จี้นายกฯยุติโครงการมัสยิด 300 ปี

จี้นายกฯยุติโครงการมัสยิด 300 ปี

"ชมรมอิหม่ามบาเจาะ" จี้ "นายกฯ" ยุติโครงการมัสยิด 300 ปี หลังพบบริษัทรับเหมาล้มละลาย ถูกขึ้นแบล็คลิสต์ ชี้มัสยิดเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่า

โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า 1 ใน 2 บริษัทเอกชนที่รับงานก่อสร้างมูลค่า 149 ล้านบาทเศษ เป็นบริษัทล้มละลาย จนนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ตรวจสอบและขึ้นแบล็คลิสต์ห้ามรับงานจากหน่วยงานรัฐอีกนั้น ปัญหานี้ยังไม่จบแค่ประเด็นงานรับเหมาก่อสร้าง เพราะยังมีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนและประชาคมท้องถิ่นด้วย

ที่ผ่านมาชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ประจำอำเภอบาเจาะ และองค์กรศาสนาในพื้นที่ ได้พยายามเข้ามามีบทบาทในโครงการ เพราะมัสยิด 300 ปีเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่า และถือเป็นมรดกของท้องถิ่น มีการออกแบบการพัฒนาแหล่งเรียนรู้โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะมลายูมาร่วม แต่ภายหลังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ไปจัดจ้างบริษัทเอกชนจากนอกพื้นที่เข้ามารับงาน โดยเอกชนรายนี้เป็นการรวมตัวกันระหว่างบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็น "กิจการร่วมค้า" มีสำนักงานตามที่แจ้งในเว็บไซต์อยู่ใน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ไม่มีประสบการณ์ชัดเจนเกี่ยวกับงานก่อสร้างปรับปรุงศาสนสถาน หรือสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์มลายู

ล่าสุด มูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา รองประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ประจำอำเภอบาเจาะ ในฐานะตัวแทนชมรมฯ ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และยื่นหนังสือให้กับ 3 หน่วยงาน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลระงับโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีเอาไว้ก่อน

1 ใน 3 หน่วยงานที่ไปยื่นหนังสือ คือ กระทรวงการต่างประเทศ โดย นายมูฮำมัดซูลฮัน บอกว่า เป้าหมายที่ต้องไปยื่นหนังสือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพราะโครงการนี้เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ริเริ่มขึ้นในช่วงที่คณะทูตจากชาติโอไอซี หรือองค์การความร่วมมืออิสลาม เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน และไทยก็เป็นชาติผู้สังเกตการณ์ถาวรในโอไอซี ฉะนั้นถ้าโครงการยังเดินหน้าไปในแบบที่มีปัญหา ก็จะกระทบภาพลักษณ์ของประเทศ

"เป้าหมายหลักที่เราผลักดันโครงการนี้ ก็เพื่อทำให้โอไอซีเห็นว่ารัฐดูแลคนสามจังหวัด ไปบูรณะมัสยิดให้ ทูตจากประเทศมุสลิมเคยไปเยี่ยมมัสยิดนี้ทั้งหมด ที่ผ่านมาเราได้อธิบายความคืบหน้าไปทางโอไอซี 2-3 ครั้ง แต่เมื่อเจอปัญหาแบบนี้ จึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรียุติโครงการไปก่อน" รองประธานชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ กล่าว

อีก 2 หน่วยงานที่รองประธานชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ ไปยื่นเรื่อง คือ คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะที่ผ่านมามีการยื่นเรื่องให้ 2 หน่วยงานนี้ตรวจสอบการดำเนินการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.เกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี กระทั่งทั้ง 2 หน่วยงานมีคำวินิจฉัยออกมาโดยฟังคำชี้แจงจากฝั่ง ศอ.บต.เพียงด้านเดียวว่า ชมรมอิหม่ามฯไม่ติดใจ และ ศอ.บต.สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอแล้ว ทั้งที่ไม่เป็นความจริง

"ฉะนั้นเรายืนยันขอให้รัฐบาลสั่งยุติโครงการเอาไว้ก่อน เพราะขณะนี้ผู้รับเหมาซึ่งมีปัญหาเรื่องถูกฟ้องล้มละลาย ก็ยังไม่สามารถเข้ามาทำงานในบริเวณมัสยิดได้ ทำได้เพียงแค่พื้้นที่รอบนอกเท่านั้น" นายมูฮำมัดซูลฮัน กล่าว