'เอ็นพีแอล' แบงก์พุ่งเกิน3%ต้นปี61

'เอ็นพีแอล' แบงก์พุ่งเกิน3%ต้นปี61

"เอ็นพีแอล" แบงก์พุ่งเกิน3%ต้นปี61 "ฟิทช์" ชี้ภาพรวมธุรกิจธนาคารยังอ่อนแอ คงมุมมอง ‘เชิงลบ’ ตือนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วเป็นทั้งภัยคุกคามและโอกาสห่วงแบงก์ยังลงทุนด้านไอทีน้อย

ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงมุมมองเชิงลบแบงก์พาณิชย์ไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ชี้ภาพรวมธุรกิจยังอ่อนแอกดดันคุณภาพสินทรัพย์ แต่ยังคงเครดิตแบงก์ส่วนใหญ่ที่ มีเสถียรภาพ เหตุระดับเงินกองทุนและเงินสำรองต่อหนี้สูญที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับยอมรับได้ พร้อมประเมินเอ็นพีแอลทั้งระบบสูงสุดปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ก่อนปรับลงสู่ภาวะปกติ   

นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโสภาคสถาบันการเงิน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับภาคธนาคารของประเทศไทยในระยะ 3-5 ปี ข้างหน้า รวมถึงสภาวะตลาดการเงินของโลกในปัจจุบันว่า ฟิทช์มีมุมมองเชิงลบ (Negative Sector Outlook)ต่อภาคธนาคารไทยในปี 2560 เนื่องจากคาดการณ์ว่าสภาพการดำเนินธุรกิจจะยังคงอ่อนแออยู่ซึ่งจะส่งผลกดดันคุณภาพสินทรัพย์และอัตรากำไรของภาคธนาคารต่อไป

ฟิทช์ ประเมินว่าเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะปรับเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยประเมินระดับเอ็นพีแอลทั้งระบบในสิ้นปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 3% โดยประมาณ จากนั้นเชื่อว่าเอ็นพีแอลจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงตามลำดับในช่วงปี 2561

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อทั้งระบบในปีนี้ ประเมินไว้ที่ 5-8% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่ 5% โดยปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจ อาทิ การกรระตุ้นจากรัฐบาล ความเชื่อมั่นภาคเอกชน และผู้บริโภค จะส่งให้เห็นการเติบโตของสินเชื่อมีนัยสำคัญมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2560

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมฯ ถูกลดทอนลงจากระดับเงินกองทุนและเงินสำรองต่อหนี้สูญที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับยอมรับได้ โดยธนาคารไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ส่วนใหญ่มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

ทั้งนี้ ประเมินว่าใน 1-2 ปี จากนี้มีแนวโน้มที่มุมมองต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเปลี่ยนเป็นมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยด้วย ซึ่งการเติบโตของจีดีพีในระดับ 3-5% ที่หลายฝ่ายประเมินไว้นั้น ถือว่าเป็นระดับการเติบโตที่ไม่สูง นอกจากนี้ยังต้องดูการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อประกอบเช่นกัน ซึ่งส่วนนี้จะมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ตรวจสอบดูแลอยู่ โดยหาก 3 ปัจจัยนี้สร้างสมดุลย์ ก็เชื่อ่ว่าฟิทช์จะมีมุมมองต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยดีขึ้น

เขากล่าวเพิ่มว่า ปัจจัยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ยังมีเรื่องกฏเกณฑ์และการพัฒนาเทคโนโลยี โดยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel และ มาตรฐานทางบัญชีตามหลักเกณฑ์ IFRS9 จะส่งผลให้ธนาคารประสบอุปสรรคในการปฏิบัติตามได้ในระยะสั้น เช่น ในด้านการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ภายในและการปรับปรุงแบบจำลองเพื่อประเมินความสูญเสีย (Expected Loss Model)

 อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มความสามารถของธนาคารในการรับมือกับสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงเพิ่มความชัดเจนและความโปร่งใสให้แก่นักลงทุน   

การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันถือเป็นทั้งภัยคุกคามและเป็นโอกาสต่อภาคธนาคาร ซึ่งธนาคารต่างๆ ในประเทศไทยเริ่มเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) ต่างๆ แต่โดยภาพรวมการลงทุนดังกล่าวยังน้อยและเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ตั้งรับของแผนดำเนินธุรกิจของธนาคาร ฟิทช์มองว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี (Disruption) ในอนาคตอันใกล้ น่าจะเกิดขึ้นกับด้านการบริการการชำระเงินเป็นหลัก   

ขณะที่ในด้านการบริการให้กู้ยืม-รับฝาก ของธนาคารไทยจะยังได้รับผลกระทบในวงจำกัด โดยธนาคารจะยังได้รับประโยชน์จากการมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงสินค้าและบริการหลักจะยังคงมีข้อได้เปรียบเหนือผู้เล่นรายใหม่ ทำให้ผู้เล่นรายใหม่แข่งขันได้ยาก (Barrier to Entry)

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมสินเชื่อเดือนก.พ.2560 เพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  จากสินเชื่อภาคธุรกิจทั้งในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และเล็กบางราย ขณะที่สินเชื่อในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็กส่วนใหญ่ ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการชะลอตัวของสินเชื่อรายย่อย ตามการชำระคืนสินเชื่อประเภทบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ที่ยังฟื้นตัวไม่มากพอที่จะชดเชยยอดชำระคืนสินเชื่อเดิม ประกอบกับสินเชื่อเอสเอ็มอียังค่อนข้างทรงตัว 

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 1/2560 ประเมินว่า อัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสุทธิ น่าจะเร่งขึ้นมาแตะระดับ 1.7%