แผน ‘เปลี่ยน’ เกมอสังหาฯ VR Real.Estate

แผน ‘เปลี่ยน’ เกมอสังหาฯ  VR Real.Estate

สามารถสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถ้าใช้ VR (Virtual Reality) เป็นเครื่องมือนำเสนอขายโครงการบ้าน หรือคอนโดมีเนียมให้กับลูกค้า

คือแทนที่จะใช้เครื่องมือเก่าอย่าง “โมเดล” ที่ไม่สมจริง VR โดดเด่นเรื่อง “ความเสมือนจริง” จะช่วยทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจ “ซื้อ” ได้ง่ายขึ้น


เป็นสมมุติฐานของ “เพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข” CEO และ Founder บริษัท บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของโปรดักส์ที่ชื่อ “VR Real.Estate”


แม้จะรู้ว่าเทรนด์มาแน่ๆ แต่เพิ่มพงศ์บอกว่าต้องมาศึกษาต่อในเชิงลึกให้รู้ถึงแก็บปัญหาที่มีอยู่ ทั้งเกี่ยวกับเรื่องทางเทคนิคของ VR เพื่อพัฒนาโปรดักส์ที่สตรอง สร้างความ “ว้าว” ให้กับลูกค้า รวมไปถึงต้องหาให้เจอว่าใครคือตลาดเป้าหมายที่ควรต้องโฟกัส


เขาบอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา VR ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน ส่วนใหญ่ออกแบบมาเป็นเลนส์ง่ายๆ อุปกรณ์ต่างๆยังไม่พร้อม ผลก็คือ ภาพไม่สวยแถมยังดีเลย์เพราะระบบประมวลผลช้า พอใส่แค่แป๊บเดียวคนก็จะรู้สึกเวียนหัว


"ตัวผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนากับอุปกรณ์ที่แตกต่างจากเลนส์ที่มองธรรมดาจะทำหน้าที่เป็นจอภาพและมีเซ็นเซอร์เต็มไปหมด ข้อจำกัดเรื่องภาพไม่สวย ไม่สมจริงก็ถูกย้ายฝั่งไปถูกสร้างภาพในคอมพิวเตอร์ทำภาพสวยๆออกมา มันยังทำให้คนสามารถเดินได้ และการเคลื่อนไหวก็สัมพันธ์กับภาพที่มองเห็น เล่นได้นานๆโดยไม่เวียนหัว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เวลาเล่นเกมคนต้องยืนอยู่นิ่งๆ แค่หันซ้ายหันขวาเดินไม่ได้ หรือต้องใช้จอยเกมซึ่งถือเป็นข้อเสียทำให้เกิดอาการเวียนหัว"


แล้วเทคโนโลยีนี้น่าจะฟิตกับธุรกิจใดมากที่สุด จากการศึกษาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มพงศ์พบว่า “อสังหาริมทรัพย์” ถือว่ามี “ศักยภาพ” เพราะมี “มาร์จิ้น” เยอะมาก


“ผมอ่านหลายๆรีเสิร์ซพบว่า VR จะถูกนำไปใช้ในตลาดเอสดูเคชั่น เรียลเอสเตท การทหาร และเฮลธ์แคร์ ผมมองว่าควรเจาะเรียลเอสเตทก่อน เพราะตลาดค่อนข้างมีแก็บอยู่พอสมควร”


เมื่อได้ทดลองนำเอาแนวคิดไปพรีเซนต์กับลูกค้าในธุรกิจก็ยิ่งพบว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกต้อง ทั้งพบว่าตลาดมีขนาดใหญ่ และปัญหาก็มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก


"ธุรกิจกลุ่มเรียลเอสเตทหลักๆเวลาจะขายโครงการ เขามักทำโบร์ชัวร์ ซึ่งก็เป็นภาพบ้านสวยๆ ไม่กี่มุม แล้วมีโมเดลบ้าน โมเดลคอนโดฯ ซึ่งตอนแรกผมไม่รู้ราคาเลยพยายามศึกษาข้อมูล ก็ได้เจอว่าโมเดลที่เรามองว่ามันก๊องแก๊งที่แท้มีราคาแพงถึงหลักแสนเลยทีเดียว"


