เมืองการบิน ‘อู่ตะเภา’

เมืองการบิน ‘อู่ตะเภา’

เมืองการบิน "อู่ตะเภา" เปิดศักราชใหม่ภาคตะวันออก

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาวานนี้ (5 เม.ย.) ได้ประกาศพื้นที่สนามบินและโดยรอบ 6,500 ไร่ เป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ครศ.) ระบุว่าคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกรับทราบความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ... ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการอีอีซี

“ขณะนี้ ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 9 เม.ย.นี้ และกฎหมายจะประกาศใช้โดยเร็วที่สุดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน”

คณะกรรมการฯยังมีมติเห็นชอบให้มีการประกาศพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่โดยรอบประมาณ 6,500 ไร่ ให้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยใช้ชื่อว่า “เมืองการบินภาคตะวันออก” วงเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาทใน 5 ปี

รวมทั้งให้มีการเร่งเตรียมความพร้อมในเรื่องของการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์)ที่2เพิ่มเติม และ5กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบิน คือ

1.กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15, 30 และ 60 ล้านคนในระยะเวลา 5, 10 และ15ปี ตามลำดับ

2.กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน ในลักษณะเขตการค้าเสรี

3.กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน เพิ่มเติมจากศูนย์ซ่อมการบินไทยในปัจจุบัน

4.กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ ทั้งคาร์โก้ สินค้าทางไปรษณีย์ และคลังสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และ

5.กลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน

นอกจากนั้นในอนาคตจะมีการส่งเสริม 3 กิจกรรมธุรกิจในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน จัดทำรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน และจัดทำสัญญาร่วมกับเอกชนให้แล้วเสร็จในปี 2560

ไฟเขียวร.ฟ.ท.เดินหน้าไฮสปีดเทรนด์

ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง ที่เชื่อมสนามบินพาณิชย์ทั้งสามแห่งทั้งดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ คณะกรรมการฯเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้มีการปรับปรุงระบบขนส่งทางรางให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งเชื่อมโยงสนามบินทั้ง 3 สนามบินได้ และต้องวางแผนให้ประมูลแล้วเสร็จในปี 2560 และเริ่มก่อสร้างได้ปี 2561 เพื่อให้รองรับการขยายสนามบินอู่ตะเภาที่จะแล้วเสร็จในปี 2565

โครงการรถไฟความเร็วสูงลงทุนประมาณ1.58 แสนล้านบาท ภายใน5ปี ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จการเดินทางจากกรุงเทพ-ระยอง จะใช้เวลาในการเดินทางเพียง1ชั่วโมง โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดการศึกษาตามข้อเสนอดังกล่าว

คาด5ปีแรกลงทุนเอกชนทะลุเป้า5แสนล้าน

นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายอีอีซีได้รับทราบความก้าวหน้าในการปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก 3 เรื่อง คือ

1.การเร่งรัดการลงทุนในโครงการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) สำหรับโครงการสำคัญในอีอีซี ซึ่งสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 8-10 เดือน โดยการดำเนินการคู่ขนานกับการประมูลโครงการ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น แต่คงรักษาระดับธรรมาภิบาลอย่างเต็มที่ เน้นการเปิดเผยข้อมูล การรักษาความโปร่งใส และตรวจสอบได้

2.การจัดทำเขตปลอดอากรที่ปลอดเอกสารและมีความสะดวก รวดเร็วในระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ และ

3.การชักจูงผู้ลงทุนรายสำคัญเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยได้มีการดำเนินการโดยจัดให้มีผู้รับผิดชอบดูแลผู้ลงทุนรายสำคัญแต่ละราย โดยเน้นการลงทุนในเรื่องของไบโออีโคโนมีซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้วและอยู่ระหว่างการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง ครม.ได้มีการเห็นชอบมาตรการส่งเสริมแล้วและมีบริษัทให้ความสนใจลงทุนหลายราย

ส่วนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีการเสนอมาตรส่งเสริมการลงทุนต่อ ครม.เร็วๆ นี้ ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัลนำโดยบริษัทลาซาด้า และอาลีบาบา กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงเรื่องการลงทุนในโครงการ e-commerce park และการส่งเสริมการลงทุนศูนย์การแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

“ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในระยะ 5 ปีแรกของภาคเอกชน อาจจะมีมูลค่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากมีภาคเอกชนที่สนใจลงทุนเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนจะมีการประเมินมูลค่าการลงทุนอีกครั้ง” นายคณิศกล่าว

ตั้งเขตนวัตกรรมรองรับ

นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายอีอีซียังเห็นชอบแนวทางการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกของประเทศไทย 2 โครงการภายใต้การลงทุนในพื้นที่อีอีซี คือ

1.โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะแรกในพื้นที่ 350 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง โดยให้ศึกษาความเป็นไปได้เพื่อประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมโดยเร็ว

2. เขตนวัตกรรมดิจิทัลภาคตะวันออก ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ 800 ไร่ บริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี