ทบทวนทางคู่เพิ่ม 9 เส้นทาง

ทบทวนทางคู่เพิ่ม 9 เส้นทาง

ร.ฟ.ท.จ่อทบทวนโครงการรถไฟทางคู่ 9 โครงการ วงเงิน 3.9 แสนล้าน ตามนโยบายซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง ชี้ปรับทีโออาร์ 5 โครงการใหม่ ทำล่าช้ากว่าแผน 2 ปี

การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เตรียมทบทวนโครงการรถไฟทางคู่อีก 9 โครงการใหม่ เพื่อปรับเงื่อนไขการประมูลให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องการให้มีการแข่งขันมากขึ้นและให้ผู้รับเหมารายกลางสามารถแข่งขันได้

การทบทวนใหม่ 9 โครงการ เกิดขึ้นหลังจากซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง มีมติให้ปรับแก้เงื่อนไขการประมูล หรือทีโออาร์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางระยะทางรวม 668 กิโลเมตร มูลค่าโครงการรวม 9.58 หมื่นล้านบาท

นายอานนท์ เหลือบริบูรณ์ กรรมการและรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่าร.ฟ.ท. ต้องกลับมาทบทวนโครงการและพิจารณาแบ่งงานให้ตรงกับมติของซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างซึ่งมีแนวทางให้แบ่งโครงการรถไฟทางคู่จาก 5 สัญญาออกเป็น 13 สัญญา แต่ละสัญญามีมูลค่าระหว่าง 5,000-10,000 ล้านบาทเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น

เมื่อทบทวนรายละเอียดทั้งหมดเสร็จแล้วก็จะเสนอให้คณะกรรมการร.ฟ.ท. เห็นชอบ จากนั้นต้องเสนอให้กระทรวงคมนาคมและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ โดยจะเร่งเสนอให้ ครม. พิจารณาเร็วที่สุดไม่เกินเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้

หลังจากนั้น ร.ฟ.ท.จะร่างทีโออาร์ใหม่และขอให้ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อช่วยพิจารณา ก่อนประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมประมูลต่อไป

“ขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลา 7-8 เดือน แต่ ร.ฟ.ท. จะพยายามเร่งดำเนินการ เช่น ในช่วงที่มีการทบทวนและแบ่งสัญญาออกเป็น 13 ฉบับ ก็จะมีการร่างทีอาร์โอใหม่คู่ขนานกันเพื่อความรวดเร็ว”นายอานนท์ กล่าว

ทบทวนทางคู่ 9 เส้นทางใหม่

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่อีก 9 เส้นทางระยะทาง 2,217 กิโลเมตร มูลค่ารวม 3.9 แสนล้านบาทซึ่งเป็นโครงการลงทุนของ ร.ฟ.ท.และบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) ปี 2560 และอยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติโครงการ

บอร์ด ร.ฟ.ท. ได้เห็นชอบโครงการรถไฟทางคู่บางส่วนใน Action Plan ปี 2560 พร้อมเห็นชอบจำนวนสัญญาการประมูล และเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ดังนั้น ร.ฟ.ท. จึงต้องดึงโครงการทั้งหมดกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างด้วยเช่นกัน

“ต้องทบทวนรถไฟทางคู่ใน Action Plan 2560 ใหม่ทั้งหมด แนวทางคือต้องเสนอให้ ครม. อนุมัติโครงการอย่างเดียว แล้วบอร์ดรถไฟฯ ค่อยมาแบ่งสัญญาการประมูลภายหลังเหมือนโครงการการมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง” นายอานนท์กล่าว

เผยล่าช้า 2 ปีหลังปรับทีโออาร์ใหม่

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า การเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางใหม่ จะทำให้ระยะเวลาการดำเนินโครงการเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ปี เพราะขั้นตอนการเสนอขออนุมัติโครงการจนถึงได้ผู้รับเหมาต้องใช้เวลาราว 7-8 เดือน และการแยกระบบอาณัติสัญญาณออกมาติดตั้งภายหลัง จะใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 8-9 เดือน แต่ถ้ามีปัญหาการเข้าพื้นที่เหมือนในอดีตก็อาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการดำเนินการทั้งหมด

การดำเนินงานตามกรอบระยะเวลาเดิมการก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณถูกรวมเป็นสัญญาเดียวกัน ซึ่งโครงการที่มีการก่อสร้างและติดตั้งระบบน้อยที่สุดจะใช้เวลาราว 2 ปี 6 เดือน และมากที่สุด 4 ปี แต่เมื่อมีการแยกสัญญาระบบอาณัติสัญญาณออกไปก็จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 ปี ซึ่งซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างมองว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ ร.ฟ.ท. ที่จะบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ระบุลดคุณสมบัติเปิดทางรับเหมารายกลาง

สำหรับกรณีที่ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อเห็นชอบให้ลดมูลค่าสัญญาเหลือ 5,000-10,000 ล้านบาท และเห็นชอบให้ลดประสบการณ์ด้านระบบรางของผู้ร่วมประมูลลงจาก 15% ของมูลค่าสัญญาเหลือ 10% ก็จะทำให้ผู้รับเหมารายกลางสามารถเข้าประมูลแบบเดี่ยวได้มากขึ้น

ตัวอย่างการดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น เช่น การประมูลรถไฟทางคู่เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร วงเงิน 9.8 พันล้านบาทซึ่งมีมูลค่าน้อยที่สุดใน 5 เส้นทาง ถ้าเอกชนจะเข้าประมูลแบบเดี่ยวต้องใช้ประสบการณ์ระบบราง 15%ของมูลค่าโครงการหรืออยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท ส่งผลให้มีผู้รับเหมาไทยสามารถเข้าประมูลได้ประมาณ 6 ราย

แต่ถ้าลดมูลค่าสัญญาลงเหลือ 5,000 ล้านบาท พร้อมกำหนดให้ผู้เข้าประมูลมีประสบการณ์ 10% ก็เท่ากับว่าเอกชนที่มีผลงานระบบรางมูลค่า 500 ล้านบาท ก็สามารถเข้าร่วมประมูลได้แล้วและผู้รับเหมาไทยที่สามารถเข้าร่วมประมูลแบบเดี่ยวจะเพิ่มเป็น 10-15 ราย

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าทีโออาร์เดิมไม่ได้ขัดขวางผู้รับเหมารายกลางให้เข้าร่วมประมูล เพราะผู้รับเหมาสามารถจับมือกับต่างชาติที่มีประสบการณ์ได้ ซึ่งจะเห็นว่าผู้รับเหมาก่อสร้างถนนหลวงหลายรายก็ใช้วิธีนี้เข้าร่วมประมูล

ส่วนการแยกสัญญาระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา ก็จะทำให้เจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาประมูลงานระบบอาณัติสัญญาณด้วยตัวเอง จากเดิมที่ผู้รับเหมาต้องจับมือกับเจ้าของเทคโนโลยีแต่ละราย