ตร.รวบชื่อปล่อยกู้นอกระบบทั่วปท. ลุยพิโกไฟแนนซ์ร้อยละ3บ/ด.

ตร.รวบชื่อปล่อยกู้นอกระบบทั่วปท. ลุยพิโกไฟแนนซ์ร้อยละ3บ/ด.

"ตร.-คลัง" สั่งรวบรวมชื่อคนปล่อยเงินกู้นอกระบบทั่วปท. จี้เจ้าหนี้ขึ้นทะเบียน ทำพิโกไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ3บาทต่อเดือน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 31 มีนาคม 2560 - พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา ที่ปรึกษา สบ 10, พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป., พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง ผบก.สท., พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี ผบก.ปคบ. และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ร่วมกันชี้แจงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค (บช.ภ.) 1-9 ทั่วประเทศ รวบรวมรายชื่อผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบทั่วประเทศ ภายในวันที่1-10 เมษายน เพื่อขออนุมัติหมายค้นหาหลักฐานในการดำเนินคดี เพื่อขจัดหนี้นอกระบบที่เก็บดอกเบี้ยสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และเรียกเก็บดอกเบี้ยด้วยวิธีที่ไม่ถูกกฎหมาย ใช้การคุกคามข่มขู่ลูกหนี้ หลังพบว่า มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมีตนเป็นหัวหน้าขับเคลื่อน พร้อมทั้งร่วมกับหลายหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกัน ที่ผ่านมามีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนจัดทำข้อมูลเป้าหมายประวัติบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือมีพฤติกรรมทวงหนี้ในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบขึ้นทะเบียนดำเนินธุรกิจปล่อยกู้นอกระบบ ได้ใน 2 รูปแบบ คือนาโนไฟแนนซ์ที่ต้องมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ปล่อยกู้ได้ทั่วประเทศ แต่ปล่อยกู้ได้คนละไม่เกิน 100,000 บาท อีกรูปแบบคือพิโกไฟแนนซ์ หรือ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ใช้เงินทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ปล่อยกู้ได้คนละไม่เกิน 50,000 บาท ภายในจังหวัดที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน ร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี แต่หากไม่ขึ้นทะเบียนจะสามารถเก็บดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนหรือ ร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น หากเก็บมากกว่ากำหนดโดยไม่ขึ้นทะเบียนพิโกไฟแนนท์ ถือมีอัตราโทษตามกฎหมาย

ส่วนประชาชนที่ยังคงมีหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบ สามารถแจ้งต่อธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ทุกสาขา หรือแจ้งโดยตรงมายังกระทรวงการคลัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้กับนายทุน และนายทุนก็สามารถขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนดำเนินธุรกิจปล่อยกู้นอกระบบ ได้ที่ธนาคารทั้ง 2 แห่งด้วยเช่นกัน

ขณะที่ พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา ที่ปรึกษา สบ.10 กล่าวเพิ่มเติมว่า ไฟแนนซ์ทั้ง 2 รูปแบบ เป็นช่องทางที่รัฐบาลต้องการให้ผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบมีช่องทางการประกอบธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย และเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่มีความต้องการใช้บริการเงินกู้ที่สถาบันการเงินไม่สามารถอนุมัติให้ได้ โดยมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และรัฐบาลจะไม่เข้าควบคุมนายทุน เพียงให้นายทุนทำรายงานสรุปยอดผู้กู้ต่อสำนักงานใหญ่ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเพื่อความเป็นระเบียบ

ขณะนี้มีผู้ขออนุญาติจดทะเบียนประเภทนาโนไฟแนนซ์ จำนวน 25 ราย และพลิโกไฟแนนซ์ จำนวน 150 ราย สำหรับการดำเนินการกับข้าราชการที่เกี่ยวพันกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อยกเว้น หากประชาชนพบเบาะแสการปล่อยกู้นอกระบบที่ไม่เป็นธรรม สามารถโทรผ่านสายด่วน 1359 หรือ แจ้งเบาะแสมาได้ที่ 1599 หรือ สายด่วน 191

"อย่างไรก็ตามปัญหาเงินกู้จะหมดไปหรือไม่ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ ยืนยันการจดทะเบียนสินเชื่อรายย่อย ไม่ใช่มาตรการฟอกขาวที่เปิดช่องทางให้ผู้กระทำความผิดหลีกเลี่ยงกฎหมาย เพราะผู้ขอจดทะเบียนทุกคนจะต้องถูกตรวจสอบประวัติ ว่าเคยมีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่" ที่ปรึกษา สบ.10 กล่าว