กสทช.ดึงสตง.ปลดล็อกเงินเยียวยามือถือ!

กสทช.ดึงสตง.ปลดล็อกเงินเยียวยามือถือ!

(รายงาน) กสทช.ดึงสตง.ปลดล็อกเงินเยียวยามือถือ!

แม้จะสร้างผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” จากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกกะเฮิร์ตซ์(MHz) ที่สามารถดึงเม็ดเงินจากการประมูลเข้าเป็นรายได้แผ่นดินสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 232,700 ล้านบาท เทียบเท่ากับผลจัดเก็บภาษีของกรมจัดเก็บในสังกัดกระทรวงการคลังบางกรมเลยทีเดียว ยังไม่รวมมูลค่าทางการตลาดอีกกว่า 6 แสนล้านที่ได้อานิสงส์จากการจัดสรรคลื่นและออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 4 จีของ กสทช.ที่ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจยามนี้

แต่ท่ามกลางความสำเร็จอันยิ่งยวดของกสทช.ข้างต้น ดูเหมือนกรณีของเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกกะเฮิร์ตซ์(MHz) ในช่วงมาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกลับเป็น “เผือกร้อน” ที่ทำให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กลืนไม่เข้า คายไม่ออก

ยิ่งในส่วนของรายได้จากการใช้งานคลื่น 1800 MHz ที่แม้จะล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว แต่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)ใน กสทช.ยังไม่สามารถปิดบัญชีลงได้ ขณะที่กรณีเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHz ที่กทค.มีคำสั่งให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอสต้องนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวน 7,221 ล้านบาทนั้นเกิดปัญหาขึ้นมาอีก หลังบริษัทเอกชนยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งกทค.ให้ทบทวนตัวเลขดังกล่าวใหม่ แต่กทค.ไม่ยอมรับอุทธรณ์ ท้ายที่สุดแล้วก็กลายเป็นข้อพิพาทที่ต้องว่ากันถึงชั้นศาลอีกคดี!

เหตุนี้ เลขาธิการ กสทช.จึงทำหนังสือขอความเห็นไปยังกระทรวงการคลังและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับคำตอบจากสตง.ให้ กทค.-กสทช.เร่งรัดปิดบัญชีเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ที่ว่านี้โดยเร็ว เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

อย่างไรก็ตามคำตอบที่ได้รับจากบอร์ดกทค.ที่ยืนยันกลับไปยัง สตง.โดยระบุว่า ไม่สามารถจะเร่งรัดพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ววันได้นั้น ทำให้ท้ายที่สุดสำนักงาน กสทช.จึงเสนอให้สตง. ตั้งคณะทำงานเข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าวให้เอง และได้รับการตอบจากหน่วยงานดังกล่าว การที่ สตง. เข้ามาตั้งทีมตรวจสอบในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานเพราะเป็นการแก้ตรงต้นตอปัญหา

บอร์ด กทค. ทุกคนก็ดีใจที่ สตง. เข้ามาช่วยตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาบอร์ดไม่กล้าลงมติรับรองตัวเลขให้ทางผู้ประกอบการจ่าย เนื่องจากกลัวว่าลงมติไปแล้วจะโดนฟ้องกลับมา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.แถลงถึงข้อยุติในการปลดล็อคปัญหาเงินเยียวยามือถือที่คาราคาซังมาร่วม 3 ปีที่ว่านี้

ต้องถือเป็นอีกผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” ของสำนักงานเลขาธิการ กสทช.เพราะคาดว่าความขัดแย้งระหว่างกสทช.กับเอกชนต้องไปจบตรงการฟ้องร้องที่ศาลอย่างแน่นอน

ในอดีตมีบทเรียนของหน่วยงานรัฐที่ต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือขึ้นศาลน ล้วนเป็น “ยาดำ” มีหลายกรณีฝ่ายรัฐเสียเปรียบเอกชน

อย่างเช่นกรณีข้อพิพาทรายได้จากโครงข่ายสื่อสัญญาณทางไกลบนเส้นทางรถไฟ ระหว่างบริษัททีโอที กับคอม-ลิงค์ ที่ท้ายที่สุดภาครัฐต้องจ่ายค่าโง่ไปกว่า 3,500 ล้านบาท

หรือกรณีคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ต้องให้บริษัทดีพีซีจ่ายค่าเสียหาย 3,400 ล้านให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท จากการหักภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมจากส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐในช่วงปี 2547-49

กรณีรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz ในช่วงมาตรการเยียวยาของกสทช.ก็เช่นกัน ไม่ว่ากทค.จะเคาะหนทางเลือกใดออกไปยากจะหาข้อยุติลงได้

หากมีการฟ้องร้องในชั้นศาล รัฐไม่เพียงสูญเสียโอกาสชวดเงินรายได้นับหมื่นล้านแล้ว ยังต้องลุ้นด้วยว่า ท้ายที่สุดแล้วจะชนะคดีความหรือไม่

หนทางออกที่สำนักงานเลขาธิการ กสทช.ไปดึงเอาหน่วยงานตรวจสอบอย่าง สตง.เข้ามาผ่าทางตันปัญหาถือเป็นการแก้ตรงต้นตอของปัญหาก่อนจะบานปลายท้ายสุดแล้วรัฐอาจสูญทั้งรายได้และโอกาส