ดีอี ผุด ‘แซนด์บ็อกซ์’ หนุนสตาร์ทอัพ

ดีอี ผุด ‘แซนด์บ็อกซ์’ หนุนสตาร์ทอัพ

หวังกำกับดูแลธุรกิจใหม่อยู่ได้โดยไม่ขัดกม. ดึง ‘อูเบอร์’ เคสนำร่อง เร่งเคลียร์ปัญหาร่วมคมนาคม

‘พิเชฐ’ ลุยตั้งคณะทำงานศึกษาหลักเกณฑ์กำกับดูแลผุดโมเดล “แซนด์บ็อกซ์ ” เพื่อกำกับ ส่งเสริม และดูแลสตาร์ทอัพกลุ่มต่างๆ ให้ทำธุรกิจอยู่ได้แบบไม่ขัดกฎหมาย คาด 3 เดือน เริ่มเห็นทิศทาง นำร่องหาทางออกระหว่าง อูเบอร์ และกระทรวงคมนาคม ย้ำต้องไม่ปิดกั้นนวัตกรรม แต่ต้องเข้าใจกฎหมายด้วย มั่นใจต้องมีทางออกให้ทุกฝ่ายดีขึ้น

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเรื่อง เรกูลาทอรี แซนด์บ็อกซ์ (Regulatory Sandbox ) เพื่อเป็นสนามให้ธุรกิจ สตาร์ทอัพ ที่มีไอเดียแปลกใหม่สามารถทดลองดำเนินธุรกิจได้แบบมีข้อจำกัดในด้านต่างๆ น้อยที่สุด โดยกระทรวงดีอี ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ พัฒนารูปแบบ แซนด์บ็อกซ์ ที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ สตาร์ทอัพ ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด คล้ายกับที่กระทรวงการคลังทำหลังจากที่สตาร์ทอัพด้านการเงิน หรือ ฟินเทค เกิดขึ้นมาจำนวนมาก หลายฝ่ายกังวลว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ แทนที่กระทรวงการคลังจะปิดกั้นและไล่จับกลับไม่ทำ เพราะเข้าใจว่านวัตกรรมเทคโนโลยีกำลังเข้ามา

ส่งผลให้กระทรวงการคลังสนับสนุนและดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยการตั้ง เรกูลาทอรี แซนด์บ็อกซ์ ขึ้นมา ออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการกำกับดูแลฟินเทคและมีการเปิดศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน ให้ฟินเทคเข้ามาทดลองให้บริการก่อนเปิดใช้งานจริงด้วย

"แนวคิดนี้กระทรวงดีอี กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาใช้กับสตาร์ทอัพทั้งไทย และเทศที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยด้วย โดยคาดว่าภายใน 3 เดือนน่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด"

ทั้งนี้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น ท่องเที่ยว อาหาร ขนส่ง ต่างต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จึงต้องแยกศึกษาแต่ละกลุ่มธุรกิจและเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเอกชนและภาครัฐมาหารือหาทางออกร่วมกัน ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันไม่สามารถปิดกั้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะเข้ามาได้ แต่ต้องเข้าใจกฎหมายของแต่ละธุรกิจด้วย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีคนธรรมดาเปิดธุรกิจให้เช่าห้องผ่านแอพพลิเคชั่น ถามว่าผิดหรือไม่ ตอบว่าผิด เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ประเทศญี่ปุ่นไม่เลือกห้ามหรือจับ แต่เขาออกหลักเกณฑ์ด้วยการกำหนดระยะเวลาในการให้บริการ เป็นต้น

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่กระทรวงดีอีต้องนำร่องก่อน คือ การหาทางออกร่วมกันระหว่าง อูเบอร์ และ กระทรวงคมนาคม ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อมีการเจรจากัน จะมีทางออกที่ดี ทั้งผู้ให้บริการรายใหม่ และรายเก่า เพราะปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ในไทย แต่ประเทศอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาจะมีการเจรจาร่วมกับอูเบอร์ด้วย ภาครัฐอย่างกระทรวงการคมนาคมด้วย เช่น เป็นไปได้ไหมที่อูเบอร์มี 5 บริการ แต่ขอให้เลือกเฉพาะบริการที่ถูกกฎหมายมาให้บริการในประเทศไทย หรือทำอย่างไรให้เข้าระบบอย่างถูกกฎหมาย เป็นต้น

“บางกลุ่มธุรกิจอาจมีทางออกที่ไม่ผิดกฎหมาย บางกลุ่มธุรกิจอาจมีทางออกเฉพาะ หรืออาจมีช่องให้ออกกฎหมายลูกก็เป็นไปได้ ตรงนี้เราต้องมาคุยกัน ซึ่งผมยังไม่รู้ว่าข้อสรุปที่ได้จะเป็นแบบไหน แต่เชื่อว่า เมื่อได้มีการศึกษาและได้เจรจากันมันจะมีทางออก กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาใหม่จะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และกลุ่มธุรกิจเดิมที่ได้รับผลกระทบก็ต้องปรับตัวให้มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ สุดท้ายคนที่ได้ก็คือประชาชน” นายพิเชฐ กล่าว