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ ยกมือรับรอง

TPIPP มาร์จิ้น 'สวยมาก' ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ ยกมือรับรอง

หลานชาย 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' แจกแจงสารพัดความงาม หุ้น ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ 'ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์' โชว์เทคโนโลยีพลังงานขยะ 'เด่นสุดใหญ่สุด' ในเมืองไทย

แม้ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP เจ้าของพลังงานขยะ,พลังงานความร้อนทิ้ง และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติของ “กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์” จะเลื่อนเข้าตลาดหุ้นจากปลายปีก่อนมาเป็นวันที่ 5 เม.ย.2560 ด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอราคา 7 บาทต่อหุ้น หลังสถานการณ์ภายในประเทศไม่เอื้ออำนวย

แต่นักลงทุนสถาบันทั้งในและนอกประเทศกับให้ความสนใจจองซื้อหุ้นไอพีโอสูงถึง 7 เท่า หลัง 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' ในฐานะเจ้าของตัวจริงหนีบเอกสารบริษัทแจกแจงนักลงทุนด้วยตัวเอง สวนทางกับนักลงทุนรายย่อยที่ยังไม่กล้าเข้าลงทุนอย่างเต็มตัว เนื่องจากบางรายยังมีอดีตฝังใจในช่วงปี 2540 หลังรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

เป็นเหตุให้ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้ก่อตั้ง 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' จำเป็นต้องเดินเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ และใช้เวลายาวนานหลายปีกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC และถือหุ้นใหญ่ผ่าน บมจ.ปตท.38.51%)

ทว่าหากพิจารณาความสวยของ 'ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์' จะพบว่า หลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หุ้น TPIPP จะมี มาร์เก็ตแคป สูงถึง 58,800 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าหุ้นแม่ ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วนการลงทุน 70% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชน) ที่มีมาร์เก็ตแคปอยู่ระดับ 52,000 ล้านบาท ปรากฎการณ์ดังกล่าว ถือว่าหาได้ยากที่หุ้นลูกจะใหญ่กว่าแม่

ปัจจุบัน 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' ยกหน้าที่บริหารงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ให้สองหลานชาย 'ภรกร เลี่ยวไพรัตน์' และ 'ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์' ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน ตามลำดับ

ในฝั่งของ 'ภัคพล' ในฐานะน้องชาย หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท คณะเศรษฐศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ตัดสินใจกลับเมืองไทย เพื่อมาทำงานในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี และตั้งใจจะศึกษาต่อระดับปริญญาเอกเมื่อมีโอกาส

แต่เมื่อผู้เป็นพ่อ 'ประทีป เลี่ยวไพรัตน์' มีคำสั่งประกาศิตผ่านลูกชายคนรองว่า 'เรียนมาก็สูงไปทำงานให้คนอื่นรวยทำไม' หนุ่มรอนนี่ ตัดสินใจลาออกมาช่วยงานทันที หลังสนุกกับการทำงานได้เพียงหนึ่งปี

โดยเริ่มต้นชิมลางงานครอบครัว ผ่านทีมซีเอฟโอ TPIPL ก่อนจะแยกตัวออกมานั่งทำงานต่อใน 'ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์' หลังบริษัทเตรียมตัวจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และต้องการหาคนทำงานปิดจุดอ่อนบางประการของบริษัท

'อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท ถือว่ามีตัวเลขที่ดีมาก (ลากเสียงยาว) เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการพลังงานทดแทนเจ้าอื่น'

'ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ตอกย้ำจุดเด่นผ่าน 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week'

ก่อนอธิบายต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 4 โครงการ กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของ TPIPL อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ประกอบด้วย

1.โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง WH-40MW กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ (ประกอบด้วย 2 หน่วยผลิตไฟฟ้า แต่ละหน่วยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 20 เมกะวัตต์) 2.โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF-20MW กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ (พลังงานขยะ)

3.โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF-60MW RDF กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และ 4.โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง WH-30MW กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์

'อัตรากำไรขั้นต้น' โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งแห่งที่ 1 และ 2 อยู่สูงมากเฉลี่ย 2 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF (พลังงานขยะ) แห่งที่ 3 บริษัทขายให้กฟผ.กินกำไรขั้นต้นเฉลี่ย 4.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งแห่งที่ 4 โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะแห่งที่ 5 และ 6 มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ย 2 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และ 4.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ตามลำดับ ส่วนโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งที่ 7 และ 8 มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ย 1 บาท

สาเหตุที่มี 'กำไรขั้นต้นสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น' ประการแรก โรงไฟฟ้า RDF-20MW (TG3) และโรงไฟฟ้า RDF-60MW (TG5) ที่มีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ แต่ขาย 18 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ แต่ขาย 55 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.5 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

ตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่บริษัทจำหน่ายให้แก่กฟผ.เป็นระยะยาวเวลา 7 ปี นับจากวันที่เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้า RDF-20MW และโรงไฟฟ้าRDF-60MW จะสิ้นสุดในเดือนม.ค.2565 และส.ค.2565 ตามลำดับ

ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF-70MW หรือ TG6 กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก็ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.5 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงเช่นกัน

ประการที่สอง บริษัทมี 'ต้นทุนการผลิตต่ำ' เนื่องจากแต่ละโครงการมีขนาดใหญ่ สะท้อนผ่านกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF จำนวน 80 เมกะวัตต์ (ถือว่าใหญ่ที่สุดในเมืองไทย) ขณะที่คู่แข่งรองลงมามีกำลังการผลิตเพียง 14 เมกะวัตต์เท่านั้น (เมืองไทยมีผู้ประกอบการพลังงานขยะหลายสิบโรง กำลังการผลิตรวมกัน 150 เมกะวัตต์)