ขณะที่ VR สามารถจำลองภาพบ้านเสมือนจริงซึ่งยังไม่ได้สร้างให้แล้วเสร็จได้ทั้งภายในและภายนอก เป็นระบบที่ง่ายเพียงผู้ใช้งานสวมใส่ก็เดินชมบ้านและคอนโดฯได้ทุกมุมมอง ระบบยังมีมือที่ผู้ใช้งานได้ลองเปิดปิดปลั๊กไฟ ก็อกน้ำ ฯลฯ ได้ทั้งหมดโดยให้ความรู้สึกทำด้วยตัวเอง


"เวลานี้โปรดักส์เราดีกว่าของต่างประเทศ เพราะเราใช้มือที่ให้ผู้เล่นใช้เวลาที่จะลองเปิดปิดอะไรก็ได้ ที่เหนือกว่าก็คือ ระบบยังสามารถเลือกเปลี่ยนสีพื้นหรือผนังก็ได้ ขึ้นกับทางดีเวลลอปเปอร์เลยว่าอยากได้แบบไหนซึ่งอันนี้ลูกค้าจะว้าวมาก"


เพิ่มพงศ์บอกว่า ถ้านับข้อดีของ VR สำหรับธุรกิจอสังหาฯ ถือว่ามีเยอะมาก อีกข้อหนึ่งก็คือ ธุรกิจสามารถครอสเซลล์ได้ หมายถึง เวลาที่ลูกค้าคิดจะซื้อบ้านซึ่งโดยปกติพวกเขามักมีแบรนด์ในดวงใจ และจะใช้วิธิขับรถตะเวณไปดูบ้านแต่ละโครงการ เมื่อเข้าไปแล้วไม่ชอบโครงการแรกก็จะไปดูโครงการอื่น ๆต่อ


"ระหว่างทางมีโอกาสที่ลูกค้าจะหลุด เพราะเขาอาจไปเจอแบรนด์คู่แข่งดักหน้า เมื่อได้ลองเข้าไปดูลูกค้าก็อาจตัดสินใจซื้อไม่เอาแบรนด์เดิมที่เคยคิดไว้ในใจ แต่โปรดักส์เราจะทำให้สามารถครอสเซลล์ได้ คือถ้าลูกค้าเข้าโครงการนี้ไม่ชอบใจก็สามารถนำเสนอได้ทุกโครงการ เพราะมันเป็นโลกจำลอง เราสามารถเสนออีกโครงการที่อยู่ห่างไปอีกหลายกิโล โดยลูกค้าไม่ต้องขับไปดู แต่ดูภาพเสมือนจริงก่อนถ้าสนใจก็สามารถปิดการขายได้เลย"


ข้อดีอีกข้อของ VR ก็คือ ทำให้ลูกค้าสนใจอยู่เฉพาะแค่ข้อมูลที่ธุรกิจต้องการจะให้เห็นเท่านั้น ขณะที่ถ้าให้เขาเดินทางไปดูโครงการเองก็อาจมีปัจจัยอื่นมาทำให้ความสนใจถูกเบี่ยงเบนไป


และทำให้ง่ายขึ้นกับธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่ปกติต้องเก็บโมเดลบ้านเก่าเอาไว้ เพื่อนำไปออกบูธในงานอีเวนท์่ต่างๆ ซึ่งเป็นการเปลืองพื้นที่ และการเก็บรักษาให้คงสภาพดีไว้ก็มีความยากลำบากด้วย


"ลูกค้ารับสร้างบ้านชอบโปรดักส์เรามาก เพราะไม่สามารถสร้างแบบบ้าน ไม่เหมือนบ้านจัดสรรทั่วไป เลยต้องมีโมเดลรวมถึงพาลูกค้าไปดูบ้านที่เป็นผลงานเก่า แต่พอไปถึงปุ๊บ บ้านก็เปลี่ยนสภาพไปจากเดิมมีการติดเหล็กดัดบ้าง หญ้ารกบ้างไม่สวยงาม แต่ VR จะทำให้บ้านดูใหม่อยู่ตลอดเวลา เขาอาจพาลูกค้าไปดูของจริงอีกนิดนึงแสดงให้เห็นว่าทำได้จริงๆและก็ปิดการขายได้เลย"


