โอนย้าย ‘กองทุนเลี้ยงชีพ’ คึก

โอนย้าย ‘กองทุนเลี้ยงชีพ’ คึก

โอนย้าย "กองทุนเลี้ยงชีพ" คึก ปี59เข้า "อาร์เอ็มเอฟ" 1.2 พันล้าน

เมื่อปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไปอยู่ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2558 ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปมาก โดยมียอดการโอนเงินจาก PVD มาอยู่ใน RMF สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้

แขขวัญ โรจน์วัฒนกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและทีมการตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ. ทิสโก้ หรือ TISCO-AM เปิดเผยว่า ปี 2559 ถือเป็นปีแรกที่ทางการเปิดให้โอนเงินจาก PVD ไปกองทุน RMF โดยมีสมาชิกที่ออกจากงานบางส่วนเลือกที่จะโอนเงินจากกองทุน PVD ไปยังกองทุน RMF ของทุกบลจ. รวมกันมีมูลค่าประมาณ 1,280 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน มีสมาชิกอีกจำนวนมาก เลือกที่ยังคงเงินไว้ในกองทุน PVD โดยยอดเงินของสมาชิกที่คงเงินไว้ในกองทุนในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 8,350 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีมองว่า แนวโน้มสมาชิกกองทุน PVD โอนเงินไปยังกองทุน RMF น่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เนื่องจากจากเงื่อนไขในการได้รับยกเว้นภาษีของ PVD เปลี่ยนไปจากอดีต ซึ่งปัจจุบันสรรพากรตัดเงื่อนไขเรื่องการเกษียณอายุออก เหลือเพียง 2 เงื่อนไข คือ 1. อายุตัวต้องไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และ 2. ต้องเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี

เงื่อนไขที่ว่านี้ สามารถตอบโจทย์สมาชิกกองทุน PVD ทุกกรณี ทั้งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ แล้วมีหลายบริษัทต้องการลดค่าใช้จ่าย ด้วยการเปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement)

สำหรับพนักงานบางส่วนที่อาสาสมัครขอลาออกก่อนกำหนดการเกษียณอายุ รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างสูงอายุที่ต้องการขอเกษียณอายุก่อนกำหนดเนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ ลูกจ้างต้องการจะพักหยุดการทำงาน

ขณะเดียวกันภาพรวมกองทุน PVD ทั้งระบบยังโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่มีแนวโน้มจัดทำ Employee's choice มากขึ้น คาดว่า ในปีนี้ทั้งระบบจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เติบโตประมาณ 9-10% จาก ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 973,273 ล้านบาท

ในส่วนกองทุน PVD ของบริษัท ณ 31 ม.ค.2560 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ 133,098 ล้านบาท จากจำนวนบริษัทนายจ้าง 4,200 บริษัท และจำนวนสมาชิก 628,754 ราย ส่วนปีนี้ยังคงเป้าการเติบโตประมาณ 10% โดยได้รับปัจจัยบวก จากการที่ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดให้สมาชิกกองทุนสามารถสะสมเงินได้มากกว่าที่นายจ้างสมทบ สูงสุดถึง 15% และกระแส Aging Society ทำให้คนมีแนวโน้มสนใจการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณมากขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่ต้องระวัง คือ สภาวะเศรษฐกิจที่อาจไม่เติบโตตามที่คาด อาจทำให้บริษัทตัดสินใจช้าในการจัดตั้งกองทุน

เกษตร ชัยวันเพ็ญ” รองกรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทย หรือK-Asset เปิดเผยว่า แนวโน้มเม็ดเงินของสมาชิกกองทุน PVD ที่จะไหลออกไปยังกองทุน RMF ในปีนี้น่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน

ในส่วนของบริษัท คาดว่าเม็ดเงินส่วนนี้เพิ่มเป็นหลักร้อยล้านบาทจากปีก่อนมีประมาณ 300 ล้านบาท และส่วนใหญ่จะโอนเงินเข้ามาในกองทุน RMF ความเสี่ยงระดับปานกลาง มีนโยบายลงทุนในหุ้น 40%

สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมของสมาชิกกองทุน PVD ที่เกษียณอายุตามปกติ และต้องออกจากงานก่อนอายุเกษียณ 55 ปีนั้น มีความเข้าใจ ว่าการโอนเงินดังกล่าวมาในกองทุน RMF มีความคล่องตัว และมีทางเลือกลงทุนมากกว่า

อีกทั้งบางรายอาจจะไม่ชอบนโยบายการลงทุนของนายจ้างเดิม เพราะไม่มี My choice ที่สมาชิกสามารถกำหนดการลงทุนได้เอง เป็นต้น จากเมื่อปี 2559 เป็นปีแรกที่มีการเปิดให้โอนเงินจากกองทุน PVD ไปกองทุน RMF ซึ่งตอนแรกบริษัทคิดว่าจะไม่มีสมาชิกเอาเงินโอนไปเลย

สำหรับในปีนี้บริษัทยังคงตั้งเป้าการเติบโตของกองทุน PVD ไม่น้อยกว่าภาพรวมตลาดกองทุน PVD ที่คาดว่าจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ในปีนี้ เติบโต 10% จากปีก่อนทั้งระบบกองทุน PVD อยู่ที่ 900,000 กว่าล้านบาท ขณะที่บริษัท มี AUM กองทุน PVD อยู่ที่ 159,000 ล้านบาท มีจำนวนนายจ้าง 3,400 ราย มีจำนวนสมาชิกกองทุน 650,000 ราย

บริษัทมุ่งรักษาความเป็นผู้นำตลาด ทั้งเพิ่มจำนวนนายจ้างใหม่ต้องการจัดตั้งกองทุน PVD และกองทุน PVD เดิมที่ต้องการหาผู้จัดการกองทุนใหม่ โดยปกติจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละมากกว่า 200 รายขึ้นไป

กรองจันทร์ สกุลยง” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ. ทหารไทย หรือTMBAM เปิดเผยว่า แนวโน้มเม็ดเงิน ของสมาชิกกองทุน PVD ที่จะไหลออกไปยังกองทุน RMF ในปีนี้คาดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากสิ้นปีก่อนมีประมาณ 300 กว่าล้านบาท เพราะคนเปลี่ยนอาชีพบริษัทปิดกิจการหรือลดต้นทุนพนักงานให้เกษียณอายุก่อนกำหนดทยอยมีมาเรื่อยๆ 

ขณะเดียวกันบริษัทได้ส่งจดหมายแจ้งสมาชิกที่ยังคงเงินไว้ในกองทุน PVD ให้ทราบถึงเงื่อนไขตรงนี้ และจัดโปรโมชั่นสำหรับสมาชิกกองทุนโอนเงินไป RMF ให้เงินคืนตามเงื่อนไขทุกปี พร้อมกับมีกองทุน RMFให้เลือกถึง 16 รูปแบบควบคู่กับการผสมผสานการจัดทัพการลงทุนยุคใหม่ รักษาวินัยทางการเงินเลือกแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลัก คือ มีเงินไว้ใช้เพียงพอหลังเกษียณอายุ

ดังนั้นในช่วง 3 ปีจากนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายผลักดันธุรกิจกองทุน PVD ให้มี AUM เติบโตที่ระดับ 30,000 ล้านบาท หรือมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี จาก ณ สิ้นปี 2559 มี AUM อยู่ที่ 18,835 ล้านบาทเติบโต 13.8% จากปีก่อนหน้า ยังมีแนวโน้มที่สดใส