บินสำรวจพะยูนทะเลตรัง พบจำนวนประชากรเพิ่ม

บินสำรวจพะยูนทะเลตรัง พบจำนวนประชากรเพิ่ม

เจ้าหน้าที่ใช้โดรน บินสำรวจประชากรพะยูนในทะเลตรัง พบมีจำนวนเพิ่มขึ้น นักวิชการยืนยันไม่มีขบวนการล่าพะยูน เพื่อการค้า แต่อาจมีลักษณะเก็บซากได้ แล้วลอบตัดเขี้ยวหรือเอาซากไปฝังเพื่อเอากระดูก

วันนี้ ( 28 มีนาคม 2560) ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ส่งนักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก นำโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงชำนาญการหัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก พร้อมเจ้าหน้าที่ นักบินชาวต่างชาติ นำเครื่องบินเล็ก 2 ที่นั่ง จำนวน 2 ลำ ทำการบินสำรวจพะยูนในทะเลตรัง โดยเฉพาะบริเวณ รอบเกาะลิบง เกาะมุกด์ แหล่งอาศัยที่สำคัญที่สุดในทะเลตรัง ซึ่งบินสำรวจเป็นวันที่ 3 โดยมีนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังบินสำรวจด้วย

เพื่อสำรวจนับจำนวนประชากรพะยูนที่มีอยู่ในแต่ละปี (นับจำนวนประชากรพะยูนที่เหลืออยู่ของปี 2559) รวมทั้งสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเล อาหารของพะยูนและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำนานาชนิด เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดตรัง ซึ่งต้องทำการสำรวจประชากรและวางแผนอนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้พะยูนอยู่คู่กับทะเลตรังตลอดไป

ขณะที่กลางทะเลในปีนี้พบว่าทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับนักวิชาการชาวต่างชาติ และสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในประเทศไทย ร่วมทำการบินสำรวจพะยูนด้วย เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) นำหุ่นยนต์สำรวจทางอากาศ (โดรน) มาบินสำรวจ เพื่อถ่ายภาพเก็บข้อมูลทางวิชาการประชากรและการใช้ชีวิตของพะยูนด้วย

 อาจารย์กฤษนัยน์ เจริญจิตะ อาจารย์ประจำคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) กล่าวว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) รวมทั้งมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการ “ การสำรวจพะยูน โดยประยุกต์หุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็ก (Drone)” โดยเครื่องบินเล็กของ ทช. จะบินนำร่องปูพรมหาพะยูนในทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาศัยหากินที่ระดับความสูงประมาณ 100 เมตร

เมื่อพบพะยูนหรือฝูงพะยูนที่บริเวณใด ก็จะส่งข้อมูลพิกัดแหล่งที่พบพะยูนมาที่โดรน เจ้าหน้าที่ก็จะส่งโดรนเข้าไปถ่ายเก็บภาพ เพื่อเก็บข้อมูลสำรวจระยะไกล และเป็นการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือสำรวจระยะไกลด้วย ก็จะได้ตำแหน่ง ได้ภาพ รูปร่างลักษณะ และพฤติกรรมของพะยูนกลางทะเลขณะว่ายน้ำหากินหญ้าทะเล

ทั้งนี้ นับจากเริ่มทำงานมา ทางเครื่องบินสามารถบินสำรวจพบพะยูนกลุ่มใหญ่อาศัยรวมกันมากกว่า 30 ตัว รวมทั้งกลุ่มเล็กๆ คู่แม่ลูก และตัวเดียว ว่ายน้ำหากินอยู่กลางทะเล แต่บางครั้งถ้าเป็นช่วงน้ำลงจะไม่สามารถเก็บภาพได้ เพราะช่วงขณะน้ำลงพะยูนจะว่ายน้ำไปตามร่องน้ำ ซึ่งมีความลึก ทำให้ยากต่อการถ่ายภาพ จะถ่ายได้ต่อเมื่อมันว่ายขึ้นมาหายใจเหนือน้ำเท่านั้น ซึ่งภาพที่โดรนจับได้จะเป็นพะยูนตัวเต็มวัย

ขณะที่นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า มีบินสำรวจประชากรพะยูนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ปีนี้ก็เช่นกันโดยมีอาสาสมัครชาวต่างชาติช่วยในการบิน ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่เราใช้โดรนเข้ามาช่วยในการสำรวจบันทึกภาพ ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของพะยูนสูง

ทั้งนี้ ในระยะเวลา 3 ปีมานี้ เป็นช่วงที่ผลบินสำรวจพบประชากรพะยูนที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อประมาณ 4 – 5 ปีก่อนหน้านั้น เป็นช่วงวิกฤติของพะยูน เพราะพบซากพะยูนเกยตื้นตายจำนวนมากถึง 11 ตัว หลังจากนั้นทุกฝ่ายก็มีความพยายามในการอนุรักษ์มากขึ้น ทำให้สถิติการตายของพะยูนลดน้อยลงเหลือแค่ประมาณ 6 ตัวในปีถัดมา

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ พบว่าเริ่มมีพะยูนตายมากขึ้นเป็นปีละ 7 – 8 ตัว โดยปี 2559 พบซากพะยูนตายจำนวน 8 ตัว ซึ่งผลการผ่าพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเป็นการตายที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะด้วยเครื่องมือทำประมงที่เป็นอันตราย ในจำนวนนี้มีแม่ลูกตายด้วย 1 คู่ ซึ่งเป้าหมายของการอนุรักษ์เราต้องช่วยกันลดอัตราการตายของพะยูนลงให้ได้ไม่เกินปีละ 5 ตัว เพราะเท่ากับเป็นตายตามธรรมชาติ เพื่อความยั่งยืนของจำนวนประชากรพะยูน

ส่วนเรื่องขบวนการล่าพะยูนเพื่อการค้า ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มี แต่จะพบมีการตัดเขี้ยวพะยูนไปจากซากที่ตายไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เป็นการล่าเพื่อการเอาเขี้ยวอย่างแน่นอน แต่เกิดจากการบังเอิญพะยูนไปติดเครื่องมือประมง คนพบก็อาจจะตัดเอาเขี้ยวไปใช้ประโยชน์

สำหรับข้อมูลผลการบินสำรวจประชากรพะยูน ของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันจ.ภูเก็ต ร่วมกับนักวิจัยชาวต่างชาติ เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา พบพะยูนในทะเลตรังประมาณ 145 - 150 คู่ และพบพะยูนคู่แม่ลูกประมาณ 11 คู่ ส่วนผลการบินสำรวจของปี 2560 นี้ว่าประชากรพะยูนเหลืออยู่ประมาณกี่ตัว ทางนักวิชาการจะต้องนำข้อมูลที่ได้ไปคำนวณหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการบินสำรวจไปแล้ว