'ผู้ประกอบการรายอื่นที่มีกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ขณะที่ TPIPL มีกำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ เท่ากับว่า เจ้าอื่นมีต้นทุนสูงกว่าเรา 10 เท่า ยิ่งสิ้นปีนี้เราจะเป็นผู้ประกอบการเจ้าเดียวในเมืองไทยที่มีระบบ RDF Plant (ปลี่ยนขยะสดเป็นเชื้อเพลิง) หลังซื้อเทคโนโลยีบางส่วนมาจาก ฟินแลนด์ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 4,000 ล้านบาท (ทยอยลงทุนมาตั้งแต่ปี 2550) ยิ่งทำให้เราได้เปรียบเจ้าอื่น'

ประการที่สาม ปัจจุบันบริษัทมีสัญญารับซื้อขยะสด จาก 89 เทศบาล 13 บริษัทเอกชนใน 7 จังหวัด ซึ่งผู้นำส่งขยะสดจะเป็นผู้จ่ายค่าขนส่งเองทั้งหมด เพราะต้องการกำจัดขยะออกจากแหล่งชุมชน (ขยะในส่วนนี้คิดเป็น 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด)

ขณะเดียวกันบริษัทยังดีลกับบ่อขยะเก่า โดยจะขอให้เจ้าของขยะเก่าบางแห่งลงทุนเพิ่มเติม เพื่อติดตั้งเครื่องคัดแยกขยะเบื้องต้น เพื่อให้ค่าความร้อนถึง 2,500 กิโลแคลอรี่ ซึ่งเราจะรับซื้อแคลอรี่ละ 20 สตางค์

แต่หากบ่อขยะเก่าแห่งใด ไม่มีงบลงทุน TPIPP จะใส่เงินลงทุนให้ ถือเป็นการการันตีทางหนึ่งว่า 'บ่อขยะนี้จะเป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว' ตามแผนจะใช้เงินลงทุน เพื่อติดตั้งเครื่องคัดแยกขยะเบื้องต้นในหลุมผังกลบหลากหลายจังหวัด มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท เฉลี่ย 4-5 บ่อขยะ โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2560

หลานชาย 'ประชัย' เล่าต่อว่า สิ้นปี 2560 กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของบริษัทจะขยับตัว จาก 150 เมกะวัตต์ เป็น 440 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตพลังงานความร้อนทิ้ง 70 เมกะวัตต์ ,พลังานเชื้อเพลิง RDF 150 เมกะวัตต์ และพลังงานถ่านหิน 220 เมกะวัตต์

โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาเฉลี่ย 290 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่มาจาก 3 โครงการหลัก นั่นคือ 1.โรงงานพลังงานเชื้อเพลิง RDF-70 MW กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุน 3,300 ล้านบาท 2.โรงงานพลังงานถ่านหิน กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุน 7,300 ล้านบาท
3.โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิง RDF-70 MW มูลค่าลงทุน 900 ล้านบาท ซึ่งโครงการสุดท้ายจะถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่น ในกรณีที่โรงไฟฟ้า RDF-70 MW หรือRDF-60 MW ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิต ทางบริษัทก็จะใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ในการผลิตไฟฟ้าสำรองทันที

ตามแผนงานบริษัทจะจำหน่ายพลังงานเชื้อเพลิง RDF-70 MW ให้กับ กฟผ.ส่วนพลังงานถ่านหิน และพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้องเพลิง RDF-70 MW จะจำหน่ายให้กับ TPIPL หลังพบว่า การขายไฟฟ้ามีมาร์จิ้นส่วนหนึ่ง ฉะนั้นแทนที่ TPIPL จะซื้อไฟฟ้าจากกฟผ.ก็มาซื้อจากบริษัทลูกแทน โดย TPIPL จะซื้อไฟฟ้าจากเราในราคาเดียวกับที่ซื้อผ่านกฟผ.

เมื่อถามว่า ปี 2561 จะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ นายน้อย ตอบว่า มีแน่นอน แต่คงบอกรายละเอียดไม่ได้ หากพิจารณาย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2557 -2559 จะพบว่าบริษัทมีการลงทุนต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่ 3,300 ล้านบาท 3,000 ล้านบาท และ 5,400 ล้านบาท ตามลำดับ ฉะนั้นเราคงไม่หยุดลงทุน เพราะองค์กรแห่งนี้ต้องสร้างการเติบโตตลอดเวลา

'ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีควรอยู่ระดับ 15%' 

'ภัคพล' ทิ้งท้ายว่า การลงทุนนับจากนี้จะมุ่งหน้าไปทาง 'พลังงานทดแทน' อย่างเดียว ไม่ว่ารัฐบาลจะเปิดประมูลโครงการลักษณะไหน บริษัทพร้อมเข้าไปประมูล หากผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ความน่าสนใจของพลังงานทดแทนอยู่ตรงที่รัฐบาลได้ออกมาเปลี่ยนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จากระดับ 10% เป็น 25% ภายในสิบปีข้างหน้า เท่ากับว่ายังมีช่องว่างในการสร้างเงินอีกจำนวนมาก แม้จะมีคู่แข่งจำนวนมากก็ตาม

'คงให้ความสนใจพลังงานระบบเก่าอย่างถ่านหินน้อยที่สุด รองลงมาเป็นพลังงานความร้อนทิ้ง แต่พลังงานที่ดีที่สุดสำหรับเรา คือ ลม แดด ขยะ และไบโอแมส อย่างน้อยก็ยังทิ้งเรื่องบวกให้กับโลกใบนี้'