ถอดการปฏิรูปนิวซีแลนด์สู่ประเทศไทย

ถอดการปฏิรูปนิวซีแลนด์สู่ประเทศไทย

ฝ่ายนโยบายชาติฯ สกว. จัด TRF Forum “ปฏิรูปนิวซีแลนด์: นัยยะสำคัญต่อประเทศไทย” หวังส่งต่อข้อมูลสู่สาธารณะ และการปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมเวที สกว. (TRF Forum) ภายใต้หัวข้อ “ปฏิรูปนิวซีแลนด์: นัยยะสำคัญต่อประเทศไทย” โดย ผศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.ชนินทร์ มีโภคี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมวิจัย นำเสนอกระบวนการ แนวทาง และปัญหา/อุปสรรคของการปฏิรูปของนิวซีแลนด์ด้านต่างๆ ได้แก่ ระบบราชการ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต การบริการ และรัฐวิสาหกิจ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น15สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ในส่วนนี้ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ฝ่ายนโยบายชาติฯสกว. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อให้มีการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกและสร้างผู้เชี่ยวชาญเชิงอาณาบริเวณศึกษา (Area expert) โดยประเทศนิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย เป็นประเทศหนึ่งที่ฝ่ายนโยบายชาติฯให้ความสำคัญ สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นการปฏิรูปประเทศ

สำหรับงานวิจัยนี้มีผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะภาพรวมของการปฏิรูปนิวซีแลนด์ในทศวรรษที่ 1980 และการปฏิรูปรายสาขา ยกตัวอย่าง การปฏิรูประบบราชการ โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ดำเนินการแบ่งแยก ถ่วงดุลอำนาจในแต่ละกระทรวง เช่น กระทรวงต่างประเทศ และ กระทรวงการเกษตร ที่ข้าราชการในกำกับจะได้รับค่าตอบแทนที่ต่างกัน

โดยข้าราชการกำกับกระทรวงการเกษตรจะได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่า เนื่องจากความสำคัญของภารกิจงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นขนาดของกระทรวงต่างประเทศมีขนาดเล็กลง ส่วนผู้บริหาร CEO หรือ ผู้บริหารระดับปลัดกระทรวง จะใช้จากภายนอก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการเดิมที่ลาอออกไป ที่จะรู้จุดอ่อน จุดแข็งของงบประมาณที่จำกัด ซึ่งลักษณะดังกล่าวส่งผลดีกับรัฐ

ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์ ได้ให้ความสำคัญต่อภาคเกษตรกรรม โดยรัฐบาลใช้มาตรการในการอุดหนุนสินค้าราคาการเกษตร และส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร เช่น การเข้าแทรกแซงโดยตรงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มจำนวนแกะและโคเนื้อที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ โดยมีรายงานว่า การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรอาหาร (Agrifood) มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้การสนับสนุนให้การพัฒนาที่ดินว่างเปล่าให้กลายเป็นทุ่งปศุสัตว์ถาวรโดยให้เงินกู้สูงสุด 250 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ต่อเฮกตาร์ ระยะเวลา 15 ปี ซึ่งทุกโครงการมีพื้นที่มากกว่า 10 เฮกตาร์และมีสัตว์มากกว่า 100 Stock Unit

“จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศของนิวซีแลนด์ ที่ประเทศไทยจะต้องศึกษา ถึงกระบวนการดำเนินการที่สามารถใช้ได้จริง ทั้งในส่วนที่เป็นประสบการณ์ วิธีคิด วิธีทำงาน ตลอดจนการบริหารงานของรัฐ และเอกชน” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติฯ

ด้าน ผศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งนี้กระบวนการปฏิรูปจำเป็นจะต้องอาศัยฐานความรู้ที่ครอบคลุมและรอบด้านมากที่สุด เพื่อให้แนวทางปฏิรูปมีความสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ ประสบการณ์การปฏิรูปจากต่างประเทศจึงอาจมีความจำเป็น โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นฐานข้อมูลเพื่อการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ประสบการณ์บางด้านที่ได้มีการดำเนินการแล้วและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นที่น่าพอใจ

สำหรับประเทศนิวซีแลนด์ เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับประเทศต่างๆ ที่ต้องการปฏิรูปประเทศภายใต้แนวทางเศรษฐกิจแบบตลาดและระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย กระบวนการปฏิรูปของนิวซีแลนด์เป็นกระบวนการที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1984 ถึง 2005 มีการดำเนินการอย่างรอบด้านทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย และสังคม และดำเนินการในหลายระดับไม่ว่าจะเป็นระดับมหภาค จุลภาค และภาคเศรษฐกิจต่างๆ

ทั้งนี้ ผลศึกษาโครงการวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศนิวซีแลนด์ พบว่า การเปรียบเทียบการปฏิรูปประเทศระหว่างนิวซีแลนด์กับไทย โดยพิจารณาจากร่างยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีนั้น ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกันถึงขั้นลึกได้ เนื่องจากแผนของไทยนั้นมีลักษณะเป็นเจตนารมณ์ ยังขาดรายละเอียดว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร และควรดำเนินการอะไรบ้าง ค่อนข้างมีลักษณะเป็นถ้อยคำแถลง หรือ Statement มากกว่าจะเป็นแผนการดำเนินการปฏิรูป

“สำหรับไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการปฏิรูป แต่พยายามที่จะปรับระบบกลไกภาครัฐและการบริหารเศรษฐกิจองค์กรเดิมที่มีอยู่ ซึ่งเป็นการปรับแต่งในจุดที่มีปัญหาเท่านั้น เปรียบได้กับการซ่อมรถเฉพาะตรงที่ผุพังเป็น "นโยบายปะผุ" อย่างเช่นไทยเราให้แต่ละกระทรวงมีแผนของตนเองและการอ้างถึงแผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศเท่านั้น ระบบงบประมาณที่เสนอในแผนก็เป็นระบบเดิม โดยผ่านสำนัก งบประมาณเพียงแต่แยกงบเท่านั้น แต่นิวซีแลนด์ปฏิรูปประเทศ ซึ่งถ้าเปรียบกับรถก็เป็นการทิ้งรถคันเก่าและซื้อคันใหม่แทน” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย