แบงก์ชาติปรับจีดีพีปีนี้โต 3.4%

แบงก์ชาติปรับจีดีพีปีนี้โต 3.4%

แบงก์ชาติปรับเป้าหมายจีดีพีปีนี้เติบโต 3.4% จากเดิมที่ 3.2 % ส่วนปีหน้าโตต่อเนื่อง 3.6% หลังส่งออกฟื้นตัวดีกว่าคาด และท่องเที่ยวเติบโตสูง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเป็นเอกฉันฑ์เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2560 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี)ไว้ที่ 1.50 % เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ แต่ยังมีความเป็นห่วงความเสี่ยงปัจจัยต่างประเทศ พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีนี้เป็น 3.4% จากคาดการณ์เดิม 3.2%

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายงานนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า ในการตัดสินนโยบายคงดอกเบี้ย คณะกรรมการมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงอีกมาก โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ทั้งนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ เสถียรภาพการเงินในประเทศจีน และสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรป กนง.จึงมีมติเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจน โดยได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ขึ้นเป็นเติบโต 3.4% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโต 3.2% และคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปีหน้าไว้ที่ 3.6% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยข้อมูลคาดการณ์จีดีพีในปีหน้า

คาดการณ์ส่งออกปีนี้โต2.2%

นอกจากตัวเลขจีดีพีแล้ว ยังได้ปรับคาดการณ์การส่งออกว่าจะมีการเติบโต 2.2% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธ.ค.2559 ว่าปีนี้การส่งออกจะไม่มีการเติบโต หรืออยู่ที่ 0.0% ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาไทย โดยคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยงปีนี้ปรับเพิ่มเป็น 34.5 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 34.1 ล้านคน

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมมาจากการส่งออกที่เริ่มฟื้่นตัวชัดเจนมากขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะสูงกว่าคาดการณ์เดิม รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ”

โดยประมาณการเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนักท่องเที่ยวต่างประเทศขึ้นเป็น 34.5 ล้านคน จากเดิมที่ 34.1 ล้านคน โดยการเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากปัญหาระหว่างจีนและเกาหลีทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเกาหลีน้อยลงแต่เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น

ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ภาคเกษตรกรรมและภาคบริการเป็นหลัก จึงได้ปรับการบริโภคภาคเอกชนปีนี้มีการเติบโต 2.7% จากคาดการณ์เดิม2.6% อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะขยายตัวมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้เด้งขึ้นทันที เพราะต้องใช้เวลากว่าที่การส่งออกที่ดีขึ้นจะส่งผ่านมายังการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก

“แม้เศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนมากขึ้น จากปัจจัยบวกเรื่องการส่งออก และท่องเที่ยว แต่ความเสี่ยงจากต่างประเทศยังมีอยู่ นโยบายการเงินจึงควรผ่อนปรนต่อไป เพื่อให้เอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพ”

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น แต่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ และ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจผันผวนในระยะสั้นจากผลของฐานและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ผ่านมาปรับลดลงบ้าง ส่วนหนึ่งจากฐานภาษีสรรพสามิตที่สูงในปีก่อน แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ชี้บาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งอุปสรรคศก.

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจาก สภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า และประเทศคู่แข่งสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควรซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาคเป็นผลจากไทยมีความเสี่ยงด้านต่างประเทศต่ำกว่า ส่งผลให้เงินทุนไหลออกไม่มากเท่ากับประเทศอื่นๆในภูมิภาค แต่เงินบาทก็ไม่ได้ผันผวนมากกว่าสกุลเงินภูมิภาค

โดยคณะกรรมการกนง.มองว่า ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนอาจผันผวนสูงขึ้นได้จากความ ไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศ แต่มองว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะ เศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี

ปีนี้บาทแข็งค่าแล้ว 3.8%

“กนง.พอใจการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของธปท. ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่า มาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ หรือมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า และเป็นในทิศทางเดียวกันทั้งภูมิภาค แต่ที่เงินบาทแข็งค่ากว่าที่อื่น เพราะเสถียรภาพในประเทศดี มีความเสี่ยงน้อย เงินจึงไหลออกน้อยกว่าที่อื่น”

ทั้งนี้เงินบาทเทียบดอลลาร์วานนี้อยู่ที่ 34.45 -34.47 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาแข็งค่าสูงสุดในรอบ 20 เดือนที่ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ บาทแข็งค่าขึ้นมากว่า 3.8% แต่ยังอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับภูมิภาค

ส่วนข้อเสนอของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ที่มีการเสนอให้ลดดอกเบี้ยนั้น ก็มีการรายงานในที่ประชุม แต่กรรมการก็ไม่ได้พูดอะไร ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) นั้น เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์อยู่แล้ว และตลาดยังมองว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ หากเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ก็คงไม่ทำให้ตลาดผันผวน โดยประเมินว่าตลาดจะผันผวนต่อเมื่อมีแอคชั่นที่ต่างไปจากที่ตลาดคาดการณ์

อย่างไรก็ตามนายจาตุรงค์ กล่าวว่า ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด อาทิ ความสามารถ ในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลง ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังไม่ได้เป็นจุดสูงสุด หรือพีค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก และต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือ search for yield ของทั้งสถาบันการเงิน นอนแบงก์ และบริษัทประกัน ซึ่งในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร (under pricing of risks) อย่างไรขณะนี้ก็ยังไม่ได้เห็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง