เปิดตำนานห้างขายยาเบอร์ลิน

เปิดตำนานห้างขายยาเบอร์ลิน

“หากเป็นไปได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ขอตั้งชื่อเป็นที่ระลึกถึงประเทศเยอรมันบ้าง”

จากคำขอร้องของอาจารย์แพทย์ที่ Tongji German Medical School (มหาวิทยาลัยถ่งจี้ ปัจจุบัน) ที่ต้องการให้ นายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ อยู่ทำประโยชน์ให้กับโรงเรียนการแพทย์สัญชาติเยอรมัน ในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน (โรงเรียนแพทย์ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาชาวเยอรมัน โดยโปรเฟสเซอร์ชาวเยอรมัน)

จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ ห้างขายยาเบอร์ลิน คลีนิกรักษาคนไข้บนถนนเจริญกรุง แยกเสือป่า ที่เริ่มต้นกิจการในปี พ.ศ.2475

มาถึงบรรทัดนี้ หลายคนคงคลายความสงสัยในที่มาของชื่อห้างขายยาเบอร์ลิน ซึ่งปัจจุบันก้าวสู่ธุรกิจยาในนามบริษัท เบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอล อินดัสตรี้ จำกัด

ศาสตราจารย์นายแพทย์เติมชัย ไชยนุวัติ บุตรชายคนโตของหมอเบอร์ลิน กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบนพื้นที่ชั้นล่างของอาคาร 4 ชั้น ที่ยังคงใช้พื้นที่บนชั้น 2 และ 3 เป็นสำนักงานของบริษัทเบอร์ลินในมือของผู้บริหารอันเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ว่า นอกเหนือจากการปรับปรุงอาคารภายนอกด้วยการทาสีให้สวยงามแล้ว บริเวณชั้นล่างยังปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับคุณหมอชัย ไชยนุวัติ หรือ หมอเบอร์ลิน เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 84 ปีของห้างขายยาเบอร์ลินอีกด้วย

“พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องการให้ผู้เข้าชมได้เห็นสภาพชีวิตของคนๆหนึ่งที่มาจากครอบครัวที่อพยพมาจากเมืองจีนมาตั้งรกรากในเมืองไทย โดยมีความยากจนเป็นแรงผลักดันให้ขยันใฝ่เรียน จนได้ทุนและเรียนจบจากมหาวิทยาลัยการแพทย์ และความมุ่งมั่นในการกลับมาเมืองไทยเพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่และแผ่นดิน นำวิชาความรู้ที่ได้มารักษาประชาชน”

คุณหมอเติมชัย เล่าว่ามีหลายครั้งที่ไม่เก็บค่ารักษาทั้งยังให้ค่ารถกลับบ้านด้วย

พิพิธภัณฑ์ เล่าเรื่องอย่างกระชับเริ่มต้นจากนายตงหยง แซ่ไซ่ อพยพจากเมืองจีนมาตั้งรกรากในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลจากแซ่ไช่ เป็น ไชยานุวัติ

จากพ่อมาถึงลูก หมอชัยที่ไปเรียนต่อที่เซี่ยงไฮ้ แล้วกลับมาเปิดคลีนิกบนถนนเจริญกรุง จัดแสดงภาพถ่ายและเอกสารส่วนตัว พร้อมทั้งป้ายชื่อร้านในยุคแรก ในนิทรรศการส่วนแรกนี้มีข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของอาคารซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 ที่ได้รับอิทธิพลทางรูปแบบมาจากเรอเนสซองค์ นีโอคลาสสิก และปอลลาเตียน รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่นิยมในยุโรปช่่วงคริสตวรรษที่ 18 -19

ถัดไปจำลองคลีนิกหมอเบอร์ลิน โดยจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้เดิม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ กล้องจุลทรรศน์จุลทรรศน์ สำหรับดูเม็ดเลือด ปัสสาวะ อุจจาระของผู้ป่วย รวมทั้งเอกสาร ตำราการแพทย์ และสมุดจดสูตรยา ซึ่งนำไปสู่ธุรกิจผลิตยาในเวลาต่อมา

