เปิด '9จรรยาบรรณ' แบงก์

เปิด '9จรรยาบรรณ' แบงก์

เปิด 9 จรรยาบรรณ "ธุรกิจแบงก์" แข่งขันเป็นธรรม-สร้างเชื่อมั่นผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทยทั้ง 15 แห่ง ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงและประกาศความร่วมมือ ในการกำหนดจรรยาบรรณในการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด จรรยาบรรณธนาคารพาณิชย์ พัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารพาณิชย์

จรรยาบรรณธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ประกอบด้วย 9 ข้อ ประกอบด้วย 1. จรรยาบรรณด้านการประกอบธุรกิจ ธนาคารต้องให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชำนาญ และระมัดระวังรอบคอบ

2. บทบาทของกรรมการและผู้บริหาร ของธนาคาร พึงมีจิตสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้กรอบคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลทุกระดับในองค์กร 3. มาตรฐานการให้บริการธนาคาร ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย การบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับธุรกิจ

4. จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน มีประสิทธิภาพ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริม สนับสนุนให้พนักงานได้รับโอกาสการพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

มีมาตรการป้องกันอินไซเดอร์

5. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า โดยจัดให้มีการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของลูกค้า เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ การโฆษณาประชาสัมพันธ์จะต้องสื่อสารอย่างโปร่งใส ชัดเจนไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ปกป้องรักษาข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ จัดให้มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน

6. ป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ มีการกำหนดกระบวนการการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและรายการที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่ให้เกิดการถ่ายเทผลประโยชน์โดยมิชอบ และมีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการรับและให้ของขวัญ การรับรองและผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อไม่มีการรับหรือให้สินบน ทั้งกับลูกค้า หน่วยงานของรัฐ เอกชน

7. การจัดการข้อมูล ธนาคารควรมีการจัดการข้อมูลต่างๆให้เหมาะสม มีการปกป้อง จัดเก็บ ดูแลข้อมูลของลูกค้า รวมถึงข้อมูลของธนาคารเอง นอกจากนี้ การสื่อสาร แถลงการณ์ หรือการให้ข้อมูลใดๆที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร ธุรกิจของธนาคารและลูกค้า ต้องมีความถูกต้องเหมาะสม

แข่งขันเป็นธรรมไม่โจมตีคู่แข่ง

8. การกำกับดูแลโดยรวม ธนาคารต้องดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นโยบายและระเบียบปฏิบัติของธนาคาร รวมถึงหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องจัดให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ จัดให้มีหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลที่เป็นอิสระจากการบริหาร จัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ มีการดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ พร้อมทั้งจัดให้มีช่องทางต่างๆในการแจ้งเบาะแส หรือรายงานข้อสงสัย

9. การแข่งขันทางการค้าและการระงับข้อพิพาท เพื่อให้ระบบการดำเนินธุรกิจของธนาคารดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ธนาคารพึงดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและแข่งขันอย่างเป็นธรรม เสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าอย่างเสรี ไม่กล่าวโจมตีคู่แข่ง หรือกระทำการใดๆอันเป็นการผูกขาด ทั้งนี้ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ธนาคารพึงจัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสมในการระงับหรือไกล่เกลี่ย

ธปท.ชี้ความเชื่อมั่นทำให้แบงก์โตยั่งยืน

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่สมาคมธนาคารไทยได้มีการปรับปรุงจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ให้เหมาะสมกับบริบทการทำธุรกิจในปัจจุบันและให้เท่าทันกับความคาดหวังของสังคม และยึดมั่นจรรยาบรรณฉบับนี้ในการทำธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะในการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไม่มีอะไรสำคัญมากเท่ากับความเชื่อมั่น และความไว้วางใจ หรือ Trust เพราะหากประชาชนขาดความเชื่อมั่น ก็ไม่มีทางที่ธนาคารพาณิชย์จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้

จรรยาบรรณฉบับนี้ ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1 หลักความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา 2 หลักความเป็นธรรม และ 3 หลักการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรับผิดชอบ ความไว้วางใจจะต้องเริ่มจากพฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องแสดงให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่ คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนวิธีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ความท้าทายต่อจากนี้ไป คือ จะต้องเร่งทำหลักการในจรรยาบรรณให้เกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ ให้ประชาชนผู้ใช้บริการสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลง

“ทุกวันนี้เรามีหลายเรื่องที่ประชาชนประสบปัญหาจากการเสนอขายผลิตภัณฑ์ต่างๆของธนาคารพาณิชย์ ทั้งการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาก การรักษาข้อมูลของลูกค้า ต่อไปก็ต้องบริการลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรม ไม่นำข้อมูลลูกค้าไปใช้กับบริการอื่น อีกทั้งในการทำธุรกิจก็ต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม ”

แบงก์ปรับธุรกิจให้สอดรับกับจรรยาบรรณ

ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การจัดทำจรรยาบรรณฉบับนี้ เป็น 1 ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของอุตสาหกรรมธนาคารโดยครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน National E-payment การสร้างสังคมทางการเงิน ด้วยการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณธนาคาร (Banking Industry Code of Conduct) และส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินในภูมิภาคให้สะดวกต่อการทำธุรกิจ การผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะยาว และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับอุตฯแบงก์ ในการประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณและยกระดับความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าจะได้รับการบริการที่มีความยุติธรรม ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องก่อนการตัดสินใจใช้บริการ