แต่ความเป็นจริงของธุรกิจนั้น ความรู้สึก “ว้าว” ของลูกค้าก็ไม่ได้หมายถึงการตัดสินใจซื้อ เขายอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นไม่สามารถเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอสังหาฯขนาดใหญ่ได้ จึงต้องเริ่มต้นกับบริษัทรับสร้างบ้านก่อนและสามารถปิดการขายได้แล้วหลายราย


"ผมต้องพยายามสร้างโปรไฟล์ของตัวเอง และหาคอนเน็คชั่นเพื่อพยายามเจาะเข้าบริษัทใหญ่ ในเดือนนี้เองที่ผมเพิ่งมีโอกาสได้เข้าไปคุยกับผู้บริหารบริษัทเรียลเอสเตทขนาดใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งต้องบอกว่าฟีดแบ็คเขาเป็นโพซิทีฟ เขาชอบ แต่ก็ยังมีมุมว่า เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ และมักมีถามว่ามีเจ้าไหนที่ใช้บ้างหรือยัง"


อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มเห็นว่ามีบริษัทอสังหาฯบางรายนำเอาเทคโนโลยีนี้จากต่างประเทศเข้ามาใช้บ้างแล้ว แน่นอนเป็นการปรากฏตัวขึ้นของคู่แข่ง แต่เพิ่มพงศ์มองว่าเป็นข้อดีเพราะเป็นการช่วยกันสร้างตลาดเนื่องจาก VR ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับธุรกิจ ใหม่สำหรับการทำตลาดแบบบีทูบี


แต่ว่ากันว่าคลื่นลูกใหม่แห่งโลกอนาคตอันใกล้ก็คือ VR, AR (Augmented Reality) และ MR (Mixed Reality) หมายถึงยังเป็นบลูโอเชี่ยนที่ต้องรีบคว้าโอกาส ถ้าช้ามันกลายเป็นเรดโอเชี่ยนที่คนตัวเล็กๆอาจไม่สามารถแจ้งเกิดได้

สตาร์อัพพลังของปัจเจก


เมื่อให้มองถึงข้อดีของการเป็นสตาร์ทอัพ เพิ่มพงศ์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือ สังคมรวมถึงคอปอเรทใหญ่ยอมรับที่ความสามารถของตัวบุคคลมากขึ้น ผู้บริหารระดับสูงเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าไปคุยธุรกิจโดยไม่ได้มองโปรไฟล์ว่าต้องเรียนจบที่ไหน หรือทำงานที่ไหน


แต่ทางตรงข้ามการเป็นสตาร์ทอัพก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่ามองโลกในแง่ดีจนเกินไป กระทั่งคิดว่า วงการนี้จะทำให้ตัวเราเดินอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์


"พออยู่ในธุรกิจจริงมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ไม่ใช่เราคิดจะผลิตอะไรปุ๊บ แล้วขายได้เลย เพราะต่อให้เป็นของที่มีประโยชน์กับลูกค้าจริงๆ เขาก็มีชั้นเชิงมาต่อรอง ถ้าเราไม่แข็งพอ โอกาสอยู่รอดยาก"


อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ยุคแรกๆสตาร์ทอัพถูกโปรโมทหนักมากในเรื่องของการเรสฟันด์ ทำให้คนสนใจเพราะคิดว่า แค่มีสไลด์ กับพาวเวอร์พอยท์ก็ไปนำเสนอแนวคิดให้นักลงทุนโยนเงินทุนก้อนใหญ่มาให้ได้แล้ว


"บางคนนึกว่า เป็นเงินทุนให้เปล่า นักลงทุนให้เงินฟรีๆ ในมุมนักลงทุนมันเป็นการลงทุน เป็นการแลกหุ้น มีเงื่อนไขเต็มไปหมดเลยที่เขาจะเข้ามาหาเรา ผมเองก็ยังไม่เรสฟันด์เพราะไม่รู้เงื่อนไขมากพอ แต่ได้คุยกับคนในวงการก็รู้ว่ามันมีข้อจำกัดเยอะแยะ เป็นข้อมูลอีกด้านที่ไม่ค่อยมีการโปรโมท"