“คุณพ่อบอกว่ากิจการคลีนิกไม่สามารถเป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานได้ การผลิตยาน่าจะเป็นธุรกิจที่ดีที่สุดเพราะท่านมีสูตรยาที่เคยใช้รักษาคนไข้จนหาย และยาที่ผลิตจะเป็นยาน้ำส่วนใหญ่ เพราะสมัยนั้นยาส่วนใหญ่เป็นยาน้ำทั้งนั้น เมื่อตกลงใจคุณพ่อตั้งปณิธานไว้ว่า เบอร์ลินจะผลิตยาที่ดีในราคายุติธรรม”

คุณหมอเติมชัยกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจยาที่เล่าผ่านส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยเครื่องชักรอกรุ่นแรกที่ใช้ส่งอุปกรณ์ผลิตยาจากชั้นล่างขึ้นไปชั้น 3 และ 4สถานที่ผลิตยาในยุคเริ่มแรก พร้อมจัดแสดงยาหม่องเบอร์ลินตราเทวดาเป่าขลุ่ย ยานีโอโทนิน และเครื่องตอกยาเม็ดในยุคแรกสั่งซื้อจากเยอรมันที่ตอกยาได้นาทีละ 200 เม็ด ในขณะที่เครื่องตอกยาสมัยนี้ผลิตได้นาทีละหลายพันเม็ด

แม้ว่าธุรกิจการขายยาของห้างหุ้นส่วนเบอร์ลินในช่วงแรกจะประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่หมอเบอร์ลินกลับสู้อย่างไม่ถอย ด้วยเชื่อว่าการผลิตยาคุณภาพดี ในราคายุติธรรม จะประสบความสำเร็จเข้าสักวันหนึ่ง

กว่าจะถึงวันนี้ของห้างเบอร์ลิน ซึ่งย้ายโรงงานผลิตไปยังถนนร่มเกล้าบนเนื้อที่ 21 ไร่ ประกอบไปด้วยสายการผลิตตั้งแต่ห้องรับยา ห้องผสมยา ห้องตอกยา จนถึงห้องบรรจุยาตามมาตรฐานสากล กระทั่งจดทะเบียนใหม่เป็นบริษัท เบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอล อินดัสตรี้ จำกัด ในปัจจุบัน เรื่องราวทั้งหมดมีความเป็นมาอย่างไร เป็นเนื้อหาในวิดีโอที่เปิดให้ชมเป็นลำดับสุดท้าย ก่อนสิ้นสุดการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์

เราออกมานั่งจิบกาแฟกับขนมข้าวตู ในมุมกาแฟเล็กๆตรงทางออกของพิพิธภัณฑ์ที่จัดขึ้นตามไอเดียของคุณหมอเติมชัย ที่ต้องการให้เป็นมุมพักผ่อน ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นร้านกาแฟโปรดของคนทำงานในย่านนี้ไปแล้ว เนื่องจากเปิดแต่เช้า ใช้กาแฟดี และราคายุติธรรม

“ผมชอบดื่มกาแฟ และผมชอบอะไรไทยๆ ข้าวตู ทำมาจากมะพร้าว น้ำตาล แป้ง ตอนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเดินทัพไปสู่กับพม่าก็พกข้าวตูไป ทุกอย่างเป็นพลังงาน เสียยาก ผมว่าอร่อย กินเข้ากันกับกาแฟเลยอยากแนะนำให้ลองรับประทานกันดู” คุณหมอเติมชัยทิ้งท้าย

บ้านเมืองมีอดีต ความสำเร็จของคนเราไม่ได้กันมาง่ายๆ พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลินเป็นอีกหนึ่งของหลักฐานทางประวัติของบุคคลและบ้านเมืองไทยที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้

หมายเหตุ : เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันอังคาาร 9.00 -17.00 น.โทร. 0 2225 4700