‘บุญ’ในท้องเต่าออมสิน

‘บุญ’ในท้องเต่าออมสิน

อย่าปล่อยให้เรื่องเต่าออมสินเป็นแค่กระแส มาดูสิว่า เราจะช่วยเต่าอย่างไรได้บ้าง

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้คนทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ต่างลุ้นว่า เต่าตนุเพศเมีย หรือที่หลายคนเรียกว่า เต่าออมสิน จะผ่านพ้นวิกฤตจากอาการโลหิตเป็นพิษ เนื่องจากกลืนเหรียญเข้าไป 915 เหรียญได้หรือไม่

แม้จะลุ้นเพียงใด แต่เต่าออมสินอาการหนักเกินจะเยียวยา

หลังจากทีมสัตวแพทย ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดูแลอย่างใกล้ชิดกว่าหนึ่งเดือน ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 เวลา 10.10 น. ออมสินก็จากไป

ที่ผ่านมา คนในสังคมได้เห็นความพยายามของทีมสัตวแพทย์ที่พยายามช่วยชีวิตเต่าออมสินอย่างเต็มที่ และเราก็ได้เห็น รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียน้ำตากับเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากทีมงานบางคน

      และนี่คือ 9 คำถามในการพูดคุยเรื่องสามัญสำนึกที่มนุษย์พึ่งมีต่อสัตว์โลก...

 

1. บทเรียนเรื่องใดที่ได้จากเต่าออมสิน

เรื่องนี้คนทำมีเจตนาเพื่อความสุข ผลสุดท้ายกลายเป็นความทุกข์ให้กับสัตว์ มีตำรวจคนหนึ่งบอกว่า เหมือนการยิ่งปืนขึ้นฟ้า ตอนที่ยิ่งก็เพื่อความเฮฮาเป็นมงคล แต่พอลูกปืนไปโดนคนอื่นตาย ก็กลายเป็นบาปกรรม แม้จะไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเรื่องแบบนี้ เหมือนสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องอะไรต้องมารับกรรม ทนทุกข์ทรมานเป็นปีๆ เพราะการกระทำของคน

 

2. -ทำไมผูกพันกับเจ้าเต่าตัวนี้มาก

 ไม่ใช่แค่เรื่องเต่า สัตว์ทุกชนิด เมื่อเราช่วยรักษา เราก็ผูกพัน อย่างเต่าออมสินดูแลทุกวัน เป็นเดือนๆ ดูแลกันตลอดเวลา เราทำงานเป็นทีม เมื่อมันจากไป ทุกคนก็เศร้าซึม หลายคนร้องไห้ จิตตก ที่สำคัญคือ เราคิดว่า มันหายแล้วรักษาได้แล้ว อยู่ๆ เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ก็ต้องเสียใจ

 

3. -พยายามรักษาเต็มที่ และไม่ได้คิดว่าเป็นการสิ้นเปลื้องค่าใช้จ่าย? 

ชีวิตนี่กำหนดยากว่า แค่ไหนถึงจะคุ้ม อยู่ที่การให้ค่า บางคนเอาปลาทองมาให้รักษา ค่ารักษาร้อยสองร้อยบาท ทั้งๆ ที่ซื้อมาแค่สามสิบบาท มันเป็นเรื่องค่าของชีวิต สำหรับพวกเราที่ช่วยกันรักษา ถ้ารักษาไม่ดี ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม

4.-ถ้าคิดค่ารักษาเต่าออมสิน ต้องเสียเงินเท่าไหร่

ประมาณ 4-5 หมื่นบาท

5.-ความเมตตาที่มีต่อสัตว์โลก เรื่องเหล่านี้ซึมซับมาจากใคร

    คุณพ่อเป็นสัตวแพทย์ ก็เลยผูกพันกับสัตว์มาตั้งแต่เด็ก และพ่อสอนเสมอว่า ชีวิตทุกชีวิต ไม่ว่าชีวิตใหญ่หรือเล็ก ก็หนึ่งชีวิตเท่ากัน ช้างหนึ่งตัว หรือหนูหนึ่งตัว ก็เป็นชีวิตเท่ากัน เหมือนคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็ก ก็หนึ่งชีวิต เราถูกปลูกฝังมาแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่า ชีวิตอันไหนไม่มีค่า

 

6.-ถ้าคนไทยอยากจะทำบุญช่วยเหลือสัตว์ มีคำแนะนำอย่างไร

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสามัญสำนึก ถ้าเราไม่เอาประโยชน์จากมัน มันก็ต้องการการดูแล เราควรปล่อยให้พวกมันอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ให้อาหารที่ถูกต้องตามธรรมชาติในแบบที่มันกิน สัตว์ที่ขี้อาย ก็ต้องมีที่ซ่อนตัว เต่าเป็นสัตว์ที่ขี้อาย ชอบซ่อนตัว เราต้องรู้ว่า ธรรมชาติของมันเป็นยังไง

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องความใส่ใจ คนส่วนใหญ่อยากทำบุญ เพราะนึกถึงตัวเอง ไม่ได้เจตนาร้าย เพียงแต่ไม่ได้คิด ไม่ได้สนใจ ดังนั้นทางวัดหรือสถานที่ที่คนไปทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์ ต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน แต่เรื่องนี้ทำยาก เพราะส่วนใหญ่ทำเชิงพาณิชย์ อยากเอาใจคน จึงนำสัตว์มาปล่อยแออัดไว้ในบ่อ แทนที่จะอยู่ในธรรมชาติ

 

7.-การรณรงค์ให้มีการปล่อยเต่าถูกที่ถูกทาง ก็ทำมาหลายปี ที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

อย่างสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ขอร้องให้พวกเราไปช่วยสัตว์ในอารามหลวง เริ่มเห็นว่า คนเริ่มเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น สัตว์ไม่ควรอยู่ในสภาพแออัดในบ่อแบบนั้น อีกอย่างเราก็ไม่ความสามารถในเรื่องประชาสัมพันธ์ เราเป็นแค่สัตว์แพทย์ ช่วยรักษาสัตว์ก็อิ่มเอมใจแล้ว

8.-ถ้าไม่เจอเหรียญมากมายในท้องเต่าออมสิน คนก็คงไม่สนใจเรื่องการปล่อยสัตว์ไม่ถูกทีั่ถูกทาง ในฐานะสัตว์แพทย์ คิดเห็นอย่างไร?

ต้องขอบคุณเต่าออมสิน กระแสที่เกิดขึ้น สามารถที่จะเปลี่ยนทัศนคติของคน เราเรียกมันว่า เต่าเปลี่ยนโลก

9-งานอนุรักษ์สัตว์น้ำกลุ่มไหนที่กำลังจะทำต่อไป

อยากจะทำเรื่องพยูน คงจะทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง มีสองสามโครงการที่จะช่วยกัน เพื่อทำให้พยูนและปลากระเบนขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเพาะพันธุ์

.........................................

หมายเหตุ : ผู้อยากร่วมทำบุญ จัดซื้อกล้องเอนโดสโคป เพื่อช่วยชีวิตสัตว์อื่น ๆ ติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