NIA เปิดแผนปฏิบัติการสร้าง ‘สตาร์ทอัพ’ นักรบทางเศรษฐกิจ

NIA เปิดแผนปฏิบัติการสร้าง ‘สตาร์ทอัพ’ นักรบทางเศรษฐกิจ

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เดินหน้าพัฒนาและส่งเสริมเทคสตาร์ทอัพ หลังจากปฏิบัติการจุดพลุในปี 59 ด้วยงาน startup thailand เวทีแรกสำหรับสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ส่วนปี 2560 มุ่งดึงทุนต่างชาติเข้าไทย สร้างแคมปัสใน 30 มหาวิทยาลัยและแก้ไขกฎระเบียบลงลึกรายสาขา

สตาร์ทอัพไทยปี 2559 ถือเป็นจุดกำเนิดอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่การตั้งบอร์ดชาติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี การจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ที่ทำให้เห็นความแตกต่างจากธุรกิจเอสเอ็มอีและการขึ้นทะเบียนระบุตัวตนผู้ประกอบการ ส่วนปี 2560 มุ่งดึงทุนต่างชาติเข้าไทย สร้างแคมปัสใน 30 มหาวิทยาลัยและแก้ไขกฎระเบียบลงลึกรายสาขา
นิยามต้องชัดเจน-เข้าใจตรงกัน

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพในเชิงกลไกทางนโยบายนั้น ในปีที่ผ่านมามี 3 ภาพใหญ่เกิดขึ้นคือ การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ โดยมีตัวแทนภาคเอกชนที่สนับสนุนสตาร์ทอัพรวมด้วย อาทิ สมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพ ภาพที่สองคือ การสร้างความเข้าใจและรับรู้ความแตกต่างระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพกับเอสเอ็มอี ทั้งสองธุรกิจมีจุดเริ่มเหมือนกันคือขนาดธุรกิจที่เล็ก แต่วิธีการได้มาซึ่งแหล่งทุนหรือรายได้ต่างกัน ฉะนั้น รูปแบบหรือกลไกสนับสนุนจะต้องไม่เหมือนกัน

“งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์สามารถสร้างการรับรู้และเข้าใจได้สำเร็จในระดับหนึ่ง เอสเอ็มอีต้องหาเงินตั้งแต่วินาทีแรกของธุรกิจแล้วค่อยๆ โต ขณะที่สตาร์ทอัพเริ่มต้นจากการแสวงหาผู้ลงทุน ซึ่งเป็นจุดแตกต่าง แม้หัวใจที่เหมือนคือขนาดในจุดเริ่มต้น แต่วิธีการโตต่างกัน วิธีการได้มาซึ่งแหล่งทุนหรือรายได้ต่างกัน ขณะที่ในช่วงก่อนปี 2558 กิจกรรมทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับเอสเอ็มอี กระทั่งปี 2559 เป็นครั้งแรกที่จัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ซึ่งแยกจากธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างชัดเจน ส่งผลให้อัตลักษณ์ของสตาร์ทอัพในไทยเริ่มชัดขึ้นในระดับหนึ่ง
อีกทั้งยังนำมาสู่การสร้างชุมชนสตาร์ทอัพที่มีทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงาน ซึ่งความคืบหน้าตอนนี้สามารถสร้างคอมมูนิตี้ได้ระดับหนึ่งแล้ว เห็นได้จากภาครัฐและเอกชนคุยกันมากขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางว่า งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ปีนี้จะโชว์อะไรให้โลกรับรู้ จากก่อนหน้านี้ที่ต่างคนต่างคิดต่างทำ อีกเหตุผลที่ทำสตาร์ทอัพไทยแลนด์คือ เราต้องการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นฮับที่เกี่ยวข้องสตาร์ทอัพ และที่สุดแล้วในภูมิภาคแถบนี้ก็มี 3 ประเทศที่มีกิจกรรมสตาร์ทอัพเข้มแข็ง คือ สิงคโปร์ มาเลเซียและไทย ส่วนประเทศที่ 4 คือ อินโดนีเซียกำลังตามมา แต่บางทีอาจจะแซงไทยไปแล้วก็เป็นไปได้”



สำหรับภาพที่ 3 ความชัดเจนของขนาดธุรกิจสตาร์ทอัพ จากที่มีการกล่าวอ้างว่ามีถึงหลักหมื่นราย เพราะช่วงปีที่ผ่านมาหากใครจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ก็มักจะเคลมว่าเป็นสตาร์ทอัพ ดังนั้น ในปีแรก สนช.พยายามระบุตัวตนของผู้ที่ทำสตาร์ทอัพอย่างแท้จริง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสนับสนุนการเช็คลิสต์ว่า ใครทำอะไรบ้างผ่านทางเว็บไซต์ new.set.or.th ให้สตาร์ทอัพเข้ามาลงทะเบียนอยู่ในระบบ ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 600 บริษัท นอกจากนี้ คณะทำงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ได้รวบรวมและจัดแบ่งกลุ่มให้ธุรกิจสตาร์ทอัพได้ 8 ประเภทที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการแต่ละด้าน ได้แก่ 

GovTech / EdTech : ภาครัฐ/การศึกษา
AgriTech / FoodTech : เกษตร/อาหาร
HealthTech : การแพทย์
IndustryTech : ภาคอุตสาหกรรม
E-Commerce / Logistic : การขนส่ง
FinTech : การเงิน/การธนาคาร
TravelTech : ท่องเที่ยว
PropertyTech : อสังหาริมทรัพย์


“หากมองภาพเชื่อมกันทางนโยบายมีบอร์ดแห่งชาติ และมีทีมสตาร์ทอัพไทยแลนด์เป็นเหมือนทำถนนให้วิ่ง ส่วนการสร้างดิวใหม่ๆ สร้างผู้ประกอบการนักรบรุ่นใหม่ก็จะร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยให้จัดตั้งสตาร์ทอัพแคมปัสขึ้น” นายพันธุ์อาจ กล่าว


สำหรับปี 2560 จะเน้น 3 เรื่องคือ ทำให้เกิดดิวใหม่ในสาขาสำคัญๆ ที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจประเทศก็คือ เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว เฮลท์แคร์และเฮลท์เทค ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปผลักดันความเป็นเซกเตอร์ให้โดดเด่นขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ถัดมาคือการต่อยอดการแก้ไขกฎระเบียบที่ลงลึกในแต่ละสาขามากขึ้น
เรื่องสุดท้ายคือ การแสวงหาความร่วมมือกับยักษ์่ข้ามชาติเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพให้เติบโตในระดับโกลบอล โดยอยู่ระหว่างการเจราจากับหัวเว่ย ไอบีเอ็มและธุรกิจในอิสราเอล ฉะนี้ ปีนี้จะเห็นนักลงทุนระดับโลกเข้ามาในไทยมากขึ้น