สรรพสามิตมั่นใจจัดเก็บรายได้ตามเป้าที่ 5.5 แสนลบ.

สรรพสามิตมั่นใจจัดเก็บรายได้ตามเป้าที่ 5.5 แสนลบ.

"อธิบดีสรรพสามิต" เผย 6 เดือนแรกปีงบ 60 จัดเก็บรายได้เกินเป้าแล้ว 1 พันลบ. มั่นใจทั้งปีจัดเก็บได้ตามเป้าที่ 550,000 ล้านบาท

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 คาดว่า กรมฯจะจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ 550,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 499,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีน้ำมัน ขณะเดียวกันในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม-มีนาคม) สามารถจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้แล้ว 1,000 ล้านบาท และเฉพาะในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียวสามารถจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมายแล้ว 4,000 ล้านบาท

"เฉพาะเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียวเราเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมายแล้ว 4,000 กว่าล้านบาท เพราะถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวมันเป็นช่วงซีซั่นของกรมสรรพสามิต ทั้งจากการบริโภคเบียร์ และเครื่องดื่มต่างๆ นอกจากนี้สถานการณ์รถยนต์ยอดขายก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น มีทั้งจากมอเตอร์โชว์ และในปีนี้คาดว่ายอดขายรถยนต์ก็ยังจะสูงขึ้นมาที่ 800,000 คัน จากปีที่ผ่านมา 790,000 คันด้วย เชื่อว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมฯคงไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน"นายสมชาย กล่าว

ทั้งนี้กรมสรรพสามิตได้ปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยมีการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน หรือประมาณวันที่ 16 กันยายน 2560 โดยยืนยันว่าการปฏิรูปภาษีใหม่นั้น จะมีการกำหนดอัตราภาษีจริงไว้ในกฎหมายลูกที่จะจัดทำขึ้น เนื่องจากเพดานที่กำหนดไว้มีอัตราสูง และการจัดเก็บภาษีนั้นจะไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคแน่นอน

สำหรับกฎหมายดังกล่าวนั้น เป็นการรวมกฎหมาย 7 ฉบับ ประกอบด้วย กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยสุรา กฎหมายว่าด้วยยาสูบ กฎหมายว่าด้วยไพ่ กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสุรา ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน และมองว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

"การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบกฎหมายภาษีสรรพสามิตและแนวทางการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสเป็นสากล และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้กฎหมายสรรพาสามิตสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารการจัดเก็บภาษีได้ทั้งระบบ และทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหลังจากนี้กรมฯจะต้องออกกฎหมายรองประมาณ 80 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่บท โดยเฉพาะอัตราการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการต่างๆ เนื่องจากกฎหมายที่ออกมานั้น เป็นการปรับขยายเพดานอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งเพดานใหม่จะใช้ถึงปี 2580" นายสมชาย กล่าว

ในส่วนของอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริงนั้น จะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรองอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริงนั้นจะลดลงจากเพดานลงมา เนื่องจากเพดานในกฎหมายนั้นกำหนดไว้สูง เพราะมองถึงอนาคตอีก 20 ปี สำหรับการกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีจริง ในหลักการจะอ้างอิงจากภาระภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